ตรัง – กรมสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อรับแจ้งความจากชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากแชร์ยางพารา มีเจ้าทุกข์มาแจ้งความเพียง 8 ราย เจ้าหน้าที่จึงต้องออกหมายเรียก
นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 719 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อเปิดรับแจ้งความร้องทุกข์คดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือคดีแชร์ยางพารา ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ธานินทร์อนันต์ จำกัด ซึ่งกระทำผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
นายอมรเอก เพ็ชร์ลือชัย กับพวกรวมจำนวน 4 ราย ได้กระทำการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งต่อมามีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ จำนวนทั้งสิ้น 712 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 218 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้าย จำนวนทั้งสิ้น 151 ล้านบาท จากนั้น ในวันที่ 7 มีนาคม 2551 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน จนกระทั่งมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด
นอกจากนั้น จากการสืบสวนพบว่าขบวนการดังกล่าว มีการชักชวนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช และตรัง เข้าร่วมกู้ยืมเงินด้วย ทำให้มีผู้เสียหายมากกว่า 1,000 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 500 ล้านบาท
ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมีการเดินทางมาเปิดรับแจ้งความร้องทุกข์ ณ สภ.เมืองตรัง ในช่วงวันที่ 7 ถึง 19 มิถุนายน 2551 ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปเปิดรับแจ้งความร้องทุกข์ ที่จังหวัดกระบี่ และภูเก็ต มาแล้ว
นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ไปเปิดศูนย์รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์ที่จังหวัดกระบี่ มีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ จำนวน 954 ราย มูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุน จำนวน 167 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่ทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย จำนวน 94 ล้านบาท ส่วนจังหวัดภูเก็ต มีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ จำนวน 153 ราย มูลค่าทรัพย์ที่ลงทุน จำนวน 45 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย จำนวน 31 ล้านบาท และจังหวัดตรัง หลังจากเปิดศูนย์รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์มาแล้ว 1 สัปดาห์นั้น ปรากฏว่า มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ จำนวนกว่า 20 ราย
สำหรับข้อมูลที่รับทราบมาก่อนหน้านี้พบว่า จังหวัดตรังมีผู้เสียหายประมาณ 100-200 ราย แต่กลับผู้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์น้อย และเป็นคนตรังเพียงแค่ 8 ราย จึงได้มีการออกหมายเรียกไปถึงผู้เสียหาย ที่เคยส่งจดหมายร้องทุกข์ไปยัง กรมสอบสวนพิเศษ เพื่อให้รีบมาแจ้งความร้องทุกข์เพิ่มเติม เพราะผู้เสียหายจะเข้าใจผิดว่า การส่งจดหมายร้องทุกข์ก่อนหน้านั้น เป็นการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ซึ่งหากหมดระยะเวลาในการเปิดศูนย์ที่จังหวัดตรังแล้ว ต่อไปผู้เสียหายจะต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวเองทั้งหมด โดยเฉพาะการตั้งทนายความเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานส่งฟ้อง
นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังมีความกังวลในส่วนของเครือข่ายผู้กระทำผิด ที่อาจจะเข้าไปไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหายที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยอ้างว่าจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เหลือให้ เพียงแค่ให้ผู้เสียหายยกเลิกการแจ้งความร้องทุกข์ในครั้งนี้ จึงขอให้ผู้เสียหายทั้งหมดอย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างของผู้ร่วมขบวนการดังกล่าว เนื่องจากการที่จะไกล่เกลี่ยค่าเสียหายทั้งหมดได้นั้น จะต้องมีการชดใช้เงินเป็นจำนวนที่เยอะมาก ซึ่งทางผู้ร่วมขบวนการคงไม่สามารถที่จะหาเงินจำนวนดังกล่าวมาได้อย่างแน่นอน