xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจสอบดินโคลนถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ออกตรวจบริเวณจุดชมวิวริมถนนสายตรัง-พัทลุง ที่มักเกิดเหตุดินโคลนถล่มบ่อยครั้ง หากมีฝนตกหนักบนเทือกเขาบรรทัด เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ภูเขา ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (24 พ.ย.) เวลา 10.30 น. ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง นำเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบบริเวณจุดชมวิว ริมถนนสายตรัง-พัทลุง ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนเรื่องหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทย กำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดตรัง มีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ไปจนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ จนอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะตามแนวเทือกเขาบรรทัด เขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง

ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง กล่าวว่า สำหรับบริเวณริมถนนสายตรัง-พัทลุง โดยเฉพาะบริเวณจุดชมวิว มักเกิดเหตุดินโคลนถล่มบ่อยครั้ง หากมีฝนตกหนักบนเทือกเขา จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ พร้อมเตือนประชาชนที่ใช้เส้นทางสายดังกล่าวสัญจรไปมาในขณะนี้ ควรเพิ่มความระมัดระวังขับขี่รถทุกชนิดด้วยความไม่ประมาท เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

จากนั้นได้นำคณะเดินทางไปตรวจสอบสถานการณ์น้ำที่น้ำตกกะช่องในอำเภอนาโยง ซึ่งเคยเกิดเหตุดินภูเขาถล่ม และน้ำป่าไหลหลากมาแล้ว

จากการตรวจสอบพบว่า สถานการณ์น้ำยังคงปกติ โดยสีของน้ำถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงเท่าที่ควร แต่หากสีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีขุ่นแดง ควรรีบเตรียมอพยพออกจากพื้นที่ทันที ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา และใกล้แหล่งน้ำตกในทุกพื้นที่ ควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ภูเขา ควรสังเกตและฟังเสียงดังจากภูเขาในระยะนี้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับปริมาณน้ำที่สถานีตรวจวัดน้ำ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังคงอยู่ในภาวะปกติ โดยมีปริมาณน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร แต่ประชาชนทุกพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย ควรเฝ้าระวังและเฝ้าติดตามการรายงานพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด



กำลังโหลดความคิดเห็น