xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตชงปัญหาซ้ำซากให้ กมธ.ทท.ช่วยแก้ - พร้อมดันภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภาครัฐและเอกชนในภูเก็ตชงปัญหาซ้ำซากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ผลักดันให้รัฐบาลแก้ไข พร้อมเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางที่จะทำให้ภูเก็ตเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หวังสางปัญหาเรื้อรังให้หมดก่อนที่ภูเก็ตจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต

วานนี้ (18 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ซึ่งนำโดยนางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา สัญจรมาศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการท่องเที่ยวตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมนำเสนอข้อมูลปัญหาและอุปสรรคทางการท่องเที่ยวของภูเก็ต เช่น จังหวัดภูเก็ต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้าที่จะเดินทางมารับฟังปัญหาของภูเก็ตทางคณะกรรมาธิการฯได้เดินทางไปรับฟังปัญหาทางการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงาและกระบี่

โดยทางจังหวัดภูเก็ต และภาคเอกชน ได้นำเสนอปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการจราจร ปัญหาประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าว ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงปัญหาสนามบินภูเก็ตที่ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เป็นต้น

นางสุวลัย ปิ่นประดับ ผอ.ททท.สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า ในปี 2550 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่ภูเก็ต 5 ล้านกว่าคน สร้างรายได้ถึง 9.4 หมื่นล้านบาทและทั้ง 3 จังหวัดอันดามันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นถึง 1.2 แสนล้านบาทและในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าภูเก็ตจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6 ล้านคนอย่างแน่นอน จากที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ส่งเสริมการตลาดในตลาดเดิมที่มีอยู่คือตลาดยุโรป เอเชีย และตลาดใหม่ๆ ที่จะดึงเข้ามาเสริมในช่วงหน้าฝนทั้งยุโรปใต้ รัสเซีย รวมไปถึงการดึงกิจกรรมด้านการกีฬาเข้ามาเสริมตลาด

ด้านนายไมตรี นฤขัติพิชัย นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมีปัญหาทางการท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกหลายๆปัญหา ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้งๆที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภูเก็ตเพิ่มขึ้นทุกๆปี เช่น ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหางบประมาณที่ได้รับการจัดสรรน้อยไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา ปัญหาการจราจร และขนส่ง เป็นต้น ซึ่งปัญหาทั้งหมดทางผู้ประกอบการในภูเก็ตต้องการที่จะฝากทางคณะกรรมาธิการฯในการนำปัญหาดังกล่าวไปเสนอให้ทางรัฐบาลแก้ไข เพราะภูเก็ตถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมากในแต่ละปี อย่างปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 5 ล้านคน สร้างรายได้ถึงเกือบแสนล้านบาท แต่ปัญหากลับไม่ได้รับการแก้อย่างจริงจัง

ขณะที่ร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ปัญหาของภูเก็ตต้องได้รับการแก้ไขเพราะภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละจำนวนมากๆ แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมามีการพูดถึงการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อที่จะมีรายได้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ หากเป็นไปได้ทางคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวชุดนี้จะตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาศึกษาถึงแนวทางในการที่จะทำให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายภูริต มาศวงศา อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในภูเก็ตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ทุกวันนี้ เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลดูจากจำนวนประชาชนที่อยู่ในทะเบียนราษฎร แต่จริงๆ แล้วภูเก็ตมีประชากรแฝงเท่าๆ กับประชากรตามทะเบียนราษฎร ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอีกปีละ 5-6 ล้านคน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหามากมาย ซึ่งคิดว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ได้รับการแก้ไขหากรัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น คิดว่าทางออกของภูเก็ตจะต้องเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหมือนกับทางพัทยา และ กทม.ในการที่จะนำรายได้ที่เกิดขึ้นมาพัฒนาและแก้ปัญหาทั้งหมดที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการฯได้สอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นที่สนามบินภูเก็ต โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าของการให้บริการตรวจคนเข้าเมือง จนทำให้นักท่องเที่ยวร้องเรียน และความแออัดของสนามบินภูเก็ต

โดยทางผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต ชี้แจงว่า ปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นในฤดูกาลท่องเที่ยว ที่มีเที่ยวบินลงพร้อมกัน 6-7 ลำ แต่ละลำมีนักท่องเที่ยว 400-500 คน ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตม.ใดก็คงจะให้บริการไม่ทันแน่นอนในจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลงมาพร้อมกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำเสนอขอกำลังเพิ่มเติมแล้ว

ขณะที่นาวาอากาศโททวิชา เนินลพ ผอ.ท่าอากาศยานภูเก็ต ชี้แจงว่า ท่าอากาศยานภูเก็ตก่อสร้างมานานแล้วและขณะนี้ค่อนข้างที่จะคับแคบแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการขยายอาคารผู้โดยสารต่างประเทศไปแล้วก็ตาม และจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทางบอร์ด ทอท.ได้วางแผนที่จะขยายท่าฯภูเก็ตให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 15 ล้านคน โดยแบ่งการขยายออกเป็น 2 เฟส ใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เฟสแรกจะขยายให้สามารรองรับเพิ่มอีก 5 ล้านคนในอีก 2 ปีข้างหน้าและเฟสที่ 2 ก็จะขยายให้สามารถรองรับได้อีก 5 ล้านคน ส่วนปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นก็มีการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา กล่าวว่า จากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้สัญจรมารับฟังปัญหาและอุปสรรคทางการท่องเที่ยวในฝั่งทะเลอันดามันทั้งภูเก็ต พังงา และกระบี่นั้นปัญหาที่ภาครัฐและเอกชนได้สะท้อนนั้น ล้วนแต่เป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งทางวุฒิสภาจะนำปัญหาดังกล่าวไปเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและสอดคล้องกับการขยายตัวของการท่องเที่ยว

ส่วนการที่เสนอให้ผลักดันภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ นั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะหากสามารถผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะส่งผลดีต่อการพัฒนาภูเก็ตและการลงทุนในจังหวัดภูเก็ต

กำลังโหลดความคิดเห็น