ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผอ.บีโอไอใต้ยังมั่นใจแนวโน้มการลงทุนทั้งปี 51 ไม่ต่ำกว่า 71 โครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณ 20,937 ล้านบาทแม้ว่า 3 ไตรมาสแรกมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 45 โครงการ ลดลงร้อยละ 27.42 เงินลงทุน 14,986.90 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 60.44 โดยมีการจ้างแรงงานไทย 5,285 คน ลดลงร้อยละ 34.31 โดยนักลงทุนมั่นใจศักยภาพของภูเก็ต ทุ่มสร้าง ส่วนภาพรวมการลงทุนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ปีนี้มีแล้ว 13 โครงการ เงินลงทุน 1,778.90 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 1,489 คน โดยตั้งอยู่ที่สงขลา 10 โครงการ, ยะลา 2 โครงการ และปัตตานี 1 โครงการ
นายจำรัส ศรีประสม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 5 สำนักงานกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ทำให้มีการเติบโตแบบชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีตัวแปรสำคัญในด้านต่างๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจภายในประเทศ, ปัญหาทางด้านการเมือง, ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน, ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ, สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่คาดการณ์ว่าแนวโน้มการลงทุนในภาคใต้ปี 2551 จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 71 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 20,937 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา 26 โครงการ
โดย 3 ไตรมาสที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนใน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 45 โครงการ เงินลงทุน 14,986.90 ล้านบาท และการจ้างแรงงานไทย 5,285 คนเมื่อทำการเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 พบว่า มีลดลงร้อยละ 27.42, ร้อยละ 60.44, ร้อยละ 34.31 ตามลำดับ โดยเป็นโครงการที่มีคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 15 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 33.33 การร่วมทุนระหว่างคนไทยกับต่างชาติ ได้แก่ มาเลเซีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, สิงคโปร์, อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์ และศรีลังกา จำนวน 22 โครงการคิดเป็นร้อยละ 48.89 ต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น ได้แก่ อังกฤษ, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น และเยอรมนี จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 17.78
ซึ่งโครงการที่มีการลงทุนสูงสุดล้วนตั้งอยู่ใน จ.ภูเก็ตทั้งสิ้น ได้แก่ โครงการของบริษัทบ้านทวาราวดี จำกัด เป็นกิจการโรงแรมขนาด 176 ห้อง เงินลงทุน 2,640 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 410 คน ร่วมทุนระหว่างคนไทยกับฮ่องกง รองลงมา คือ โครงการของบริษัท สิริ ภูเก็ต จำกัด เงินลงทุน 2,584 ล้านบาท และอันดับ 3 คือโครงการของบริษัท เอ็มเมอรัลด์ เบย์ รีสอร์ท จำกัด เงินลงทุน 2,199.50 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแยกเป็นประเภทของโครงการที่ได้รับการอนุมัติพบว่า กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 17 โครงการ เงินลงทุน 6,015.90 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,384 คน ได้แก่ การผลิตน้ำยางข้น 3 โครงการ, ยางแท่ง 4 โครงการ, ยางแผ่นรมควันน้ำมันเมล็ดในปาล์ม 5 โครงการ, การผลิตเนยขาวและเนยเหลือง การผลิตไบโอดีเซล 2 โครงการ และการผลิตวัสดุปลูกพืชจากขุยมะพร้าว
กิจการบริการและสาธารณูปโภค มีโครงการได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 16 โครงการ เงินลงทุน 8,431.80 ล้านบาท การจ้างงานคนไทย 1,481 คน อุตสาหกรรมเบา มีโครงการได้รับอนุมัติ 5 โครงการ เงินลงทุน 444.60 ล้านบาท การจ้างงานคนไทย 2,232 คน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีโครงการได้รับอนุมัติ 2 โครงการ เงินลงทุน 16 ล้านบาท การจ้างงานคนไทย 18 คน อุตสาหกรรมเคมี กระดาษ และพลาสติก มีโครงการได้รับอนุมัติ 1โครงการ เงินลงทุน 31 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 43 คน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกและโลหะพื้นฐาน มีโครงการได้รับอนุมัติ 1 โครงการ เงินลงทุน 40 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 89 คน แบะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีโครงการได้รับอนุมัติ 3 โครงการ เงินลงทุน 7.60 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 38 คน
ในส่วนของสถานที่ตั้งโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน อันดับแรกคือ จ.สุราษฎร์ธานี มีโครงการได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 14 โครงการเงินลงทุน 4,556.60 ล้านบาท การจ้างแรงงานคนไทย 563 คน
ขณะที่ จ.สงขลา มีโครงการได้รับอนุมัติ 10 โครงการ เงินลงทุน 1,267.90 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 994 คน จ.ภูเก็ต มีโครงการได้รับอนุมัติ 9 โครงการ เงินลงทุน 7,738.80 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 1,341 คน จ.กระบี่ มีโครงการได้รับอนุมัติ 4 โครงการ เงินลงทุน 355 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 34 คน จ.ยะลา มีโครงการได้รับอนุมัติ 2 โครงการ เงินลงทุน 356 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 443 คน
จ.ตรัง มีโครงการได้รับอนุมัติ 3 โครงการ เงินลงทุน 426.60 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 1,767 คน จ.นครศรีธรรมราช มีโครงการได้รับอนุมัติ 1 โครงการ เงินลงทุน 31 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 43 คน จ.ปัตตานี มีโครงการได้รับอนุมัติ 1 โครงการ เงินลงทุน 155 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 52 คน จ.ระนอง มีโครงการได้รับอนุมัติ 1 โครงการ เงินลงทุน 100 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 48 คน ส่วน จ.พังงา, ชุมพร, นราธิวาส และสตูลยังไม่มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน
ด้านขนาดของการลงทุนโครงการที่ได้รับอนุมัติ 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่จะมีขนาดการลงทุนไม่เกิน 50 ล้านบาท มีโครงการได้รับอนุมัติการลงทุน 19 โครงการ, ขนาดการลงทุนมากกว่า 50 แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท มีจำนวน 11 โครงการ, ขนาดการลงทุนมากกว่า 100 แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท มีจำนวน 2 โครงการ, ขนาดการลงทุนมากกว่า 150 แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท มีจำนวน 3 โครงการ และขนาดการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท มีจำนวน 10 โครงการ
สำหรับในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สถิติโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ปี 2548-2551 (ม.ค.-ก.ย.) มีโครงการที่ได้รับอนุมัติ 63 โครงการ เงินลงทุน 22,758 ล้านบาทการจ้างแรงงานไทย 11,808 คน โดยโครงการส่วนใหญ่จะมีการลงทุนใน จ.สงขลาเป็นหลัก
ปี 2551 (ม.ค.-ก.ย.) มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 13 โครงการ เงินลงทุน 1,778.90 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 1,489 คน ได้แก่ โครงการในพื้นที่ จ.สงขลา 10 โครงการ คือ การผลิตน้ำยางข้น 2 โครงการ, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 3 โครงการ, โครงสร้างโลหะที่ใช้ในการก่อสร้าง, การผลิตเทียนไข, ซอฟต์แวร์และการผลิตยิปซัม โครงการที่ตั้งใน จ.ยะลา มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 2 โครงการ คือการผลิตยางแผ่นรมควันและโรงแรม และโครงการที่ตั้งใน จ.ปัตตานี มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติ 1 โครงการ คือการผลิตยางแท่ง