ศูนย์ข่าวขอนแก่น-องค์กรภาคประชาชนห่วงยุทธศาสตร์พืชพลังงาน กระทบวิกฤตอาหารรุนแรง เหตุทั่วโลกพุ่งเป้าใช้พลังงานพืชทดแทนน้ำมันที่ใกล้หมด ยกกรณีประเทศไทยเดินเครื่องเต็มสูบทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล เฉพาะเอทานอลมุ่งใช้สูงถึง 4 ล้านลิตร/วัน ภายในปีนี้ ส่วนแผนใช้ไบโอดีเซลหวังทดแทนดีเซลให้ได้ร้อยละ 10 หรือ 8.5 ล้านลิตร/วันภายในปี 55 ชี้ต้องขยายพื้นที่ปลูก เพิ่มผลผลิตต่อไร่ หวั่นเกิดการแย่งชิงพื้นที่ปลูกรุนแรง ทั้งทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น แนะทางรอดยึดเกษตรผสมผสาน สร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ได้อย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน จัดเวทีเสวนา “เปิดทางสู่...ทางเลือกสุดท้าย ทางรอดของเกษตรกรภาคอีสาน” มีเครือข่ายองค์กรชุมชน 19 จังหวัดภาคอีสาน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน สมาคมป่าชุมชนภาคอีสาน มูลนิธิชีววิถี นักวิชาการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมสัมมนาครั้งนี้กว่า 500 คน ณ หอประชุมคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เวทีดังกล่าว ได้ยกกรณีวิกฤตพลังงานน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเร็วมากในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา จากเคยอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปัจจุบันอยู่ในระดับ 115 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 283% ขณะที่ปริมาณน้ำมันเริ่มหมดไปจากโลกในระยะไม่เกิน 50 ปีข้างหน้า ทั้งการใช้น้ำมันมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทั่วโลกจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากพืช หลายประเทศมีศักยภาพผลิตรองรับความต้องการใช้ในอนาคต
น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นักวิจัยมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเร็วมาก ทำให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่เกษตรเพื่อปลูกพืชพลังงาน เช่น พื้นที่ปลูกข้าวโพดสหรัฐอเมริกา 1 ใน 3 ไปใช้ผลิตเอทานอล แทบทุกประเทศมีนโยบายใช้พลังงานทดแทนจากพืชทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล ที่สกัดได้จากพืชพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มีผลกระทบจากภัยธรรมชาติ จนทำให้พืชผลเกษตรเสียหายทั่วโลก
กระทบต่อผลผลิตพืชที่ใช้เป็นอาหาร ไม่เพียงพอต่อความความต้องการทั้ง 2 ส่วนทำให้ราคาอาหารปรับขึ้นสูงมาก เกิดวิกฤตราคาอาหารในกลุ่มคนจน ราคาข้าวสารจากถังละ 280-300 บาทเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปรับขึ้นเป็น 500-600 บาท ขณะที่คนจนมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารถึง 50-60% ในจำนวนนี้กว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายซื้อข้าวสาร ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นกว่า 37 ประเทศทั่วโลก ก็เกิดการประท้วงเรื่องวิกฤตราคาอาหาร
ถือว่าสิ้นยุคทองการใช้พลังงานน้ำมันแล้ว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกมาก ทำให้พืชพลังงานได้รับความสนใจทันที ทั้งเอทานอลจาก มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ข้าวสาลี หญ้าหวาน และอโกรดีเซล จาก ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ ละหุ่ง น้ำมันถั่วเหลือง กว่า 90% นำน้ำมันจากพืชมาใช้เพื่อการขนส่ง
ที่น่าสนใจราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับขึ้นเร็วมาก เพียงแค่รอบระยะ 1 ปีน้ำมันแต่ละชนิดปรับราคาขึ้นเกือบเท่าตัว โดยเมื่อ 2 มิ.ย.50 ราคาดีเซลที่ 25.34 บาท/ลิตร , เบนซิน 95 ราคา 29.99 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 26.69 บาท/ลิตร แต่เมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาดีเซลปรับขึ้นไปถึง 40.54 บาท/ลิตร , เบนซิน 95 ราคา 41.59 บาท/ ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 (อี10) ราคา 36.89 บาท/ลิตร
ใช้พลังงานพืชต้องการผลผลิตมหาศาล
ตามยุทธศาสตร์การผลิตพืชพลังงานของประเทศไทย จะต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานแทบทุกชนิดให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการแปรรูปเป็นพลังงานทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล โดยยุทธศาสตร์การใช้เอทานอล มีแผนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อย่างชัดเจนทั้ง อี10 อี20 ซึ่งจะต้องใช้เอทานอลมาผสมสูงถึง 2.4 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2554 และล่าสุดรัฐปรับแผนการใช้แก๊สโซฮอล์อี85 เร็วขึ้นน่าจะทำให้การใช้เอทานอลสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก
