ศูนย์ข่าวภูเก็ต -กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานกระทรวงมหาดไทยและดีเอสไอ ตั้งชุดเฉพาะกิจเอกซเรย์โครงการก่อสร้างบ้านหรูในภูเก็ต ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา หลังพบข้อมูลเบื้องต้นที่ก่อสร้างในที่ส.ป.ก. ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างและไม่ศึกษา EIA เป็น 20 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (18 พ.ค.) พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะกรรมการติดตามผลการปฏิบัติงาน และการบังคับใช้กฎหมาย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้างโครงการบ้านหรู โครงการหนึ่ง ที่บริเวณหมู่ที่ 6 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ที่เป็นการลงทุนโดยนักลงทุนจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ริมหน้าผาบนป่าเทือกเขากมลา สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงาม
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่ามีโครงการทั้งที่เป็นโรงแรม รีสอร์ตและบ้านหรู ที่กำลังก่อสร้างอยู่บนป่าเทือกเขากมลาเกิดขึ้นหลายโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการล้วนแต่เป็นการลงทุนโดยนักลงทุนชาวต่างชาติเกือบทั้งสิ้น และทุกโครงการจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงาม
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบโครงการดังกล่าว มีเพียงผู้รับเหมาก่อสร้างเท่านั้น ที่มาให้ข้อมูล ซึ่งทราบแต่เพียงว่าเป็นการลงทุนโดยชาวต่างขาติเป็นวิลลาหรูขายให้คนต่างชาติ หลังประมาณ 200 ล้านบาท
พลตรีอินทรัตน์ กล่าวภายหลังตรวจสอบโครงการว่า การเดินทางมาตรวจสอบโครงการก่อสร้างดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นไปตามที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ จึงได้เป็นเจ้าภาพในการเร่งดำเนินการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ ตนและคณะทำงานพร้อมด้วย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้ทำการสำรวจข้อมูลพบว่ามีโครงการก่อสร้างหลายโครงการ ที่เป็นบ้านหรูอยู่บนเนินเขาเกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
“เท่าที่มีข้อมูลในขณะนี้ มีโครงการหรูที่ก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาตก่อสร้าง ไม่ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่มีโฉนดที่ดิน เนื่องจากอยู่ในที่ ส.ป.ก.ไม่น้อยกว่า 20 โครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท” พลตรีอินทรัตน์ กล่าวและว่า
กระทรวงฯได้มีการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยและกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตั้งชุดเฉพาะกิจ ลงมาตรวจสอบโครงการก่อสร้างหรูที่เกิดขึ้นบนภูเขาทั้งหมดของภูเก็ตในลักษณะของการเอกซเรย์ทั่วทุกพื้นที่ เพราะเท่าที่ทราบข้อมูลในเบื้องต้น บางโครงการมีข้อมูลว่าก่อสร้างในที่ส.ป.ก. ที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ก่อสร้างบนเนินเขาและอยู่ใกล้ริมทะเลโดยไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งๆที่ภูเก็ตถูกประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างจะต้องเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด อย่างกรณีของโครงการนี้ ถือว่าเป็นโครงการที่สร้างอยู่ในพื้นที่โซน 1 จะต้องถอยร่นจากชายทะเล 20 เมตร และต้องสูงไม่เกิน 60 เมตร
พลตรีอินทรัตน์ กล่าวอีกว่า การประสานกับดีเอสไอลงมาตรวจสอบพื้นที่ในภูเก็ต จะดำเนินการในลักษณะของการตรวจสอบโครงการแต่ละโครงการว่ากระทำผิดกฎหมายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งแนวทางในการที่จะนำที่ดินดังกล่าวคืนเป็นสมบัติของชาติได้อย่างไร รวมทั้งไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามของเกาะภูเก็ตให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันต่อไปอีกยาวนาน
“ทั้งหมดที่ดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ” พลตรีอินทรัตน์ กล่าวในที่สุด