ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตภูเก็ต ขยาย 4 พันธุ์พืชหายากของจังหวัดภูเก็ต ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นางวันเพ็ญ พฤติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันทางศูนย์ฯ สามารถเพาะและขยายพันธุ์พืชอนุรักษ์ได้ทั้งหมด 387 ชนิด แบ่งเป็น 9 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มพรรณไม้หอม, พืชสมุนไพร, พืชอุตสาหกรรม, ไม้ป่ายืนต้น, กล้วยไม้ป่า, ไม้วงศ์ปาล์ม, ไม้ผลพื้นเมือง, ผักพื้นบ้าน และไม้ดอกไม้ประดับ
สำหรับในปี 2552 มีโครงการขยายพันธุ์พืชเด่น หรือพันธุ์พืชหายากของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มอีกจำนวน 4 ชนิด ประกอบด้วย หน้าวัวพันธุ์ภูเก็ต ปาล์มเจ้าเมืองถลาง หรือปาล์มหลังขาว หมากตอกถลาง และหมากเจลายภูเก็ต ซึ่งทั้งหมดจัดเป็นพันธุ์พืชหายากของจังหวัดภูเก็ต พืชเหล่านี้เริ่มพบในพื้นที่ธรรมชาติน้อยลงโดยเฉพาะในส่วนของหมากตอกถลาง และหมากลายเจ สำหรับต้นปาล์มหลังขาวนั้นยังพบอยู่บริเวณเขาพระแทว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
นางวันเพ็ญ กล่าวต่อว่า การเพาะขยายพันธ์และอนุรักษ์พันธ์ไม้ของศูนย์บริการวิชาการด่านพืชและปัจจัยการผลิตนั้น ทำขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้พื้นเมืองและพันธ์ไม้หายากของจังหวัดภูเก็ตที่มีแนวโน้มการสูญพันธ์สูงของจังหวัดภูเก็ต ให้กับนักเรียนนักศึกษา และประชาชนเข้าศึกษาพันธ์พืชชนิดต่างๆ โดยในแต่ละวันจะมีนักเรียนนักศึกษาเข้าชมจำนวนมาก ซึ่งทางศูนย์ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำตลอดเวลา ซึ่งปีที่ผ่านมาจากการจัดเก็บสถิติพบว่ามีผู้เข้าชมมากกว่า 4,000 คน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พันธุ์พืชหายากของจังหวัดภูเก็ตมีการขยายออไปสู่พื้นที่นอกศูนย์ฯ ทางศูนย์ได้ทำโครงการของบประมาณจากจังหวัดภูเก็ตเพื่อเคาะขยายพันธ์พืชหายากแจกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการและสถานศึกษาเพื่อนำไปปลูกซึ่งจะเป็นการช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากของจังหวัดภูเก็ตไว้ ให้คงอยู่ต่อไป