ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผลประเมินโครงการพัฒนาจังหวัดของ อบจ.ภูเก็ตรายยุทธศาสตร์ พบชาวภูเก็ตพอใจยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสูงสุด ขณะที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไม่มีความพึงพอใจเลย
องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.) จัดประชุมประชาคมสรุปผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการประจำปีงบประมาณ 2550 ของ อบจ.ภูเก็ต ณ ศาลาประชมคมจังหวัดภูเก็ต โดยมีบริหาร อบจ. หน่วยงานราชการ และประชาชนชาวภูเก็ตเข้าร่วม
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อบจ.ภูเก็ตและสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมมือในการจัดทำแผนติดตามและประเมินผลการดำเนินงานปี 2550 ของ อบจ.ภูเก็ต เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินการดำเนินงาน และพัฒนาขีดความสามารถในการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการดำเนินงาน และติดตามประเมินผลโครงการ
ทั้งนี้ แผนติดตามและประเมินผลนี้สามารถติดตามและประเมินผลได้ใน 4 มิติ ได้แก่ มิติเชิงปริมาณ มิติเชิงคุณภาพ มิติเชิงขั้นตอนการดำเนินงาน และมิติความพึงพอใจของประชาชน
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประเมินผลการดำเนินโครงการ ได้ทั้งในรายโครงการ รายยุทธศาสตร์ และในภาพรวมขององค์กร โดยมีคะแนนเต็มในการดำเนินงานในแต่มิติเท่ากับ 5 และคะแนนในภาพรวมเป็นคะแนนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก โดยที่น้ำหนักรวมเท่ากับ 100
นางอัญชลี กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการติดตามและประเมินผล โดยระบบการประเมินผลด้วยตนเอง (Self Assessment Report หรือ SAR) พบว่า อบจ.ภูเก็ตมีโครงการตามแผนการดำเนินงานทั้งสิ้น 210 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 174 โครการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 16 โครงการ ยกเลิกเนื่องจากเปลี่ยนแปลงโครงการจำนวน 20 โครงการ โดยมีคะแนนผลการดำเนินงานถ่วงน้ำหนักในภาพรวมทั้งองค์กร เท่ากับ 4.722 คิดเป็นร้อยละ 94.844
เมื่อทำประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานปี 2550 รายยุทธศาสตร์ พบว่า การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวมีผลการดำเนินงานสูงสุด คือ 4.9154 คะแนน หรือร้อยละ 98.308 ส่วนยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีผลการดำเนินงานต่ำสุด คือ 1.0625 หรือร้อยละ 21.25 เนื่องจากการดำเนินงานอยู่ในช่วงการจัดซื้อวัสดุจากประเทศและการสร้างโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์
ส่วนการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชน ได้คะแนนความพึงพอใจ 4.7071 คะแนน หรือร้อยละ 94.142 ซึ่งเมื่อประเมินความพึงพอใจรายยุทธศาสตร์ พบว่า ผู้ใช้บริการพึงพอใจยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษามากที่สุด ถึง 4.9983 หรือร้อยละ 99.966 ในขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่มีคะแนนความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เนื่องจากทุกโครงการอยู่ในระหว่างดำเนินการ