xs
xsm
sm
md
lg

“ซิคุนกุนยา” ยังระบาดหนัก ชาวบ้านหนักใจไม่มียารักษาเฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นราธิวาส - โรคปวดข้อซิคุนกุนยายังระบาดหนักในบ้านทุ่งคา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ชาวบ้านบอกป่วยมา 3 เดือนไม่มียารักษาเฉพาะโรค

วันนี้ (12 ธ.ค) สถานการณ์โรคปวดข้อชิคุนกุนยายังคงระบาดต่อเนื่องในพื้นที่ของ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งด้านนางละออ น้อยเอียด อายุ 73 ปี บ้านเลขที่ 27 บ้านทุ่งคา หมู่ 8 ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ผู้ป่วยโรคปวดข้อซิคุนกุนยาที่เกิดระบาดในหมู่บ้านทุ่งคา กล่าวถึงการระบาดของโรคนี้ว่า เมื่อ 3 เดือนก่อนชาวบ้านในหมู่บ้านทุ่งคามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้กันเพียงกว่า 100 คนเท่านั้น แต่เพราะไม่มียารักษาเฉพาะโรคจึงส่งผลให้โรคนี้เกิดระบาดลุกลามไปทั่วทั้งหมู่บ้านทุ่งคา ซึ่งมีประมาณ 300 ครัวเรือน ประมาณ 1,000 คน ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นโรคปวดข้อถึง300-400 คนแล้ว ยกเว้นเด็กเท่านั้นที่ไม่เป็นโรคนี้

“ป้าเป็นโรคนี้มา 3 เดือนแล้ว เป็นผู้ป่วยคนแรกของหมู่บ้านด้วยช่วงแรกที่เป็นโรคนี้ มีอาการปวดตามข้อเอามากๆเวลาขยับตัวทีไรก็ปวดทุกทีโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปพบแพทย์จึงรู้ว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา แพทย์ให้ยามากิน 3 เดือนแล้วอาการของโรคยังไม่หายขาด” นางละออ กล่าว

ด้าน นางเงิน ภัทรากุล อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 108 บ้านทุ่งคา กล่าวว่า ในบ้านของตนอยู่อาศัยกัน 4 คน เป็นโรคนี้แล้ว 2 คน รักษาไม่หายปวดเมื่อยตามข้อไปทั้งตัวมาก เช่น เวลาทำงานทุกอย่างไม่ว่าจะใช้มือตากผ้า หรือใช้มือตำน้ำพริก มีอาการปวดตามข้อจนทนไม่ไหวไปพบแพทย์แล้ว แพทย์ให้ยามา 3 ชนิด คือยาพาราเซตามอล, ยาคลายเส้นและยาแก้อักเสบ ทานแล้วอาการปวดตามข้อก็ไม่หายขาด เพียงแค่บรรเทาอาการเท่านั้น ทุกวันนี้รู้สึกหนักใจมากเพราะไม่มียารักษาโรคให้หายขาดได้

ส่วนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยี่งอรายหนึ่ง กล่าวว่า นายแพทย์อดุลย์ เร็งมา ผอ.โรงพยาบาลยี่งอ ติดราชการประชุมที่ จ.เชียงราย จึงไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาได้ และยอมรับว่า ในแต่ละวันมีผู้ป่วยจากหมู่บ้านทุ่งคา มาพบแพทย์เพื่อรักษาอาการปวดข้อกันทุกวัน และวันละหลายๆคนด้วยส่วนรายละเอียดมากกว่านี้ไม่สามารถพูดได้

นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการระบาดของโรคชิคุนกุนยาที่พบในพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.นราธิวาสยังคงพบการระบาดอย่างต่อเนื่องโดยมียอดรวมผู้ป่วยกว่า 600-700 ราย ซึ่งพื้นที่ที่พบมากที่สุดคือ อ.ยี่งอ อ.แว้ง และ อ.สุไหงปาดี ส่วนพื้นที่อำเภออื่นๆ พบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยการระบาดของโรคนั้นเกิดจากยุงทำให้การป้องกันทำได้ยากขึ้น อีกทั้งในระยะนี้ในบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังจึงทำให้มีการระบาดได้ง่ายกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสได้เร่งเข้าช่วยเหลือโดยการออกแจกจ่ายยา และพ้นยาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยุง

นอกจากนี้ นายแพทย์ศิริชัย กล่าวถึงผู้ป่วยในโรคดังกล่าวด้วยว่า อย่าตกตระหนกกับโรคดังกล่าวเพราะอาการสูงสุดคือการเจ็บข้อเท่านั้น หากสงสัยว่าเป็นโรคชิคุนกุนยาให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าซื้อยารับประทานเองเพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น