xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐใช้“การเมืองนำการทหาร”ดับไฟใต้ – ติง“หมัก-เหลิม”เปลี่ยนบุคลิกแข็งกร้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์หาดใหญ่ – “นักวิชาการ-ภาค ปชช.” จัดสัมมนาหาแนวทางดับไฟใต้ของรัฐบาลใหม่ แนะ “นายกฯ หมัก” ใช้แนวการเมืองนำการทหาร เหน็บ “เหลิม” ก่อนให้ 3 จว.ชายแดนเป็นเขตปกครองพิเศษ ต้องยึดใจคนในพื้นที่ให้ได้ก่อน ติง “นายกฯ.-มท.1”เปลี่ยนบุคลิกแข็งกร้าว สร้างสัมพันธ์ต่างประเทศ

วันนี้(23 ก.พ.) ที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มูลนิธฟรีดริช แอร์แบรท และคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดสัมมนาเรื่อง “แนวนโยบายสร้างเสริมสันติสุขของรัฐบาลใหม่” เพื่อสรุปสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง วิเคราะห์แนวโน้มการใช้วิถีทางการเมืองในการเสริมสร้างสันติสุข รวมทั้งศึกษาแนวทางการสร้างสันติสุขตามนโยบายรัฐบาลใหม่ และหาหนทางร่วมกันเพื่อนำไปสู่จุดหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ยังส่งเสริมเครือข่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวกับภาคใต้ โดยมีผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ข้าราชการ ผู้นำศาสนา นักการเมืองท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 40 คน

โดยนักวิชาการและภาคประชาชนได้สะท้อนภาพการแก้ปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลใหม่อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ นายวัชรพันธ์ จันทร์ขจร อดีตคณะทำงานภาคใต้ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่แล้ว(พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ชี้ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งระบบ จากที่ใช้ทหารนำการเมือง เพราะปัญหาจะไม่มีวันจบ รัฐบาลจะต้องกำหนดให้ปัญหาความไม่สงบฯเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใหม่ทั้งหมด

โดยมีองค์กรภายใต้การควบคุมจากส่วนกลางโดยตรง และการวางยุทธศาสตร์จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน 1 ปี 2 ปี ทำอะไร ภายใน 5 ปีจะต้องเห็นผลอะไร และหลัง 5 ปีอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งจะสามารถกำหนดรูปแบบได้

แต่หากยังทำเหมือนอย่าง 4 ปีที่ผ่านมาลางแพ้จะเกิดขึ้น ความรุนแรงยังคงอยู่และจะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้การที่จะกำหนดให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษตามแนวคิดของ รมว.มหาดไทย นั้นจะต้องยึดครองจิตใจของประชาชนให้ได้ก่อน และโดดเดี่ยวกลุ่มที่พยายามชักจูงประชาชน

ทางด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี รองคณะบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้โครงสร้างอำนาจรัฐในการปกครองล้มเหลวโดยสิ้นเชิงไม่ว่า ทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง เพราะยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้ เมื่ออำนาจรัฐอ่อนแอจึงเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

การแก้ปัญหาจะต้องทำให้รัฐเป็นมิตรและเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน โครงสร้างระบบราชการจะต้องสอดคล้องกับประชาชน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่โครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาหลักที่เป็นอยู่ขณะนี้คือเรื่องของโครงสร้างอำนาจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องของการเมืองและการเลือกตั้งที่นำไปสู่ความขัดแย้ง

แนวทางการแก้ปัญหาคือจะต้องผสมผสานระหว่างโครงสร้างการปกครองกับศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุล เพราะหลักการอิสลามนั้นศาสนากับการเมืองไม่สามารถแยกจากกันได้ อาจะมีการตั้งสภาที่ปรึกษาหรือผู้รู้ทางศาสนาขึ้นเพื่อประกอบกับโครงสร้างของท้องถิ่น

เหมือนอย่างที่เคยมีการเสนอให้ตั้งสถาบันสันติยุติธรรม ซึ่งนั่นหมายถึงเป็นการต่อยอดไปสู่การใช้นโยบายเขตปกครองพิเศษ แต่การที่จะประกาศเป็นเขตปกครองพิเศษนั้นต้องมองในหลายมิติทั้งระบบราชการ ท้องถิ่น ศาสนา วัฒนา การศึกษา หรือแม้แต่วิถีชีวิตชุมชน เพราะหากมองมิติเดียวนั้นทำไม่ได้

ในอนาคตรัฐบาลจะต้องมองภาพให้ชัดขึ้นไม่ใช้มองแค่รูปแบบเขตปกครองพิเศษจากประเทศใดประเทศใดประเทศหนึ่งและลอกมาใช้ เพราะปัญหามันแตกต่างกัน

ทางด้าน นายนิติ ฮาซัน ประธานสภามุสลิมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ยังมองไม่เห็นทางออกการแก้ปัญหาภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เพราะแม้แต่อนาคตของรัฐบาลเองก็ยังไม่ชัดว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน ที่สำคัญยังคงต้องรอการแปลงนโยบายของรัฐบาลมาสู่แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

โดยเฉพาะเรื่องของการอำนวยความยุติธรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคิดนายกรัฐมนตรีและ มท.1จะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีให้อ่อนลงซึ่งล่าสุดทะเลาะกับผู้สื่อข่าวอัญจาซีร่า ถามว่าเมื่อนายกฯยังแข็งกร้าวแล้วจะไปเจรจากับต่างประเทศได้อย่างไร เพราะปัญหาภาคใต้จะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรระดับประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม นายมูหัมมัดอายุป ปานทาน ผู้สื่อข่าวศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้สะท้อนมุมมองภาคประชาชนไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลจะต้องนำข้อเสนอแนะของภาคประชาชนไปสู่แนวทางปฏิบัติเพราะมีหลายข้อเสนอแนะที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันคิดและเสนอแนะไปนานแล้วเช่นเขตปกครองพิเศษ หรือการปกครองที่ต้องเชื่อมโยงกับศาสนา

แต่ดูเหมือนว่านโยบายของรัฐบาลที่ออกมากลับย่ำอยู่กับที่ แต่สิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องคิดร่วมกันหลังจากนี้คือจะทำอย่างไรให้แนวคิดของประชาชนไปถึงรัฐบาลและนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพราะเราเสียเวลามากว่า 4 ปีกับการจัดเสวนา สัมมนา ระดมความคิดเห็นภาคประชาชนจนได้กรอบและแนวคิดที่ดี ๆ ออกมาแต่สุดท้ายรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น