xs
xsm
sm
md
lg

สกย.เตือนชาวสวนยางงดกรีดหน้าฝน ชี้เกิดโรคระบาดทำลายหน้ากรีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง – สกย.เตือนชาวสวนหยุดกรีดยางหน้าฝน ชี้ได้ไม่คุ้มเสียเนื่องจากความเสียหายที่เกิดกับต้นยางพารามีโรคที่สำคัญ ซึ่งมาพร้อมกับฝนคือโรคเส้นดำ (Black stripe) และโรคเปลือกเน่า (Mouldy rot) ทำลายหน้ากรีดจนต้องใช้สารเคมี “เอพรอน” หรือ “อาลีเอท” ทาป้องกันโรค หรือร้ายแรงสุดจนไม่สามารถกรีดต่อได้

นายไวกูณฐ์ พรหมอ่อน หัวหน้าส่วนวิชาการและปฏิบัติการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.พัทลุง (สกย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ จ.พัทลุง ฝนเริ่มตกหนักและติดต่อกันเป็นช่วงนาน 2-3 วัน แต่ชาวสวนยางไม่สามารถหยุดกรีดได้ด้วยจำเป็นต้องใช้เงิน จึงฝากเตือนมาเนื่องจากความเสียหายที่เกิดกับต้นยางพาราไม่คุ้มกับความเสียหาย

ทั้งนี้ การกรีดยางในช่วงหน้าฝนเสี่ยงต่อโรคของต้นยางพารา ได้แก่ โรคเส้นดำ (Black stripe) และโรคเปลือกเน่า (Mouldy rot) โรคเส้นดำ (Black stripe) ซึ่งทำลายหน้ากรีด จนไม่สามารถกรีดต่อได้ ลักษณะอาการคือเหนือรอยกรีดจะช้ำ บุ๋มสีดำ ขยายตัวตามยาวตามแนวยืนของลำต้นและมีเปลือกงอกใหม่หนาเพิ่มขึ้น จึงมองเห็นรอยบุ๋มของส่วนที่เป็นโรคชัดเจน เมื่อเฉือนเปลือกออกดูจะพบรอยบุ๋มนั้นมีลายเส้นสีดำบนเนื้อไม้เป็นรอยยาวตามแนวยืนของลำต้น หากเป็นรุนแรงเปลือกที่เป็นโรคจะปริมีน้ำยางไหลตลอดเวลา เน่าและหลุดออก

นายไวกูณฐ์ ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุของโรคคือเชื้อราไฟทอปโธรา (Phytopthora botryosa และ P. palmivora) เป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดใบเขียวสดร่วงในหน้าฝน ตรงก้านใบมีจุดแผลและมีน้ำยางเป็นหยดจับอยู่ และโรคฝักเน่า ใบและฝักยางที่เป็นโรคกลายเป็นตัวนำโรคเข้าสู่หน้ากรีด ระบาดรุนแรงเมื่อกรีดยางติดต่อกันในช่วงเวลาที่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน เพราะหน้ากรีดจะเปียกอยู่ตลอดเวลาเหมาะต่อการขยายพันธุ์ของเชื้อรา

ทั้งนี้ การป้องกันควรหลีกเลี่ยงการกรีดยางในช่วงที่ฝนตก ถ้าหากต้นยางมีใบร่วงทั้งที่ใบยังเขียวสดอยู่ควรหยุดกรีดยางทันที แต่ถ้ายังต้องกรีดอยู่ต้องใช้สารเคมีทาป้องกันโรคที่หน้ากรีด สารเคมีที่ใช้คือเอพรอนหรือสารเคมีอาลีเอท วิธีการใช้ทาที่หน้ากรีดหรือทาเหนือรอยกรีดภายใน 12 ชม.หลังการกรีดยางทุกสัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น