xs
xsm
sm
md
lg

นราฯ คาดเสียหายจากเหตุอุทกภัยกว่า 150 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นราธิวาส - คาดความเสียหายจากเหตุอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.ถึงวันที่ 12 ธ.ค. มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 128,088 คน 33,937 ครัวเรือน เสียชีวิต 1 คน เป็นเงินกว่า 150 ล้าน จ.นราฯ เร่งช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น พร้อมป้องกันเหตุระยะยาว

วันนี้ (12 ธ.ค.) ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จ.นราธิวาส ประจำปี 2551 สรุปความเสียหายจากเหตุอุทกภัยและดินโคลนถล่มที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.ถึงวันที่ 12 ธ.ค.2551 ว่ามีพื้นที่ 13 อำเภอ 77 ตำบล 593 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบโดยมีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 128,088 คน 33,937 ครัวเรือน ทำการอพยพราษฎร 2,270 คน เสียชีวิต 1 คน บ้านพักเสียหาย 1 หลัง บ้านพักเสียหายบางส่วน 16 หลัง บ้านพักอาศัยน้ำท่วมขัง 878 หลัง ปศุสัตว์ 3,319 ตัว สัตว์ปี 7,423 ตัว พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 58,295 ไร่ บ่อปลา 1,708 บ่อ ถนนเสียหาย 322 สาย สะพานและคอสะพาน 44 แห่ง ทำนบ 1 แห่ง วัดและมัสยิด 6 แห่ง สถานที่ราชการ 3 แห่ง โรงเรียน 13 แห่ง ท่อระบายน้ำ 18 แห่ง โดยรวมความเสียหายทั้งหมดประมาณ 153,417,235 บาท

สำหรับความช่วยเหลือในภาพรวมนั้นทางจังหวัดนราธิวาสได้ให้ความช่วยเหลือโดยทำการสนับสนุนเรือท้องแบน 14 ลำ เครื่องสูบน้ำ 32 เครื่อง ถุงยังชีพ (เครื่องอุปโภคบริโภค) 97,453 ชุด (มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมป์) 2,600 ชุด มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพายามยาก 1,450 ถุง โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว 1,000 ชุด สภากาชาดไทย 200 ชุด โครงการ “น้ำพระทัยทรงห่วงใยชาวนราฯ” 15,400 ชุด ข้าวกล่อง 3,990 กล่อง น้ำดื่ม 17,927 ขวด ยารักษาโรค 5,776 ชุด หญ้าแห้ง 22,260 กก.หญ้าสด 89,545 กก.ช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต 1 ราย เป็นเงิน 40,000 บาท

ด้าน นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยถึงสาเหตุที่เกิดอุทกภัยขึ้นในพื้นที่ครั้งนี้เกิดจาก 2 สาเหตุ ทั้งจากสภาพอากาศที่เกิดจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและหย่อมกดอากาศต่ำพัดผ่านทำให้ในพื้นที่เกิดฝนตกหนัก และสภาพทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอตั้งอยู่บนที่ราบติดชายฝั่งทะเล 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ อ.ตากใบ ตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขา 3 อำเภอ คือ อ.สุคีริน จะแนะ และศรีสาคร ที่เหลืออีก 8 อำเภอ อยู่บนที่ราบลุ่มลักษณะพื้นที่ลาดเอียงทางตะวันตก มีลุ่มน้ำ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำสุไหงโก-ลก จากลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดอุทกภัยใน 3 ลักษณะ คือ สภาพน้ำท่วมล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน สภาน้ำท่วมระบายไม่ทันในพื้นที่ราบลุ่มและที่ราบชายฝั่ง น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มอำเภอที่อยู่ที่ราบเชิงเขา โดยเฉพาะอ.สุคีริน

ทางด้าน นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงความช่วยเหลือประชาชนว่า ทางจังหวัดนราธิวาสมีการแบ่งการช่วยเหลืออกเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนเกิดภัยได้มีการเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ ติดตามสภาวะน้ำล้นตลิ่ง มีการแจ้งเตือนและอพยพประชาชนย้ายข้างของไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ส่วนขณะเกิดภัยได้ป้องกันการเสียชีวิต และทำการอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย ดูแลประชาชนเกี่ยวกับน้ำ อาหาร ดูแลสุขภาพ สัตว์เลี้ยง ส่วนหลังเกิดภัย มีการเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย เบิกจ่ายเงินตามระเบียบราชการ เน้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางการเกษตร คือ ประมง ปศุสัตว์ นาข้าว รวมถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็น เช่น คอสะพาน มีการซ่อมแซมทันที

สำหรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวนั้นทาง จ.นราธิวาส ได้เสนอในกรมการขนส่งทางน้ำเข้ามาดูแลศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดในการขุดลองคลองธรรมชาติทีเชื่อมกับทะเลเปิดเป็นปากร่องน้ำใหม่ ซึ่งอาจมีการก่อสร้างเขื่อนเรียงหิน เพื่อเปิดเป็นร่องน้ำถาวร ส่วนในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสทางเทศบาลจะทำการขุดคลองระบายน้ำทุ่งกง ขุดคลองระบายน้ำศูนย์ราชการ ขยายท่อระบายน้ำโคกเขือ ปรับปรุงท่อระบายน้ำยะกัง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น