ศูนย์ข่าวภูเก็ต -บสย.สุราษฎร์ธานี ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีใต้ตอนบน ปีนี้กว่า 600 ล้านบาท เน้นกระจายสู่จำนวนราย มากกว่าวงเงิน หวังให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งท่องเที่ยวบริการ และอุตสาหกรรมการเกษตร และอื่นๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น ขณะปีที่ผ่านมาปล่อยไป 236 ราย วงเงินกว่า 460 ล้านบาท
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข รักษาการผู้จัดการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต พังงา และ กระบี่ เปิดเผยว่า ในปี 2551 บสย.ได้ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนเป็นจำนวนเงินประมาณ 625 ล้านบาท จำนวนธุรกิจประมาณ 250 ราย
ทั้งนี้เพราะการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านการเกษตร และธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในปี 2551 บสย. จะเน้นการค้ำประกันสินเชื่อให้จำนวนรายมากกว่าจำนวนวงเงิน เพื่อเข้าไปดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้จำนวนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อมเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้นด้วย
นายเกรียงไกร เผยอีกว่า ธุรกิจที่บสย.เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อในปีนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด เพราะพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีการลงทุนด้านท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมด้านเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนด้านการท่องเที่ยว มีการขยายตัวทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เพราะในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก
สำหรับวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่รายละประมาณ 2-3 ล้านบาท ส่วนรายใหญ่ที่มีวงเงินค้ำประกันมีจำนวน 20-40 ล้านบาทมีจำนวนไม่มากนัก และตั้งแต่เดือน 1 มกราคม - 1 มีมาคม 2551 สามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนแล้ว จำนวน 93 ล้านบาท จำนวนธุรกิจ 30 ราย
ส่วนปี 2550 บสย.สุราษฎร์ธานีได้เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการทั้งหมด 236 ราย วงเงินทั้งสิ้น 464.90 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร 88 ราย วงเงินค้ำประกัน 179.58 ล้านบาท คิดเป็น 38.63% ธุรกิจประเภทยานพาหนะ ซ่อมรถยนต์ อุปกรณ์รถยนต์เครื่องจักร 19 ราย วงเงิน 31.1 ล้านบาท ธุรกิจประเภทเสื้อผ้า อัญมณี จำนวน 10 ราย วงเงิน 17 ล้านบาท ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว 4 ราย วงเงิน 3.51 ล้านบาท ธุรกิจบริการ 14 ราย วงเงิน 32.46 ล้านบาท และธุรกิจอื่นๆ จำนวน 101 ราย วงเงิน 201.19 ล้านบาท คิดเป็น 43.28%
ธุรกิจที่บสย.เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ 92 ราย วงเงิน 110 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี 65 ราย วงเงิน 127 ล้านบาท ภูเก็ต 15 ราย วงเงิน 74 ล้านบาท ที่เหลือกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