xs
xsm
sm
md
lg

เรือไทยกว่า 200 ลำถอยจากน่านน้ำอินโดฯ หลังอินโดฯ ให้เรือไทยร่วมลงทุนเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เรือประมงไทยถอยจากน่านน้ำอินโดฯเหลือแค่ 100 กว่าลำจากเดิมที่มีกว่า 300 ลำ หลังอินโดฯเปลี่ยนเงื่อนไขจากให้ใบอนุญาตเข้าไปทำประมงเป็นร่วมลงทุน เตรียมเจรจาปัญหาและอุปสรรคร่วมกันต้นธันวาฯนี้ ขณะนี้ความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ด้านประมงเปิดโอกาสให้นักธุรกิจได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปสู่การลงทุนร่วมกันต่อไป

วันนี้ (20 พ.ย.) ที่โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธาน เปิดงานสัมมนาและแสดงนิทรรศการสินค้า ภายใต้กรอบความร่วมมือ IMT-GT ซึ่งประเทศไทย โดยกรมประมงเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย.นี้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ความร่วมมือ IMT-GT เข้าร่วม

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจสาขาประมงและผู้สนใจ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้ง 3 ประเทศในกรอบความร่วมมือ IMT-GT ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลในการประมง รวมถึงรับทราบนโยบายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของภาครัฐ อันจะนำไปสู่การจับคู่ทางเศรษฐกิจ (Business Matching) หรือเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของภาครัฐเสริมสร้างให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนร่วมกันในอนาคต เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพสูงที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศได้ ด้วยสภาพความคล้ายกันทางสังคม ภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้น

ตลอดจนมีแรงงานที่จะสนับสนุนการพัฒนาภาคธุรกิจที่เพียงพอ โดยใช้หลักการในการพัฒนาความร่วมมือ 3 ฝ่ายที่สำคัญ คือ การกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนของภาคเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ตามความเหมาะสม

นอกจากการจัดสัมมนาทางวิชาการแล้ว ยังมีการจัดงานนิทรรศการและแสดงสินค้า ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จ.ภูเก็ต ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวจะเป็นการแสดงเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแสดงปลาสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำหลากหลายชนิดที่นิยมเลี้ยงในตู้ปลา การแสดงเครื่องมือประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแสดงขั้นตอนและวิธีการพัฒนากลุ่มแม่บ้านจนมีความสามารถในการผลิตสินค้าโอทอปเกรดเอ การแสดงระบบที่ใช้ตรวจสอบอาหารทะเลเพื่อบริโภคในตลาดเพื่อการส่งออก และการออกร้านจำหน่ายสินค้าโอทอปเกรดเอจาก 14 จังหวัดภาคใต้ของไทยและสินค้าจากอินโดนีเซีย มาแลเซีย ในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT เป็นต้น

ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จัดงาน IMT-GT Fisheries Seminar and Expo 2008 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้พบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการประมงที่น่าสนใจรวมทั้งได้หารือถึงระเบียบข้อบังคับและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการที่จะเสนอให้ภาครัฐได้แก้ไขต่อไป ซึ่งการจัดงานดังกล่าวปีนี้เป็นปีที่ 2 ซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

การจัดงานดังกล่าวนั้นมีเป้าหมายต้องการให้ภาคเอกชนได้พบปะแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การลงทุนร่วมกันในพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT เพราะที่ผ่านมาการจับคู่ลงทุนด้านการประมงของผู้ประกอบการทั้ง 3 ประเทศยังมีน้อยมาก ซึ่งทั้งนี้เกิดจากนักลงทุนทั้ง 3 ประเทศได้มีโอกาสในการพบปะกันน้อย เมื่อปีที่แล้วที่จัดที่อินโดนีเซียมีนักธุรกิจเข้าร่วมน้อยและเป็นคนท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซียเสียส่วนใหญ่

ส่วนในปีนี้มีนักธุรกิจของทั้ง 3 ประเทศเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะนำไปสู่การลงทุนเพิ่มด้วย เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้ทั้งอินโดฯและมาเลเซียเปิดโอกาศให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปลงทุนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากขึ้น

สำหรับปัญหาความร่วมมือทางด้านการประมงนั้นฯ ดร.สมหญิง กล่าวว่า ปัญหาการทำประมงที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาการใช้ทรัพยากรทางด้านการประมงระหว่างไทยกับอินโดฯภายหลังจากที่ทางอินโดฯได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของอินโดฯ จากที่เคยให้ใบอนุญาติเรือไทยเข้าไปทำประมงและนำสัตว์น้ำที่จับได้กลับ เปลี่ยนเป็นการร่วมลงทุน และมีเงื่อนไขในการเข้าไปร่วมลงทุนมากมาย จนทำให้เรือประมงไทยไม่สามารถที่จะเข้าไปทำประมงในอินโดฯในลักษณะของการร่วมลงทุนได้ ได้ถอยออกจากน่านน้ำของอินโดฯเป็นจำนวนมากตั้งแต่ที่อินโดฯใช้เงื่อนไขร่วมลงทุนตั้งแต่มกราคม 2551 ที่ผ่านมา

“เรือไทยที่ทำประมงในอินโดฯ ภายใต้เงื่อนไขร่วมลงทุนนั้นมีอยู่ประมาณ 100 ลำ จากเดิมที่มีประมาณ 300-400 ลำ ทั้งนี้ เนื่องจากเรือไทยไม่สามารถปฎิบัติตามระเบียบที่ทางอินโดฯกำหนดได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการนำเรือไทยไปจดทะเบียนเป็นเรืออินโดฯ และไม่สามารถนำสัตว์น้ำที่จับกลับมายังประเทศไทยได้เหมือนตอนที่เข้าไปทำในลักษณะของการให้ใบอนุญาต” ดร.สมหญิง กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการเข้าไปทำประมงระหว่างไทยกับอินโดฯนั้น จะมีการหารือร่วมกันในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ในระดับเจ้าหน้าที่และหารือในระดับผู้บริหารในช่วงเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะปัญหาการทำผิดข้อบังคับต่างๆ ปัญหาเงื่อนไขการเข้าไปร่วมลงทุนทำประมง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น