xs
xsm
sm
md
lg

จับตาความพยายามจัดตั้ง ‘รัฐใหม่’ - เมื่อไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่…รายงาน

คนนอกพื้นที่ที่ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา อย่างต่อเนื่อง อาจจะช็อคกับเหตุการณ์การลอบวางระเบิดโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคม 2551 เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีว่าสถานที่แห่งนี้ มีการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น เพราะสถานที่นี้ถูกใช้เป็นที่พัก ที่จัดประชุม สัมมนา และเป็นแหล่งพบปะพูดคุยของบุคคลเกือบทุกวงการที่ทั้งเกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนอาจจะไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์รุนแรงลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับสถานที่ซึ่งมีความสำคัญสูงอีกแห่งหนึ่งนี้

แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่แล้วเขากลับมองอีกมุมหนึ่ง มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาหรือ ‘ปกติ’ ที่เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ไม่เว้นแม้แต่แหล่งธุรกิจและท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างเช่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตราบใดที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยนโยบายของรัฐ ปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานล่วงเข้าสู่ปีที่ 5 นี้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ชาชิน ไม่อาจคาดหวังกับประสิทธิภาพการแก้ปัญหาของรัฐบาลหรือการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนได้อีกต่อไป นอกจากทำใจยอมรับสภาพ จนกระทั่งมองความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ บนสถานการณ์ที่ถือว่า ‘ไม่ปกติ’

“ไม่ได้รู้สึกตกใจอะไรมากที่ทราบข่าวว่ามีคาร์บอมบ์ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้เหตุการณ์ความรุนแรงพร้อมที่จะเกิดขึ้นที่ไหน หรือกับใครก็ได้ทั้งนั้น ไม่เลือกว่าคุณจะเป็นชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ความรุนแรงพร้อมที่จะเกิดกับทุกคนในพื้นที่นี้ จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว เพราะเขาอยู่กับมันมานานจะหนีไปไหนก็ไม่ได้ ต้องทำใจยอมรับกับเรื่องที่เกิดขึ้น และภาวนาว่าอย่าให้เกิดกับตัวเอง ทำได้พียงเท่านี้” แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุ

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยข้อมูลของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) ที่ระบุว่าสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 จนถึงวันที่ 30 กันยายน2550 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด 9,236 ครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตถึง 5,568 ครั้ง และมีแนวโน้มว่าจำนวนเหตุการณ์จะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง


ในขณะที่ พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ตำรวจสามารถจับคนร้ายและสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลไปแล้ว 113 คดี ศาลได้ตัดสินและลงโทษทั้งประหารชีวิตและจำคุกไปแล้วไม่น้อยกว่า 70 คดี

ทั้งนี้ตัวเลขเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวยังไม่นับรวมเหตุการณ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละวัน แต่ละเหตุการณ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงเป็นจำนวนไม่น้อย

ไม่แปลกที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งในพื้นที่จะมองเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา และไม่แปลกที่จะมีคนเชื่อว่าความรุนแรงพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกที่ เพราะเมื่อมองย้อนหลังกลับไปจะพบว่าสถานที่สำคัญยิ่งกว่าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี คือศาลากลางจังหวัดปัตตานี ศาลากลางจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ หลายหน่วย รวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วย ซึ่งในแต่ละวันจะมีการจัดการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกว่าสถานที่อื่นๆ แต่ก็ยังไม่รอดพ้นจากการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จึงไม่แปลกที่เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นกับโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ซึ่งมีสถานะเป็นเพียงโรงแรม ไม่ใช่สถานที่ราชการ ไม่แปลกที่ชาวบ้านหลายคนจะเชื่อว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถเกิดขึ้นไม่ว่าจะที่ไหน หรือกับใครก็ได้ทั้งนั้น

“ขณะนี้ชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้โยกย้ายออกจากพื้นที่แล้วไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นี่คือตัวเลขการคาดการณ์กันเองของชาวบ้าน ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วยไหนสามารถศึกษาออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากคนที่ย้ายออกไปไปเพียงแต่ตัวและทรัพย์สินบางอย่าง แต่ชื่อยังอยู่ที่นี่ จึงทำให้ยากต่อการสำรวจเป็นตัวเลขที่แน่ชัด” แหล่งข่าวคนเดิมระบุ

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเปิดเผยข้อมูล ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของคณะนักวิจัยด้านความมั่นคงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สกว. ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีการฝึกฝนเยาวชน ที่เรียกตัวเองว่า “Pejuang” (เปอยูแว/ยูแว) แปลว่า “นักต่อสู้ของกลุ่มเยาวชนกู้ชาติปัตตานี” (Pemuda Merdeka Patani) ขององค์กรกู้ชาติปัตตานี (Pejuangan Merdeka Patani) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

กลุ่มนี้เป็นรุ่นใหม่ที่ผ่านการฝึกอบรม สร้างจิตสำนึกให้เคียดแค้นชิงชังคนต่างศาสนา มีอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา มาตุภูมิ เคร่งครัดศาสนา เป็นที่ยอมรับของสังคม และมีความกระหายที่จะต่อสู้ตามแนวทางศาสนา (ญีฮาด) และอิสรภาพอันชอบธรรมเพื่อรัฐปัตตานี ทั้งนี้องค์กรกู้ชาติปัตตานีได้ขับเคลื่อนตามแผนการปฏิวัติ 7 ขั้นตอน (บันได 7 ขั้น) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการเตรียมคน จังตั้งองค์กรควบคุม ขยายเครือข่ายและสมาชิก พร้อมทั้งได้กำหนดห้วงปีที่จะปฏิบัติอย่างชัดเจน

โดยที่ผ่านมามีการฝึกเยาวชนกลุ่มนี้เกิดขึ้นแล้วร่วมหมื่นคน และยังมีการผลิตรุ่นต่อๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้ออกปฏิบัติการก่อเหตุความวุ่นวายต่างๆ ในแผนขั้นที่ 6 การเตรียมพร้อมปฏิวัติ ซึ่งเป็นขั้นตอนการก่อเหตุร้ายทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เหมือนการแตกกระจายของดอกไม้ไฟ หรือเรียกว่า “การจุดดอกไม้ไฟแห่งการปฏิวัติ” เพื่อการเคลื่อนไหวใหญ่ นำไปสู่แผนขั้นที่ 7 การจัดตั้งการปฏิวัติ หรือ การก่อการปฏิวัติอันเป็นการต่อสู้ขั้นสุดท้ายและใช้การโจมตีด้วยกองกำลังต่อกลไกรัฐเต็มพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะโจมตีจะติดตั้งธงรัฐปัตตานีควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สื่อมวลชนแพร่กระจายไปทั่วโลก และหวังผลให้ประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติหรือองค์กรมุสลิม ในระดับโลกเข้ามาแสดงบทบาทในการแก้ปัญหา จนนำไปสู่การลงประชามติของประชาชนเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชและจัดตั้งรัฐปัตตานีขึ้นในที่สุด ตามแผนการเดิมขั้นตอนนี้กำหนดจะกระทำในปี พ.ศ.2548 แต่ด้วยความไม่พร้อมของจำนวนกองกำลัง แนวร่วม และอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน จึงต้องขยายเวลาออกไป

แต่กระบวนการสร้างเยาวชนแนวร่วม และขยายเครือข่ายยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ โดยอาศัยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และความไม่เป็นธรรมจากรัฐไทย เป็นยุทธวิธีหลักในการขยายมวลชนให้กว้างขวางออกไปยังทั่วประเทศ ที่ผ่านมาจะพบว่าเหตุการณ์คนร้ายออกก่อเหตุความวุ่นวายในลักษณะการลอบเผาโรงเรียน เผาตู้โทรศัพท์ และโปรยตะปูเรือใบ ซึ่งเป็นงานที่สั่งการลงมายังเยาวชนกู้ชาติรัฐปัตตานี รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งผ่านการฝึกฝนปลูกฝังแนวคิด อบรมบ่มเพาะในด้านต่างๆ จนพร้อมในระดับหนึ่งแล้วจึงให้มีการทดลองออกไปก่อการในลักษณะป่วนดังกล่าว รอขึ้นชั้นเป็น 1 ในนักสู้กู้ชาติรัฐปัตตานี เมื่อผ่านการฝึกรบแบบกองโจร หลักสูตร RKK หรือ (RUNDA KUMPULAN KECIL) ที่พร้อมก่อเหตุร้ายได้ทุกรูปแบบ และเคยมีกรณีฆ่าตัดศีรษะหน่วยรบพิเศษของรัฐบาลมาแล้ว

ระยะนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจึงเร่งขยายเครือข่ายออกไปในกลุ่มเยาวชนทุกพื้นที่ รอให้เกิดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมจากฝ่ายรัฐ แล้วปลุกระดมมวลชนที่เป็นแนวร่วมขึ้นมาประท้วง เรียกร้องความเป็นธรรมผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มเยาวชนที่ผ่านการฝึกฝนหลักสูตรเบื้องต้น และกลุ่มที่ผ่านการฝึกหลักสูตรรบพิเศษ RKK เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่างก็ออกมาก่อเหตุร้ายไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งวางระเบิด เผาโรงเรียน เผาตู้โทรศัพท์ ฆ่าแล้วเผา ฆ่าแล้วตัดคอ ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ ฯลฯ เหตุร้ายที่เกิดขึ้นแต่ละวัน เหมือนกับการชกเก็บคะแนนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพราะเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่ ปี 2547 – จนถึงขณะนี้ก็ปาเข้าไปร่วม 3,000 คนแล้ว ไม่นับรวมตัวเลขความเสียหายอื่นๆ ตัวเลขเหล่านี้จะถูกรายงานออกสู่สังคมทุกวัน จากประเทศไทย ขยายออกไปสู่สากล ไม่แตกต่างกับการรายงานข่าวการสู้รบระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล สงครามต่อต้านอเมริกาในอิรัก และ ฯลฯ

เมื่อตัวเลขความเสียหายพุ่งไปถึงระดับหนึ่ง ต่างชาติที่คาดการณ์ว่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหานี้ อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา - สหประชาชาติ และโลกอาหรับโดยผ่านองค์กรที่ประชุมมุสลิมโลก หรือ OIC ก็อาจจะเข้ามาแทรกแซงปัญหานี้ของเมืองไทย ซึ่งจะเป็นกลุ่มไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เป็นหลัก หากรัฐบาลไทยยังชักช้า ในเร็วๆ นี้ เราอาจจะได้เห็นรัฐอิสระเกิดใหม่ล่าสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นมาอีกรัฐหนึ่งชื่อ “ปัตตานีดารุสซาลาม” หลังจากที่ ‘ติมอร์ตะวันออก’ เคยทำสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้ ก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น