ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดค่ายกิจกรรมนักศึกษา “สานสัมพันธ์พหุวัฒนธรรม” แกนนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวม 122 คน มีกิจกรรมสานสายใยพหุวัฒนธรรม และกิจกรรมการสัมมนาเพื่อสัมมนาเรียนรู้สานสัมพันธ์พหุวัฒนธรรม ให้นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้สร้างการเรียนรู้คุณค่าการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ใช้การศึกษาเป็นธงนำคนหนุ่มสาวสู่การสร้างสันติสุขสู่ชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้มีปฏิญญาความร่วมมือเรื่อง บทบาทมหาวิทยาลัยในการสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในชื่อ “ปฏิญญาหาดใหญ่” เพื่อระดมความร่วมมือและรวมพลังของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ประชุมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นศูนย์ประสานบทบาทมหาวิทยาลัยไทยกับการสร้างสันติสุขชายแดนใต้ เริ่มจากจัดอบรมหลักสูตรผู้นำนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ
จากนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นำแกนนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมสานสายใยพหุวัฒนธรรม และกิจกรรมการสัมมนาเพื่อสัมมนาเรียนรู้สานสัมพันธ์พหุวัฒนธรรม โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกัน โดยเอาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพสังคมวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาคมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน นำปัญหาของพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อไปสู่การแก้ไข และบ่มเพาะให้นักศึกษามหาวิทยาลัยพร้อมรับใช้สังคม
นอกจากนี้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยหนักที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 356 ราย และล่าสุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เครื่องมือผ่าตัดศัลยศาสตร์และการบำบัดวิกฤต 3 รายการ และศัลยศาสตร์ออโธปิดกส์ฯ (กระดูกและข้อ) 17 รายการ รวมมูลค่า 11,628,424 บาท แก่โรงเพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรม เปิดเผยว่า กิจกรรมสานสายใยพหุวัฒนธรรมได้นำนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยือนและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมที่บ้านทุ่งหวัง ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อศึกษาความเป็นมาของหมู่บ้าน อาชีพหลักของชาวบ้าน ประเพณีของแต่ละศาสนา การรวมกลุ่มออมทรัพย์ของชาวบ้านและปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยมีผู้นำชุมชน ได้แก่นายก อบต.ทุ่งหวัง โต๊ะอิหม่าม และผู้นำศาสนา ร่วมบรรยายถึงการอยู่ร่วมกันให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขไม่ผิดใจกัน มีการซักถามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนาด้วยความสนใจในบรรยากาศอบอุ่นดุจลูกหลาน
ผศ.ปิยะ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกิจกรรมการสัมมนาเพื่อสัมมนาเรียนรู้สานสัมพันธ์พหุวัฒนธรรมนำผู้นำนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และมหาวิทยาลัยทักษิณ ลงพื้นที่หมู่บ้านปาตาบูดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ล่องเรือในอ่าวปัตตานี เพื่อศึกษาสภาพภูมิประเทศและป่าชายเลนในพื้นที่รอบอ่าวชายฝั่งของสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ร่วมละหมาดวันศุกร์กับชาวบ้าน รวมทั้งเยี่ยมชุมชนเชื้อสายไทยในเมืองอะลอสตาร์ ประเทศมาเลเซีย และไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ที่มหาวิทยาลัยอุตตระ รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
นายสุไลมาน เจะบาเฮง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายทางวัฒนธรรม อยู่ด้วยความเข้าใจบนพื้นฐานความเคารพก็เพียงพอแล้วสำหรับสันติสุขของทุกคน ปัญหาของชุมชนที่ได้ไปสัมผัสก็มีปัญหาวัยรุ่น ที่สำคัญคือปัญหาการย้ายถิ่นของคนวัยหนุ่มสาวไปทำงานในเมือง ทิ้งให้คนเฒ่าคนแก่อยู่พื้นที่
นางสาวอารีด้า สาเมาะห์ ตัวแทนนักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ คุณไรตง สะมะแอ แกนนำกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คุณบุญสม ทองศรีพราย ประธานสหพันธุ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “หยาดน้ำตาของเหยื่อความรุนแรง” ได้กล่าวความรู้สึกเมื่อสูญเสียหัวหน้าครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน
นางสาวณัชฎา คงศรี นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการได้มาเรียนรู้ความเป็นจริงในพื้นที่ทำให้ได้เข้าใจ สังคมควรเรียนรู้ความเป็นจริงจากคนในพื้นที่มากกว่าจากรับทราบจากสื่อ เราเป็นคนไทย สามจังหวัดก็เป็นประเทศไทย เราก็ควรจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับพี่น้องที่ประสบกับเหตุการณ์เหล่านั้น ในฐานะคนเชื้อชาติเดียวกัน
เพื่อนๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้บรรยายถึงความรู้สึกครั้งแรกที่มาปัตตานีและขอให้กำลังใจเพื่อนักศึกษาในพื้นที่ตลอดจนให้กำลังใจคนที่ประสบเหตุการณ์ให้อยู่ในพื้นที่ให้ต่อสู้ต่อไป และมีกำลังใจเข้มแข็ง ความรู้สึกก่อนมา และหลังจากโครงการสิ้นสุด ก่อนมาจะนั่งกับเพื่อนมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ก่อนกลับมีการแยกไปนั่งกับเพื่อนต่างสถาบันและวัฒนธรรม ด้วยสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
ความประทับใจประจักษ์อยู่ในห้วงสำนึกของแต่ละคนที่ได้เข้าร่วมโครงการ พร้อมที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกภาคส่วนของประเทศไทย เพื่อต่อยอดความคิดสู่การกำหนดแนวทางสังคมพหุวัฒนธรรม ในการร่วมสร้างสันติสุขบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม