xs
xsm
sm
md
lg

สสส.หนุนงบแก้ปัญหาอุบัติเหตุจังหวัดนำร่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สสส.หนุนงบแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มจังหวัดนำร่องภาคใต้ สร้างเครื่องข่ายการมีส่วนร่วม

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ห้องประชุมโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1 โครงการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน จังหวัดนำร่องภาคใต้ ระยะที่ 3

โดยมี นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ตัวแทนคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติทางถนนในจังหวัดนำร่อง (สอจร.) พล.ต.ท.ชาตรี สุนทรศร ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นพ.ไพศาล วรสถิตย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วม

สำหรับโครงการ สอจร.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนวิชาการการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดนำร่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดการทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

โดยเน้นการทำงานจากทุกระดับของระบบการจราจรทางถนน ส่งเสริมความเข้มแข็งและสร้างการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางในการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของระยะต่อไป สร้างเครือข่ายในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนให้เกิดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการดังกล่าวได้เริ่มระยะแรก เมื่อปี 2547 มีจังหวัดที่ได้รับทุนในโครงการจำนวน 27 จังหวัด ระยะที่ 2 เริ่มในปี 2548 จำนวน 25 จังหวัด และระยะที่ 3 เริ่มในปี 2550 โดยในส่วนของภาคใต้มีโครงการที่เข้าร่วม 4 จังหวัด คือ จังหวัดระนอง ตรัง พัทลุง และสงขลา

นพ.วีระพันธ์ กล่าวสรุปการดำเนินงานของ สอจร.ในช่วง 2 ระยะที่ผ่านมาว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปล่อยปละละเลยในการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุจราจร เช่น การขับรถย้อนศร การไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น

ดังนั้น จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นกลัวไม่กล้าทำผิด หรือมีแนวคิดในการป้องกันอุบัติเหตุด้วยตนเอง เพราะจากสถิติการเสียชีวิตในช่วงที่เกิดอุบัติเหตุ พบว่า 50% เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันทีอีก 30% เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน และอีก 20% เสียชีวิตหลังได้รับการช่วยเหลือและนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

นอกจากนั้น ยังมีการสูญเสียอวัยวะหรือพิการตามมา ทั้งๆ ที่อุบัติเหตุนั้นสามารถป้องกันได้ ซึ่งจากการศึกษาของจังหวัดนำร่องการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุพบว่ามีสถิติลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาคราชการ เอกชน ประชาชนและที่สำคัญคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น