ชุมพร - เกิดเหตุช้างพังท้อง 14 เดือน ล้มป่วยอาการสาหัส หลังกินน้ำในลำห้วยผสมสารพิษที่อำเภอทุ่งตะโก เจ้าของสุดหดหู่ เบื้องต้นทีมสัตวแพทย์ให้น้ำเกลือ วิตามิน และยาปฏิชีวนะ แต่ยังไม่ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดชุมพรว่า เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 12 พ.ค.51 นายสัตวแพทย์นพพร แก้วกนิษฐารักษ์ ปศุสัตว์จังหวัดชุมพร ได้รับแจ้ง จากนายประสาร ขาวสุข กำนัน ต.ช่องไม้แก้ว อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ว่ามีช้างพังล้มป่วยอาการสาหัส ขอให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือด้วยที่บริเวณสวนผลไม้ หมู่ 2 ต.ช่องไม้แก้ว อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์รุดไปช่วยเหลือ
ที่เกิดเหตุภายในสวนมังคุดพบร่างของช้างพังนอนแน่นิ่งอยู่กับพื้นดิน มีชาวบ้านหลายสิบคนยืนมุงดูด้วยความสงสาร เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ พบว่าช้างเชือกดังกล่าวได้แต่กะพริบตา และมีน้ำตาไหลออกซึมออกมาแสดงอาการเจ็บปวด แต่ไม่มีเสียงร้อง ได้แต่ตวัดหางกวัดแกว่งแมลงวันที่เข้ามาไต่ตอม ส่วนขาขยับได้เล็กน้อย นายสัตวแพทย์พร้อมทีมงานได้สอบถาม และตรวจอาการเบื้องต้นพร้อมให้น้ำเกลือ วิตามิน และยาปฏิชีวนะผ่านสายน้ำเกลือ
จากการสอบถาม นายประสาร ขาวสุข กำนัน ต.ช่องไม้แก้ว ทราบว่า ช้างเชือกดังกล่าวเป็นช้างพัง ชื่อว่า “พังบุญยืน” ของนายฉวี ขาวสุข อายุ 57 ปี อาชีพทำสวน บ้านเลขที่ 124 หมู่ 4 ต.หาดยาย อ.หลังสวน จ.ชุมพร พังบุญยืน อายุ 50 ปี กำลังตั้งท้อง 14 เดือน สอบถามนายฉวี เล่าว่า เมื่อหลายวันก่อนเจ้าของได้ปล่อยให้พังบุญยืนไปดื่มน้ำในลำห้วยสาธารณะใกล้บ้าน หลังจากนั้นไม่นานก็กินหญ้าน้อยลง และถ่ายหยาบผิดปกติ กระทั่งวันที่ 9 พ.ค.51 จึงตัดสินใจนำพังบุญยืนไปรักษาตัวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำขึ้นรถสิบล้อ แต่เมื่อรถไปถึง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์
พังบุญยืนล้มลงทรุดลงกองกับพื้นกระบะรถสิบล้อ คิดว่าน่าจะไม่รอดจึงนำตัวกลับมายัง อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร และนายประสารกำนัน ต.ช่องไม้แก้ว จากนั้นประสานงานไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชุมพร เดินทางเข้ามาดูอาการ
ด้าน นายสัตวแพทย์นพพร กล่าวว่า อาการเบื้องต้นคาดว่าพังบุญยืนน่าจะได้รับสารพิษเข้าไปจำนวนมาก เบื้องต้นได้ให้น้ำเกลือ วิตามิน และยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษากำลังของพังบุญยืนไม่ให้หมดแรงจนขาดน้ำเสียชีวิต แต่อาการลักษณะอย่างนี้ต้องรีบนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ป่า ม.มหิดล ที่ จ.กาญจนบุรี ให้เร็วที่สุด ไม่ฉะนั้นจะเสียชีวิตทั้งแม่ และลูก แต่คาดว่า น้ำหนักของพังบุญยืนน่าจะมากถึง 4,000 กก.
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.ชุมพร นั้นไม่มีเครื่องมือยกและรถเครนที่จะใช้ยกช้างได้ อีกทั้งอุปกรณ์และยาที่จะใช้รักษาใน จ.ชุมพร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญก็ไม่มี จึงพยายามประสานไปยังนายสัตวแพทย์อลงกรณ์ แต่ยังไม่สามารถประสานงานได้