นครศรีธรรมราช - นักวิชาการไล่ “เหลิม” ศึกษาอัตลักษณ์คนใต้ เตือนยิ่งซ่ายิ่งเจอหนัก ชี้ “ตู่-ณัฐวุฒิ” แค่พฤติกรรมแสวงหาเส้นทางหาอำนาจ-ผลประโยชน์การเมือง
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ดร.เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงปรากฏการณ์กลุ่มชาวบ้านขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะเดินทางไปยัง จ.กระบี่ และ จ.ภูเก็ต ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ควรย้อนกลับไปศึกษาพฤติกรรมในเชิงอัตลักษณ์ของคนใต้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความชัดเจนมาโดยตลอด ปรากฏประวัติศาสตร์มาต่อเนื่องยาวนาน หากอำนาจรัฐบาลกลางเข้ามาแสวงหาประโยชน์ เข้าแย่งชิงผลประโยชน์ ทรัพยากรดูดเอาสิ่งเหล่านี้อย่างไม่เป็นธรรมไปคนใต้จะไม่พอใจรัฐบาลกลางอย่างเห็นได้ชัดตลอดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ชัดในกรณีที่เรียกว่าชุมชนโจรในพัทลุง สุราษฎร์ธานี หรือกรณีของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เป็นต้น
ดร.เลิศชาย กล่าวต่อว่า หากลงลึกจะเห็นว่า ลักษณะการเข้าร่วมนั้นจะแตกต่างกับภาคอื่นๆเช่น อีสานเหนือ ที่เข้าไป เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ในขณะที่ภาคใต้ มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงสาเหตุที่เข้าป่านั้นเพราะมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้วหนีเข้าป่า จะเห็นได้ถึงการตอบโต้รัฐอย่างรุนแรง การยืมมือ ผกค.โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ
ตั้งแต่ก่อนเก่ามาแล้ว เมื่อผนวกกับพฤติกรรมทางการเมืองจะยิ่งชัดขึ้นว่าการเมืองไทยในเชิงรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม คนภาคใต้จะไม่อยู่ข้างรัฐบาลแม้แต่ประชาธิปัตย์เองจะเห็นว่ายุคหนึ่งสมัยหนึ่งแทบไม่ได้ที่นั่งในภาคใต้เลย คนภาคใต้ยังมีปฏิกิริยา และจะอยู่กับการเมืองที่แสดงตัวตนความเป็นคนใต้ที่ไม่ยอมสิโรราบกับอำนาจรัฐบาลกลาง สะท้อนให้เห็นผ่าน พ.ต.ท.ทักษิณ กับการกล่าวในทำนองจังหวัดไหนไม่เลือกไม่ต้องให้งบประมาณ
ยิ่ง นายสมัคร ร.ต.อ.เฉลิม จะยิ่งชัดเจนคนใต้จะปฏิเสธกับคำพูดที่ว่า ภาคใต้ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครในนามประชาธิปัตย์ก็ได้นั้นถือว่าไม่เข้าใจ ฐานความคิดทางการเมืองของคนใต้ที่โจมตีกันว่าไม่เคยโผล่หน้า ไม่มาหา ไม่ทำประโยชน์ให้ชาวบ้านก็ยังได้รับเลือกแต่แท้จริงนั้นคนใต้จะยึดเอาความตัวตนที่แสดงออกถึงศักดิ์ศรีคนใต้มากกว่า มีลักษณะการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ยอมจำนนเหล่านี้คือตัวชี้วัด
ดร.เลิศลาย ศิริชัย นักวิชาการสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังกล่าวต่อว่า ร.ต.อ.เฉลิม ต้องศึกษาประเด็นนี้ เวลานี้ ร.ต.อ.เฉลิม คือ สัญลักษณ์ของอำนาจรัฐ การใช้อำนาจรัฐที่ไม่มีเหตุผลยิ่งกล่าวร้ายต่อว่าคนที่ไปเคลื่อนไหวทำนองเมา ถูกเกณฑ์ ถูกซื้อ จะยิ่งได้รับการปฏิเสธที่หนักหน่วงขึ้นยิ่งท้าทายสัปดาห์หน้าจะมาอีกนั้นจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น จะยิงมีการต่อสู้มากขึ้นสัญลักษณ์รัฐบาลที่มีปัญหา เช่น นายสมัคร ร.ต.อ.เฉลิม นายนพดล เป็นต้น คนเหล่านี้จะปรากฏตัวยากในภาคใต้
“ผมได้ศึกษาผ่านกิจกรรมหลายกิจกรรมที่จัดขึ้น และวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมพบว่าพฤติกรรมทางการเมืองของคนใต้จะเรียนรู้ได้เร็วมาก และสิ่งที่สำคัญคือเรียนรู้แล้วเคลื่อนไหวพร้อมโต้ตอบอำนาจรัฐ ที่เขามองว่าไม่เป็นธรรมเมื่อมีคนเริ่มขึ้น จะมีคนช่วยอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ไม่จำเป็นต้องประชาธิปัตย์หรือใครมาอยู่เบื้องหลังเขาสามารถรวมกันได้เร็วมากในจุดหมายเดียวกัน”
ดร.เลิศชาย ศิริชัย ยังกล่าวถึง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ว่า ใน 2 คนนี้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล การเคลื่อนไหวทางการเมืองในชาวบ้านจะมีขอบเขต ไม่แสวงหาอำนาจ ไม่เข้าหาฐานผลประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าพื้นฐานทั้ง 2 คนนั้น มาจากอัตลักษณ์ของคนใต้ที่ศักยภาพของคนใต้นั้นมีเยอะมาก
โดยการเรียนรู้จะมีลักษณะที่ต่อรองหาผลประโยชน์ได้ ต่อรองเพื่ออำนาจส่วนตัวได้เกิดจากฐานเดิมของคนใต้ เพื่อเข้าสู่ความใกล้ชิดฐานประโยชน์จากอำนาจ และใช้ฐานนี้ในการมีโอกาสเข้ารับใช้ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งภาพนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ประเภทแรก คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วนอีกประเภท คือ การใช้ทักษะการเคลื่อนไหวที่ดีหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องก็ได้เช่นกัน