ผู้จัดการออนไลน์ - 5 สหกรณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บูรณาการบริหารจัดการโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนเต็มที่ ทุ่มงบประมาณเพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย เผยเน้นการเพิ่มมูลค่าให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพ ลดการสูญเสีย หรือทำให้สัดส่วนของ CPO และค่า yield อยู่ในระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมการสกัดน้ำมันปาล์ม
นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อรองรับผลผลิตปาล์มน้ำมันตามโครงการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 85,000 ไร่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ 35,000 ไร่ และกรมพัฒนาที่ดิน 50,000 ไร่ ที่เริ่มดำเนินการเพาะปลูกตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันปลูกปาล์มน้ำมันแล้วเสร็จ 50,000 ไร่เศษ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จำนวน 270 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลาย/ชั่วโมง ในพื้นที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ หมู่ที่ 4 บ้านบือราเป๊ะ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2548 ผลการดำเนินงานจะแล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน 2551
โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งนี้ แนวคิดที่จะช่วยเหลือเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีงาน อาชีพ และรายได้ที่มั่นคง ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบในพื้นที่ โดยสหกรณ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์นิคมบาเจาะ จำกัด สหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด สหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันนราธิวาส จำกัด สหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันปัตตานี จำกัด และสหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันยะลา จำกัด ร่วมกันดำเนินการแปรรูปปาล์มน้ำมัน โดยมีสหกรณ์นิคมบาเจาะ จำกัด เป็นสหกรณ์หลักในการดำเนินงาน
ทั้งนี้เ พื่อให้การดำเนินธุรกิจของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมการดำเนินธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ เพื่อติดตามแนะนำส่งเสริมให้โครงการบรรลุผลตามเป้าหมาย และในเบื้องต้นทั้ง 5 สหกรณ์ ยังได้มีแนวทางร่วมกันบริหารโรงงานในรูปคณะกรรมการบริหารโรงงาน โดยแต่ละสหกรณ์จะแต่งตั้งผู้แทนจำนวน 2 คน พร้อมเงินทุนหมุนเวียนสหกรณ์ละ 3 ล้านบาท
ผู้แทนสหกรณ์ทั้ง 5 แห่ง จะเป็นผู้บริหารโรงงานในนามคณะกรรมการบริหารโรงงาน ซึ่งคณะกรรมการบริหารฯนี้จะทำหน้าที่บริหารธุรกิจโรงงานภายใต้ธุรกิจแปรรูปน้ำมันปาล์มสหกรณ์นิคมบาเจาะ จำกัด ด้านการกำหนดนโยบายแต่ละสหกรณ์จะมอบให้คณะกรรมการบริหารโรงงานพิจารณาดำเนินการ โดยคณะกรรมการบริหารฯดังกล่าวจะเลือกประธานคณะกรรมการบริหารฯกันเอง ตามข้อตกลงที่จะมีขึ้นต่อไป
สำหรับโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันที่สร้างขึ้น จะสามารถรองรับผลผลิตได้อย่างเต็มที่ ประมาณ 200,000 ตัน ต่อปี และผลิตภัณฑ์หลักที่ได้จากปาล์มน้ำมันจะมี 5 ประเภท คือ น้ำมันปาล์มดิบประมาณ 17% ราคาขายประมาณ 31,000 บาทต่อตัน และผลพลอยได้ คือ เมล็ดในปาล์มประมาณ 15% ราคาประมาณ 10,250 บาทต่อตัน กะลาปาล์มประมาณ 5% ราคาประมาณ 500 บาทต่อตัน ทะลายเปล่าประมาณ 20 % ราคาประมาณ 70 บาทต่อตัน และเส้นใยประมาณ 3 % ราคาประมาณ 40 บาทต่อตัน โดยการขายผลิตภัณฑ์จะใช้ราคาตลาดปกติ โครงการฯเน้นการเพิ่มมูลค่าให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพและลดการสูญเสีย หรือทำให้สัดส่วนของ CPO และค่า yield อยู่ในระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมการสกัดน้ำมันปาล์ม
“ด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจรอบการจำหน่ายประมาณ 15 วัน ทำให้สภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียนในโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันอาจเกิดติดขัดได้ สหกรณ์ฯจึงต้องการแหล่งเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ในช่วงระยะเวลานี้ โดยจะขอกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประมาณ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3-6% ต่อปี มาเพื่อการนี้ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการบรรลุผลตามเป้าหมาย” นางสาวสุพัตรา กล่าว