xs
xsm
sm
md
lg

พบแรงงานไทยผิดกม.ในมาเลย์กว่า2แสนราย - ส่งเงินกลับเดือนละ400ล้าน-จี้รัฐเร่งแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยข้อมูลพบแรงงานไทยเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซียกว่า 2 แสนราย แต่ส่งเงินกลับประเทศไทยร่วมกว่า 400 ล้านบาทต่อเดือน จี้ภาครัฐเจรจาลดค่า “เวิร์กเปอร์มิต” สร้างแรงจูงใจ แก้ปัญหาทั้งสองประเทศ

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ประกอบด้วย ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณะรัฐศาสตร์ นายนิอับดุลรากิ้บ บินนิฮัสซัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายฮัมเดีย มูดอ คณะวิทยาการสื่อสาร นายมูฮำหมัดสูไฮมี ยานยา คณะวิทยาการสื่อสาร และนายวิรัช เอี่ยมปลัด พี่เลี้ยงสนับสนุบโครงการหน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง ได้รายงานผลการวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดสวัสดิการ การกำหนดค่าธรรมเนียมที่มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานร้านอาหารไทย ผันเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย”

โดยวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อประมาณการจำนวนร้านอาหาร และแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ตลอดจนคำนวณมูลค่าการส่งเงินกลับประเทศไทย และคำนวณต้นทุนพร้อมการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจรจากำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า จากการวิจัยพบว่าขณะนี้มีร้านอาหารไทยในมาเลเซียประมาณ 5,000 ร้านจำนวนแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ประมาณ 100,000-150,000 คน โดยมีมูลค่าของรายได้ที่ส่งกลับประเทศไทย ประมาณ 300-400 ล้านบาท/เดือน โดยเจ้าของร้านขนาดใหญ่ส่งเงินกลับบ้านประมาณ 100,000 บาท/เดือน ร้านขนาดเล็กประมาณ 20,000-50,000 บาท/เดือน ลูกจ้างที่มีใบอนุญาตทำงานหรือ work permit ถูกต้อง คนล้างจาน เสิร์ฟ มีเงินเดือนๆ ละ 5,500-6,000 บาท เก็บเงินได้เดือนละ 4,500 บาท ส่งเงินกลับบ้านประมาณ 1,000-2,000 บาท/เดือน กุ๊กเงินเดือน 15,000 บาท ไปจนถึง 17,000-20,000 บาท ส่งเงินกลับบ้าน 5,000 บาท/เดือน

แต่จากข้อวิเคราะห์พบว่า ปัจจุบันแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียกว่า 200,000 คนนั้นทางการไทยและมาเลเซียไม่ทราบว่าคนเหล่านี้ชื่ออะไร มาจากไหน อยู่ที่ไหน เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ทำ work permit อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเหตุที่แรงงานไทยไม่ยอมทำ work permit เพราะค่าใช้จ่ายสูงเกินไป โดยค่าใช้จ่ายในการทำ work permit กว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี

ข้อมูลจากอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียยืนยันว่า หากลดค่าใช้จ่ายในการทำ work permit เหลือ 5,000 บาทต่อคนต่อปี จะมีแรงงานไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของแรงงานทั้งหมดยินดีทำเวิร์กเปอร์มิต อย่างแน่นอน เพราะอัตราดังกล่าวเท่ากับแรงงานอินโดนีเซียที่ทำงานบ้าน เป็น unskilled labors ซึ่งอยู่ประมาณ 600 ริงกิต/ปี หรือราว 5,000 บาทไทย

ส่วนสาเหตุของแรงงานไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมความเคยชินที่ปฏิบัติตามกันมาคือ เดินทางเข้าไปลักลอบทำงาน โดยอาศัยกับญาติพี่น้อง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันการอำนวยความสะดวกในเรื่องของบริการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย และพัฒนาระบบจัดส่งแรงงานที่ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่แรงงานร้านต้มยำไม่ได้ประสานงาติดต่อกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเท่าที่ควร ซึ่งแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่น รวมทั้งจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ นิยมไปทำงานร้านอาหารในแบบชั่วคราว ไม่ได้มุ่งหวังหรือตั้งใจที่จะยึดอาชีพร้านต้มยำอย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากคนในยุคก่อนที่ไปทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัวที่อยู่ในประเทศไทย

การที่แรงงานได้ work permit แล้วย้ายก่อนครบสัญญาว่าจ้าง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้างหมดทุนและเข็ดหลาบที่จะทำ work permit ให้ลูกจ้างอีก และอีกกรณีบางตำแหน่งในร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านขนาดเล็ก ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างไม่สูงพอที่จะสามารถจ่ายค่าภาษีรายปีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานได้ เช่น ลูกจ้างที่ล้างจาน หั่นผัก เสิร์ฟอาหาร เป็นต้น รวมทั้งยังมีปัจจัยสถานการณ์ความไม่สงบ การว่างงาน จบการศึกษาด้านศาสนาแล้วไม่มีงานทำ นิยมไปทำงานร้านอาหารในแบบชั่วคราว ไม่ได้มุ่งหวังหรือตั้งใจที่จะยึดอาชีพร้านต้มยำอย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากคนในยุคก่อนที่ไปทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว ที่อยู่ในประเทศไทย

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยเหล่านี้ นอกเหนือจากรายได้จากแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียจะช่วยสร้างงาน บรรเทาปัญหาความยากจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย รวมทั้งการส่งออกสินค้าการเกษตรยังได้รับประโยชน์จากการมีแรงงานและผู้ประกอบการร้านอาหารไทย

เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แบบถาวรในประเทศมาเลเซีย จึงต้องเช่าบ้าน เช่าอาคารสถานที่ในมาเลเซีย ต้องซื้ออาหารสด เช่น ปลา และผักสดจากคนจีนในตลาด เนื้อสัตว์จากคนมุสลิม รวมทั้งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ จากร้านค้าต่าง ๆ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังส่งผลเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ไปยังภาคการส่งออกกุ้งและอาหารทะเลจาก จ.สงขลา การนำเข้าผักสดจากด่านสุไหงโก-ลก และข้าวหอมมะลิจากไทย

ผศ.ชิดชนก ระบุว่า ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาดังกล่าว รัฐบาลไทยต้องมีมุมมองเชิงบกต่อผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องลดอคติที่มองว่าบุคคลสองสัญชาติเป็นปัญหาต่อความมั่งคง แต่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจร้านอาหารไทยเอง ควรเปิดการเจรจาลดค่าภาษีรายปี และค่าธรรมเนียม work permit จากเดิมที่ต้องจ่ายปีละประมาณ 30,000 บาทต่อคนต่อปี บางตำแหน่งในร้านได้รับค่าจ้างไม่สูงพอ จึงไม่คุ้มทุนที่นายจ้างจะดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ระดับค่าใช้จ่ายที่นายจ้างคิดว่าจะช่วยให้เกิดแรงจูงใจให้ดำเนินการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้คือ 5,000 บาทต่อคนต่อปี

วิธีการเจรจาลดค่า work permit น่าจะทำได้โดยการขอเปลี่ยน Category จาก skilled ซึ่งจะต้องตรวจสอบและประสานงานกับฝ่ายมาเลเซียเป็นการภายในว่าอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่ใคร หากแรงงานไทยยอมทำ work permit ทางการก็จะทราบว่าใครบ้างสามารถติดตามได้ง่ายและสามารถส่งข่าวสารเกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ให้ทราบตรงกับความเป็นจริง

รวมทั้งอาจทำ newsletterภาษามาลายูท้องถิ่น ส่งไปให้ทุกเดือน เป็นส่วนหนึ่งของสงครามข่าวสารแบบ direct sales ตรงตัว ช่วยลดข่าวลือ และนำเสนอพัฒนาการในด้านบวกได้ด้วย ที่สำคัญมาเลเซียจะได้เก็บค่า work permit ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ตามมา กรณีรายละ 600 ริงกิตต่อปี คำนวณจากแรงงาน 200,000 ราย มาเลเซียจะมีรายได้จาก work permit เป็นเงินถึง 12,000,000 ริงกิตต่อปี

“ประโยชน์ที่รัฐบาลมาเลเซียจะได้คือสามารถควบคุมแรงงานต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดปัญหาคอรัปชั่น กระบวนการจ่ายเงินสินบนนอกระบบ ส่วนประโยชน์ที่รัฐบาลไทยจะได้รับคือข้อมูลที่ถูกต้อง จำแนกผู้บริสุทธิ์ที่มีวัตถุประสงค์ไปประกอบอาชีพที่สุจริตออกจากแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบที่เชื่อว่าหลบหนีไปพักพิงยังต่างประเทศ”

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มอบหมายตัวแทนสภาที่ปรึกษาไปพบปะเยี่ยมเยือนแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียที่ถูกจับกุมคุมขังในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย แจ้งกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่อขอเจรจาลดค่า work permit โดยของเปลี่ยน Category จาก skilled labors เป็น unskilled labors

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเพื่อให้มีการเจรจาลดค่า work permit ของคณะนักวิจัย มอ.นั้น ตรงตามข้อเสนอของ พล.ท.วิโจรน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคฝ่ายไทย ที่ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 89 ระหว่างไทยและมาแลซีย กับ พล.ท.ดาโต๊ะ ซุลกีฟลี บินโมฮัมเหม็ด ซิน ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสนามมาเลเซีย ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคมาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ม.ค.51 ที่โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

โดย พล.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือใน 2 เรื่องคือ การขอปรับลดค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือรับรองการทำงานหรือเวิร์กกิ้งเปอมิต ของมาเลเซีย ซึ่งค่อนข้างสูง โดยแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 6,000 บาทต่อ 3 เดือนหรือ 24,000 บาทต่อ 1 ปี ทำให้แรงงานไทยส่วนหนึ่งหลบเลี่ยง และเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเข้าไปทำงานในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมาเลเซียยอมลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ถูกลงก็จะเป็นผลดีของทั้งสองประเทศคือแรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมาเลเซียเองก็จะไม่มีปัญหาแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย

ส่วนเรื่องที่สอง คือ มีการเสนอให้ทำประกันภัยรถยนต์ร่วม 2 ประเทศ ในกรณีที่มีการขับรถยนต์เข้าออกทั้งสองประเทศ เพราะที่ผ่านมาหากคนไทยจะขับรถเข้าไปในมาเลเซียก็จะต้องทำประกันภัยของมาเลเซียด้วยซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและค่อนข้างยุ่งบาก ซึ่งหากเป็นไปได้ขอให้ทำประกันภัยในประเทศใดประเทศหนึ่งและผ่านได้เลยซึ่งจะสะดวกยิ่งขึ้น โดยทั้งสองเรื่องทางมาเลเซียยินดีที่จะรับและนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งน่าจะได้รับคำตอบในการประชุมคณะกรรมการชายแดนฯครั้งที่ 90 ในเดือนกรกฎาคมนี้ซึ่งมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพ




กำลังโหลดความคิดเห็น