ตามกรอบอนุมัติตั้งโรงงานเอทานอล มีโรงงานขออนุญาตไว้ทั้งสิ้น 45 โรงงาน กำลังผลิตรวม 12 ล้านลิตร/วันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอล ที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 11 แห่ง กำลังผลิตติดตั้ง 1.575 ล้านลิตร/วัน แต่ปัจจุบันน่าจะมีการขยายกำลังผลิตให้สูงขึ้น เพื่อรับกับความต้องการ และมีโรงงานเอทานอล อยู่ระหว่างก่อสร้าง 8 โรงงาน ที่กำลังทยอยเดินเครื่องผลิตภายในปี 2551
เบื้องต้นพบว่าความต้องการใช้มันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7.80 ล้านตันหัวมันสด ในปี 2550 เป็น 9.00 ล้านตันหัวมันสด ในปี 2551 เนื่องจากความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอลขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก
ขณะที่โรงงานเอทานอลที่กำลังก่อสร้างทั้ง 8 แห่งกำลังผลิต 1.95 ล้านลิตร/วัน จะต้องขยายพื้นที่ปลูกมันฯเพิ่ม 1.4 ล้านไร่ เพื่อให้ได้หัวมันสำปะหลังสดที่ 4.2 ล้านตัน/ปี โดยภาพรวมการผลิตมันสำปะหลังสดจะต้องได้ผลผลิต 35 ล้านตันภายในปี 2554 ขณะที่ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 7.2 ล้านไร่มีผลผลิตเฉลี่ย 3.6 ตัน/ไร่ จะต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ 4.5-5 ตัน/ไร่ จึงจะเพียงพอต่อความต้องการในทุกอุตสาหกรรม
ส่วนอ้อยจะต้องมีผลผลิตเข้าสู่ระบบสูงถึง 85 ล้านตันในปี 2554 ขณะที่ผลผลิตปี 2550 มีผลผลิตอ้อย 60-62 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูก 6.5 ล้านไร่ หรือมีผลผลิตเฉลี่ย 9.6 ตัน/ไร่ จำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตให้ได้ถึง 12-15 ตัน/ไร่ จึงจะได้ผลผลิตที่ 85 ล้านตันในปี 2554
ด้านการผลิตไบโอดีเซล รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซล 5% ภายในปี 2554 ปัจจุบันมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลทั้งสิ้น 9 โรงงาน กำลังผลิตติดตั้ง 2.185 ล้านลิตร/วัน ผลิตจริง 1.291 ล้านลิตร/วัน ทั้งจะมีการขยายสัดส่วนทดแทนดีเซลเป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2555 ซึ่งจะต้องใช้ไบโอดีเซลบี 100 สูงถึง 8 ล้านลิตร/วัน
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว 3.7 ล้านไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 3 ล้านไร่ จะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีก 2.5 ล้านไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้าหมายผสมดีเซล 5% ในปี 2554 โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถขยายการปลูกปาล์มน้ำมัน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้กว่า 1.89 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 5 แสนไร่ และภาคกลาง 1.5 แสนไร่
“ภาพรวมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน มีการเพาะปลูกพืชหลายชนิดเต็มพื้นที่ ทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ล่าสุดยางพารา สบู่ดำ และปาล์มน้ำมัน ปริมาณผลผลิต อยู่ในระดับตึงตัวพอดีกับความต้องการแปรรูปใช้ในประเทศและการส่งออก แต่ตามยุทธศาสตร์นี้จะต้องขยายพื้นที่ปลูกแทบทุกชนิด ให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อทุกอุตสาหกรรม จึงยากมากที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม”
สำหรับสภาพการเพาะปลูกในภาคอีสาน มีการบุกรุกพื้นที่หัวไร่ ปลายนา ไปใช้ปลูกยางพาราหมดแล้ว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนชนบท ผลกระทบที่ชัดเจน คือการจัดสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านอาหารกับความต้องการใช้พลังงาน ที่ได้ราคาสูงเป็นสิ่งล่อใจ จะเกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกอย่างรุนแรงขึ้น และท้ายที่สุดทำให้ราคาอาหารของคนจนสูงขึ้นเช่นกัน
ร้องรัฐสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรอีสาน
ด้านนายอุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายประชาชนอีสานเพื่ออธิปไตยอาหาร กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนอีสานเพื่ออธิปไตยอาหาร ขอเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาชุมชน เพื่อความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเองอย่างรอบด้าน รวมถึงมิติพลังงานต้องส่งเสริมการผลิต เพื่อการพึ่งตนเองอย่างหลากหลายตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่
ทั้งนี้เกษตรกรต้องรวมตัวติดตามความเคลื่อนไหวและมาตรการ จากนโยบายของรัฐ ตลอดจนการลงทุนของอุตสาหกรรมพลังงาน และระบบเกษตรแบบพันธสัญญา ผนึกพลังต่อรอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ของเกษตรรายย่อย โดยรัฐต้องสนับสุนกระบวนการอาหารท้องถิ่น สร้างกลุ่มผู้ผลิตเกษตรกรรมยั่งยืน เชื่อมโยงกับผู้บริโภคในท้องถิ่น ลดการขนส่งที่สิ้นเปลืองพลังงาน ยุติการเปิดป่าธรรมชาติเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ในส่วนของเครือข่ายประชาชนเพื่ออธิปไตยอาหาร จะติดตามตรวจสอบ ทิศทางนโยบายและการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อปกป้องความมั่นคงและรักษาอธิปไตยอาหาร ตลอดจนสิทธิประโยชน์ ศักดิ์ศรีประชาชนอีสานอย่างถึงที่สุด