ยะลา - นักธุรกิจในพื้นที่จังหวัดยะลาเห็นด้วยต่อการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีพัฒนาพิเศษเพื่อมาดูแล และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากที่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีพัฒนาพิเศษแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อเป็นกรรมการในการดูแลและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคล้ายกับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยมีการนำจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่องนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่มีอยู่แล้ว
โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีโครงสร้างองค์กรใหม่ที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นที่ยุติ คือ “สำนักงานบริหารกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ (สบ.ชต.) มีหน้าที่บูรณาการหน่วยปฏิบัติทุกหน่วยเพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน และมุ่งประสิทธิผลสูงสุดมาแทน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
นางสาวสมหญิง ชัยรัตนมโนกร เลขานุการหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากการที่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารว่า มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดพิเศษ เพื่อมาดูแลและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนเองมีความรู้สึกดีใจ และมั่นใจในการแก้ปัญหามากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นมีการแก้ไขปัญหาจากส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางไม่ค่อยที่จะรู้ถึงปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เท่าที่ควร เมื่อลงมาอยู่ตรงนี้แล้ว ลงมาทำงานเฉพาะ สามรถที่จะเจาะปัญหาได้ลึกกว่า
โดยปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสลับซับซ้อน และยังมีความละเอียดอ่อนมาก มีปัญหาเชื่อมโยงกันไปหลายจุด สำหรับผู้ที่จะลงมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ขอให้เป็นคนที่มีความจริงใจจริงจัง ในการทำงานในครั้งนี้ ส่วนเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะนี้ เสียหายอย่างมาก พ่อค้าที่อยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน คนที่อยู่ดั้งเดิมมาหลายสิบปี มีแนวโน้มจะย้ายออกนอกพื้นที่
นักธุรกิจรายใหม่ไม่มีแนวโน้มที่จะเข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ แรงงานในพื้นที่ก็ขาดแคลน ไม่มีแรงงานที่มาจากต่างพื้นที่ หรือจังหวัดใกล้เคียง เมื่อไม่มีแรงงงานแล้วก็จะเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจ เมื่อไม่มีแรงงานก็ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ ดังนั้นการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องแก้ปัญหาอย่างครบวงจร จะดีกว่า
เลขานุการหอการค้าจังหวัดยะลา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่ต้องการให้มาแก้ไขเป็นอับดับแรก คือ ปัญหาเศรษฐกิจ จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีรายได้กันทั่วถึง เมื่อคนในพื้นที่มีงานทำก็จะมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลงอันดับที่ 2 คือ การศึกษา ถ้าคนในพื้นที่มีการศึกษาที่ดีก็จะมีปัญญาที่ดี เพื่อมาแก้ปัญหาร่วมกัน อับดับที่ 3 ก็คือมีความจริงจังในการแก้ปัญหาความไม่สงบให้เกิดความสงบสุขโดยเร็ว