ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมสอบสวนคดีพิเศษจัดชุดปฏิบัติการรับแจ้งความร้องทุกข์ “คดีแชร์ยางพารา” ที่ภูเก็ตคาดมีผู้เสียหายกว่า 300 ราย
นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษแต่งตั้งเป็นชุดปฏิบัติการที่ 718 รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหาย คดีแชร์ยางพารา กล่าวถึงการเดินทางมารับแจ้งความร้องทุกข์คดีแชร์ยางพาราว่า ระหว่างวันที่ 9-22 พ.ค.นี้ ทางชุดปฏิบัติการที่ 718 เดินทางมาตั้งศูนย์รับแจ้งความร้องทุกคดีแชร์ยางพารา ที่ชั้น 3 สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต
โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดภาคใต้ที่มีผู้เสียหายจากคดีแชร์พารา คาดว่ามีผู้เสียหายจากคดีดังกล่าวประมาณ 300 ราย ซึ่งนอกจากจังหวัดภูเก็ตแล้วยังมีจังหวัดกระบี่ ในส่วนของจังหวัดกระบี่ได้รับแจ้งความร้องทุกข์แล้วโดยมีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์แล้วประมาณ 900 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีผู้เสียในพื้นที่จังหวัดตรังอีกประมาณ 300 ราย ซึ่งในส่วนของจังหวัดตรังจะเดินทางไปรับแจ้งความร้องทุกข์ระหว่างวันที่ 7-20 มิ.ย.51 และจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีผู้เสียหายประมาณ 200-300 ราย โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชจะไปรับแจ้งความในระหว่างวันที่ 23-27 มิ.ย.51 รวมความเสียหายในพื้นที่ภาคใต้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
นายธานินทร์ กล่าวต่อว่า อยากให้ประชาชนผู้เสียหายมาแจ้งความดำเนินคดีให้ครบถ้วน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของการจับกุมผู้ต้องหานั้นทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว 4 ราย คือเจ้าของบริษัทธานินทร์อนันต์ จำกัดและพวก และในส่วนของเครือข่ายในภาพใต้นั้นมีผู้ที่เข้าข่ายจะต้องสั่งฟ้องประมาณ 10 ราย โดยในส่วนของภาคใต้จะเร่งรวบรวมหลักฐานให้เสร็จภายใน 2 เดือนเพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการจับแจ้งความวันแรกที่จังหวัดภูเก็ตปรากฏว่ามีประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายเดินทางมาแจ้งความจำนวนมาก ซึ่งจากการสอบถามส่วนใหญ่จะลงทุนเริ่มต้นตั้งแต่ 1 แสนบาท
“สำหรับการรับแจ้งความในครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือคดีแชร์ยางพารา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้แจ้งให้ สภ.เมืองขอนแก่นตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัท ธานินทร์อนันต์ จำกัด ว่าน่าจะเข้าข่ายกระทำผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527
โดยจากการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวได้ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ทาง สภ.เมืองขอนแก่นจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวน เนื่องจากมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 20 ล้านบาท หรือมีผู้เสียหายมากกว่า 50 คน ซึ่งเป็นอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลังฐานและมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว 4 ราย เมื่อวันที่ 7 มี.ค 51 ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ในส่วนของจังหวัดขอนแก่นนั้นมีผู้เสียหายจำนวน 712 ราย มูลค่าทรัพย์ที่ลงทุนทั้งสิ้น 217,540,500 บาท คิดเป็นมูลค่าทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายไปทั้งหมด 151,342,903 บาท”