ศูนย์ข่าวภูเก็ตรัฐ-เอกชนชุมพร ดันเปิดใช้สนามบินใหม่ หลังโดนทิ้งร้างหลายปีจากปัญหาผู้โดยสารน้อยไม่คุ้มทุน มั่นใจเปิดใช้รอบใหม่สายการบินไม่มีปัญหาขาดทุน จากสถานการณ์ท่องเที่ยวเปลี่ยน ไปนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติใช้ชุมพรเดินทางไปเกาะต่างๆ มากขึ้น ด้านนายกสมาคมท่องเที่ยวฯคาดเปิดใช้สนามบินใหม่นักท่องเที่ยว-นักธุรกิจแห่ใช้บริการ ทำรายได้เข้าชุมพรทะลุพันล้านอย่างแน่นอน
นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดชุมพร เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ข้อสรุปว่า จังหวัดเตรียมผลักดันเปิดใช้งานสนามบินชุมพรที่ใช้งบประมาณก่อสร้างเกือบ 600 ล้านบาทใหม่ หลังจากสายการบินหยุดให้บริการตั้งแต่ปี 2546 เนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการน้อย การบินไม่คุ้มทุน
ขณะนี้จังหวัดชุมพรได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ และสั่งการให้คณะทำงานดังกล่าวร่วมกันผลักดันให้มีสายการบินมาลงที่ชุมพรอีกครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับสายการบินต้นทุนต่ำภายในประเทศ เช่น วัน ทู โก ไทยแอร์เอเชีย กระบี่แอร์ไลน์ และนกแอร์
ทั้งนี้ เพื่อเปิดเส้นทางการบินจากกรุงเทพฯ-ชุมพร หรือจาก จ.ชุมพร ไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทาง เช่น หาดใหญ่ กระบี่ หรือ ภูเก็ต ส่วนความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับจุดคุ้มทุนของแต่ละสายการบินนั้นๆ ที่จะมาให้บริการด้วย และคาดว่าอีกไม่นานเรื่องนี้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นายมานิต กล่าวอีกว่า หากมีสายการบินบินมาลงที่สนามบินชุมพร จะเกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดมาก เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวที่ชุมพรมาได้แค่ทางรถยนต์เท่านั้น หากมีสายการบินบินมาที่ชุมพรจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
พร้อมรับเที่ยวบินพาณิชย์ตลอดเวลา
ด้านนายนิสิต สมบัติ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานชุมพร กล่าวว่า ท่าอากาศยานชุมพรตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร อยู่ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 38 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเมื่อปี 2538 จำนวน 530 ล้านบาท สามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ได้พร้อมกัน 2 ลำ เครื่องบินขนาด 50 ที่นั่งได้ 2 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ลำ
การเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2542 มีสายการบิน “PB Air” ทำการบินเป็นเวลา 3 ปี ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ชุมพร-กรุงเทพฯ แต่ต้องหยุดบิน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลงเรื่อยๆ จนไม่คุ้มทุน หลังจากนั้นปี 2545 สายการบิน “แอร์อันดามัน” ทำการบินประมาณ 2 ปี ก็ต้องยกเลิกด้วยเหตุผลเดียวกัน จากนั้นไม่มีสายการบินใดบินมาลงที่สนามบินชุมพรอีกเพราะเกรงว่าจะไม่คุ้มทุน
จนถึงขณะนี้ผู้ว่าฯ ชุมพร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้พยายามที่จะผลักดันให้มีสายการบินภายในประเทศบินมาที่จังหวัดชุมพร โดยได้ประสานไปยังสายการบินภายในประเทศ 5 สายการบิน คือ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย วันทูโก พีบีแอร์ และกระบี่แอร์ไลน์
นายนิสิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีนกแอร์ได้ตอบกลับมาแล้วว่าจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจข้อมูลทางการตลาดพบว่า การบินในเส้นทางดังกล่าวไม่คุ้มทุนหากต้องใช้เครื่องบินขนาดจัมโบ้ 737 จุได้ 150 ที่นั่ง เพราะคาดว่าผู้โดยสารบินมาชุมพรจะมีเที่ยวละประมาณ 30 คนเท่านั้น แต่มีโอกาสที่สายการบินอื่นจะบินมาลงที่ชุมพร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประสานงาน เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชุมพรเพื่อไปท่องเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆ มีเป็นจำนวนมาก
นายนิสิต กล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีเที่ยวบินประจำบินมาลงที่สนามบินชุมพร แต่สนามบินก็มีความพร้อมในการรองรับสายการบินและผู้โดยสารตลอดเวลา โดยได้มีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามมาตรฐานองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ มาตลอด เพราะในแต่ละปีจะมีเที่ยวบินทั้งชาร์เตอร์ไฟลต์ เครื่องบินรับผู้ป่วย เครื่องบินของหน่วยงานราชการบินมาลงเป็นประจำ โดยปี 2550 มีเที่ยวบินบินมาลงทั้งสิ้น 1,371 เที่ยวบิน
“ที่ผ่านมามีสายการบินจากยุโรปได้ติดต่อที่จะนำชาร์เตอร์ไฟลต์มาลงที่ชุมพรหลายประเทศ ทั้งกลุ่มสแกนดิเนเวีย ฟินแลนด์ แต่สนามบินไม่สามารถรองรับได้ เนื่องจากเป็นเครื่อง โบอิ้ง 767 หากจะให้รองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศต้องมีการต่อทางวิ่งอีก 600 เมตร ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องเป็นแผนงานในระยะต่อไป แต่ในระยะสั้นอันใกล้ต้องการให้มีเที่ยวบินภายในประเทศบินมาลงที่จังหวัดชุมพรก่อน” นายนิสิต กล่าว
เปิดใช้สนามบินรายได้ทะลุ 1 พันล้าน
ขณะที่ นางสุวรรณี ธรรมวุฒิ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร กล่าวว่า หากมองในภาพรวมแล้วถ้ามีการเปิดใช้บริการสนามบินชุมพรอีกครั้ง สายการบินต่างๆ จะสามารถอยู่ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาดำน้ำดูปะการัง และท่องเที่ยวทางทะเลกันมากขึ้น อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศใช้บริการท่าเทียบเรือชุมพร-เกาะเต่า-เกาะนางยวน-เกาะพะงัน-เกาะสมุย ในพื้นที่ จ.ชุมพร มากขึ้นทุกๆ ปี โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากทวีปยุโรปและสแกนดิเนเวีย อีกทั้งประชากรบนเกาะทั้ง 2 แห่งดังกล่าวก็ยังเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในจังหวัด เฉลี่ยเดือนละประมาณ 20 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจจากเขตนิคมอุตสาหกรรมหนักพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่เขตติดต่อกับ จ.ชุมพร ก็จะหันมาใช้บริการสนามบินชุมพรเพิ่มขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันนักธุรกิจเหล่านี้ ได้ไปใช้บริการสนามบินที่ จ.สุราษฎร์ธานี แล้วนั่งรถยนต์ย้อนกลับขึ้นมาทำให้เสียเวลาอย่างมาก อีกทั้งยังจะมีชาร์เตอร์ไฟลต์จากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการโดยตรงอีกด้วย
นางสุวรรณี ยังกล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรว่า จากข้อมูลเมื่อปี 2550 ชุมพรมีปริมาณนักท่องเที่ยว 351,863 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 303,827 คน และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 48,036 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.22 ทำให้จังหวัดมีรายได้จากการท่องเที่ยว 930 ล้านบาท หากมีการผลักดันให้มีการเปิดสนามบินชุมพรกลับมาให้บริการผู้โดยสารขึ้นอีกครั้ง จะมีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจเข้ามาในพื้นที่ จ.ชุมพร เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว มีรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน