“เปิดร้านอาหารใช้ชีวิตทำร้านอาหารมาประมาณสัก 10 กว่าปีเลยค่ะเรียกได้ว่าตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยก็ทำและใช้ชีวิตกลางคืนมาตลอดจนกระทั่ง เรารู้สึกว่าเราอิดโรย ในเรื่องของการพบปะผู้คน ก็คือเราเหนื่อยที่จะพูดกับคนแบบว่าสายกลางคืนเราเหนื่อยแล้ว”
สาวน้อยร้อยแปดอาชีพ คือหนึ่งในฉายาที่เจ้าตัวมักพูดถึงตนเองสำหรับ“สุพัตรา ไชยชมภู” หรือว่าคุณปูเป้ ที่วันนี้เธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมาก ๆ ถ้าหากใครที่เป็นสายการแปรรูปงานสร้างอาชีพเสริมหรือว่าการทำเกษตรแบบเก๋ ๆ ในสไตล์ของคนเมืองต้องได้ยินชื่อนี้ “ปูเป้ทำเอง” อยู่ไม่มากก็น้อยแหละเพราะเชื่อไหม ว่ากว่าที่เราจะนัดคิวสัมภาษณ์กับเธอคนนี้ได้ซึ่งต้องบอกก่อนว่างานแน่นมาก ๆ ทั้งไม่ว่าจะเป็นงานอีเว้นต์ งานวิทยากรบรรยาย ตลอดจนถึงตารางการสอน(เวิร์กช้อป) ที่จะมีลูกศิษย์ลูกหาจองคิวกันเข้ามาเรียนเป็นประจำที่สวนเกษตรแห่งนี้ เราจึงมีข้ามเดือนกันเลยทีเดียวกว่าจะได้มาเจอตัวเป็น ๆ!!! วันนี้เรามีนัดหมายกันที่หมู่บ้านสัมมากรซึ่งอยู่ในย่านสะพานสูง กรุงเทพมหานคร เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่แต่ละบ้านจะมีspace รอบบ้านกันอยู่พอสมควรเลย แล้วเราก็ได้เจอกับสวนเกษตรฉบับคนเมือง “ปูเป้ทำเอง” ในที่สุด
จาก “คนกลางคืน” ที่อยากจะเปลี่ยน! เพื่อมาใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปบ้าง
ด้วยสไตล์ในการแต่งตัวที่ต้องบอกว่ามีความแฟชั่นนิสต้าอยู่เบา ๆ เสมออันเป็นเอกลักษณ์ของเธอคนนี้ หลังจากทักทายผู้มาเยือนพร้อมกับพาเดินชมสวนรอบ ๆ บ้านก่อนตามคำเรียกร้องแล้ว ก็ได้เวลาของการสนทนา“คือชีวิตยิ่งกว่าละคร (หัวเราะ) ก็คือจริง ๆ ปูเป้เนี่ยไม่ได้ทำเกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรเลยนะคะ เมื่อประมาณสัก 20 กว่าปีก็คือเปิดร้านอาหารนะคะอยู่แถวเลียบทางด่วนฯ ถ้าเป็นเจน ๆ เดียวกันก็น่าจะเคยไปที่ร้านที่ปูเป้เปิดอยู่นะคะ ก็จะแบบเป็นเจ๊อยู่เลียบด่วนเอางี้แล้วกันนะคะ ก็จะแบบเปิดร้านอาหารใช้ชีวิตทำร้านอาหารมาประมาณ 10 กว่าปีเลย” เราเหนื่อยแล้วเราอยากจะ “เบรก” ถอยตัวเองออกมาอยู่ในจุดที่ เรารู้สึกว่าเออเรายังไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารักจริง ๆ เลย ต้องบอกก่อนว่าอันนั้นมันคือสิ่งที่ทำให้เรามีรายได้ เมื่อตอนที่เราอายุเท่านั้นเราจะไม่ได้คิดเรื่องความชอบก่อน เราจะคิดว่าอะไรที่เลี้ยงชีพเราได้ในตอนนั้น ปูเป้ก็เลยทำสิ่งนั้นมาแต่ว่ามันก็ตอบโจทย์มันก็มีรายได้ที่ดีเพราะว่ามันเป็นร้านอาหาร ก็มีหลายร้าน จนกระทั่งถอยออกมาก็คือเริ่มกลับมาปรับตัวจากที่เคยนอนแบบ ตี 4 ตี 5 (หัวเราะ) ตื่นเที่ยง-ตื่นบ่าย เราก็กลับมาเป็นแบบ ลองตื่นเช้าลองกลับมาใช้ชีวิตของเราแบบคนอื่น ๆ ทั่วไปเขาทำกัน
“ทีนี้พอเราไม่มีงานทำ เราจะไปเริ่มจากตรงไหนล่ะ? ใช่ไหม ก็คือร้านเนี่ยเป็นลูกน้องเป็นญาติพี่น้องไปทำกันหมดแล้ว อ้าว! แล้วเราล่ะ ตื่นมาทำอะไรล่ะ? อะไรอย่างเงี้ยค่ะก็เริ่มรู้สึกว่า เริ่มจากสิ่งที่เราชอบใกล้ ๆ ตัว” เป็นคนที่ชอบงานเย็บปักถักร้อย เป็นคนชอบทำอาหาร เป็นคนชอบประดิดปักผ้า ทำทุกอย่างที่มันแบบสายทุกอย่างที่เราชอบทำมาก่อนแล้วก็ทิ้งไป ในขณะเดียวกันพอเริ่มทำอาหารเราก็เริ่มรู้สึกว่ามันจะดีกว่าไหมถ้าเรา ไม่ต้องตื่น แล้วอาบน้ำแต่งตัวไปซื้อพริกซื้อกะเพราเพื่อมา “ผัดกะเพรา” หนึ่งจานอะไรแบบนี้ “เราก็เลยรู้สึกว่าถ้างั้นเราปลูกพริก อ่ะเราเริ่มมีเวลางั้นเราปลูกกะเพราด้วยอะไรแบบนี้ค่ะ” มันก็เลยเหมือนแค่ครัวเรือนก่อน ก็ระเบียงบ้านเราก็ปลูกเฉพาะสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราชอบกินก่อนตอนนั้น ก็น่าจะเริ่มสักประมาณปี 2558 ก็ปลูกผักไปด้วยแต่ทีนี้ว่า มันก็อะเมซิ่ง! ตรงที่ว่าเวลาเพื่อนฝูงมาที่บ้านแล้วอยากกินอะไรเราก็เดินไปเด็ด เพื่อนบอกอยากกินน้ำตระไคร้เราก็บอกแป๊บเดี๋ยวต้มให้เราก็เดินไปตัดตะไคร้มา อยากกินน้ำอัญชันเราก็ไปเด็ดดอกอัญชันมา“มันก็เลยมีความอะเมซิ่งตรงนั้นบวกกับพื้นฐานของปูเป้เนี่ยค่อนข้างจะมีความแบบชอบพูดในเรื่องของการแนะนำ หรือแบบแบ่งปันได้อะไรอย่างเงี้ย คนก็เลยจะมาแบบขอให้ไปช่วยสอน เป็นวิทยากรเสริมเรื่องนั้นเรื่องนี้ อะไรอย่างเงี้ยค่ะ” ในขณะเดียวกัน มันมาพร้อม ๆ กันทุกอย่างมันจะมาพร้อม ๆ กันเนื่องจากว่า เรารู้สึกว่าชีวิตมันปรับตัวมา มันก็เลยเหมือนกับว่าอะไรเข้ามาตรงหน้าปุ๊บมันก็อยากจะลองทำไปหมดเลย แล้วเราก็หาหนึ่งอาชีพที่มันมีรายได้“ตอนนั้นเพื่อน ๆ ก็บอกว่าเฮ้ยเธอ “คิ้ว” สวยเธอแบบเป็นช่างสักคิ้วไหม? อะไรอย่างเงี้ยค่ะ พอเพื่อนบอกปุ๊บวันรุ่งขึ้นตื่นมาไปเรียนเลย” ก็คือใช้เงินที่มีอยู่ประมาณ1 แสนไปลงเรียนเลย จะได้อุปกรณ์คอร์สโน่นนี่นั่นเราก็เลือกครูที่เราคิดว่าปัง! สุดแล้วพูดปุ๊บคนมาทำจะรู้ว่าอ๋อ! เรียนที่สถาบันนี้ ไว้ใจได้ ตอนนั้นเราก็ไม่ได้เปิดเป็นร้านเราก็มีคอนโด มีบ้าน เราก็จะบอกลูกค้าว่ามาที่บ้านเรานะเราทำให้ที่บ้าน ก็เริ่มจากลูกค้าที่เป็นเพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง มาแบบนั้นหมดเลยแล้วเราก็ได้ฝึกมือไป“อันนี้ก็เป็นแบบเขาเรียกว่า “รายได้หลัก” เลยที่เลี้ยงชีพเราได้เลย เพราะว่า1 คนได้เงิน 5,000 บาท ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง-เต็มที่2 ชม.ถ้าพูดคุยด้วย เราก็จัดการเลยค่ะว่าเดือนหนึ่งเราอยากได้กี่บาท แบบนั้นเลย ถ้าเกิดเราอยากได้ 5 หมื่นเราทำ 10 คน ใน 10 คนเราใช้เวลา 2 วันเท่านั้นเองค่ะ เราว่าง 28 วันเลย”
เริ่มทำเกษตรแบบจรรโลงใจ(ก่อน) ความเป็นนักเล่าสู่ที่มา “งานแปรรูป”
ต้นไม้จึงแบบค่อย ๆ มา ก็คือปลูกเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ที่มันเป็นของที่มันทานได้ ก็เริ่มปลูกที่ระเบียงบ้านเยอะขึ้น อันนั้นก็ยังไม่เรียกว่าการเกษตรอะไรมากตอนนั้นก็คิดแค่ว่าปลูกให้มันได้กิน บวกกับพอมีโอกาสได้ไปข้างนอกบ่อย ๆ ครั้งแล้วก็มีคนเริ่มเชิญไปให้ความรู้ในสิ่งที่เราทำ ก็เลยคิดว่าลองไหมเราลองแบบจากการที่เราทำกิน เราลองแบบแนะนำคนว่าเราทำกินน่ะแล้วสูตรมันทำแบบนี้ วิธีทำมันทำแบบนี้ ช่วงนั้นเฟซบุ้คเป็นอะไรที่ดังมาก ก็เลยทำอะไรไปก็จะแชร์“แชร์วิธีว่าแบบอ้าวทำแบบนี้นะ ทำแบบนี้นะ เขียนไปแบบเยอะมาก ๆ ในหนึ่งโพสต์ของเราก็จะเขียนตั้งแต่เริ่มหาวัตถุดิบไปจนแบบรรยายวิธีทำ ไม่มีคลิปสมัยนั้นไม่ได้เป็นคลิป” ก็ทำแบบนั้นมาเรื่อย ๆ ผู้คนก็เลยรู้จักปูเป้มาเรื่อย ๆ เราก็เลยได้มีโอกาสไปตลาดที่มี “เกษตรอินทรีย์” ก็จะไปเจอผู้ค้าที่ขายของเริ่มไม่หมดอย่างเช่น มะเขือเทศเหลือ มีมะละกอเหลือ มีฟักทองเหลือ ฯลฯ ปูเป้ก็เริ่มที่จะหิ้วกลับบ้านเอาไปลองซิว่าเราแปรรูปได้ไหม เราสามารถปรับให้มันเป็นอะไรได้บ้าง ที่มันไม่ต้องทิ้ง แล้วเพิ่มมูลค่าของมันขึ้นมาอีกได้ “จริง ๆ ปูเป้เริ่มแปรรูปจากพืชผักที่ตัวเองปลูกก่อน แล้วก็แนะนำไปในเฟซบุ้คว่าวันนี้ฉันปลูกมะเขือเทศ มะเขือเทศฉันโตมากเลยฉันก็เก็บมะเขือเทศได้ประมาณครึ่งกิโลฯ ทุกวันเลยแต่ฉันกินไม่หมด” เราก็มาเลือกหาว่าแล้วมะเขือเทศมันทำอะไรได้บ้าง ปูเป้ก็จะมาหาเมนูแล้วก็ดูว่าเรากินอะไรเราทำแบบนั้นออกมา “พอทำปุ๊บเนี่ยเมนูแรกก็เป็น ซอสมะเขือเทศ พอทำออกมาก็ใส่กระปุกที่เราพอมีอยู่ในบ้าน เราก็ถ่ายรูปอวดเป็นเรื่องปกติธรรมดา” มันได้หลายกระปุกเวลาเราไปเจอเพื่อนเราก้เอาไปแจก ไม่ได้นึกถึงเรื่องของการทำขายนึกถึงเรื่องของการแปรรูปจากสิ่งที่เรามี พอเราปลูกกะเพรา กะเพรา1 ต้นคือพุ่มใหญ่มาก! แล้วมันก็ปลูกครั้งเดียวกินไม่หมดปูเป้ก็มาคิดว่านอกจากเราเด็ดไปทำผัดกะเพราแล้วมันทำอะไรได้บ้าง “ก็เลยมาเป็นซอสเพสโต้แบบกะเพรา ส่วนหนึ่งก็คือดูสูตรว่า(ในอินเตอร์เน็ต) เขาเอาไปทำอะไรแล้วก็ใช้ผักอะไรทำ แต่เราใช้กะเพราแทนได้ไหมเขาใช้โหระพา /อิตาลี เราใช้กะเพราได้ไหม” ก็คือใช้วิธีแบบนั้นทำมา จนทำให้เป็นที่รู้จักกันในหมู่เกษตรอินทรีย์เพื่อน ๆ เขาก็มักจะเรียกว่า นี่นักแปรรูปต้องคนนี้เลย! แล้วก็ใครมีอะไรก็มักจะแบบบางวันก็ส่งมาให้ที่บ้าน
ก็ทำมาเรื่อย ๆ บวกกับเราก็ทำทานเองด้วย เราก็ทานก่อนเราชอบไหมรสชาตินี้ ชอบ อ้าวทำแจกพอทำแจกทีนี้กลายเป็น “มีขายไหม?” บวกกับขณะเดียวกันปูเป้ก็เริ่มมีคอร์สสอนที่บ้าน อย่างเช่นเป็นคอร์สสอนทำขนมไทยห่อใบตอง จากความรู้พื้นฐานที่เราเคยสะสมมาตั้งแต่เด็กแบบนั้นเลย แล้วก็ถักโครเชต์ ที่เราทำมาตั้งแต่เด็กแล้วเราทำได้พวกนี้เราก็ลองเปิดคอร์สสอนดู หรือทำสบู่ได้เราก็ลองเปิดคอร์สสอนแล้วก็ได้การตอบรับที่ดี คือนักเรียนมาเรียนที่บ้านก็เป็นคลาสทั้งแบบว่าตัวต่อตัว มาเป็นกรุ๊ป“อะไรอย่างเงี้ยค่ะ เราก็เอาซอสที่เราทำนี่แหละเป็นอาหารว่างให้นักเรียน กลางวันปุ๊บเราก็แบบหาเมนูแล้ว ย่างปลาราดด้วยซอสของเรา เป็นสเต็กปลา คนกินก็อึ๊ย! ซอสซื้อที่ไหนอย่างเงี้ยค่ะ(หัวเราะ) มันก็เริ่มมาจากแบบ อ้าวครูทำซอสขายด้วยเหรอคะ บอกไม่ได้ทำขายทำไว้ทานแต่มันก็เริ่มจากตรงนั้นมา เราก็เลยรู้ว่าเออเดี๋ยวครั้งหน้าเราทำใส่ตู้เย็นทิ้งไว้ เผื่อนักเรียนมากินแล้วชอบก็ซื้อกกลับบ้าน”ก็เลยทำเยอะขึ้นเรื่อย ๆ หมายถึงว่าปูเป้เนี่ยทำทุกอย่าง ตั้งแต่ของกิน ของใช้ คือทำใช้ทำกินเองแต่ว่าจาก 1 ชิ้น ทุกอย่างก็เลยเริ่มแบบ 3 ชิ้น 5 ชิ้นและเยอะขึ้นเรื่อย ๆ คือทำมาแบบนั้นเลย
“แล้วเวลาคนเชิญไปก็จะบอก คุณปูเป้เราอยากเชิญคุณปูเป้ไปให้ความรู้คู่ขายของ ก็จะแบบเราไปให้ความรู้/เวิร์กช้อปทำโน่นนี่สาธิตทำนู่น คุณปูเป้เรามีพื้นที่ให้คุณปูเป้สามารถเอาผลิตภัณฑ์ที่ทำเองมาวางขายได้ด้วยตลอด1 0 ปีเรียกได้ว่าประมาณ 10 ปีเต็ม ๆ ก็จะใช้ชีวิตประมาณแบบนั้น”
ผลพลอยจากปลูก “ผักพื้นที่จำกัด” สู่ Challenge ลองขยายพื้นที่ทำแบบจริงจัง
เมื่อก่อนปูเป้อยู่คอนโดแล้วก็ขยับไปอยู่บ้านที่ มีแต่ระเบียงเหมือนเป็นทาวน์โฮม ไม่มีพื้นที่ เพราะว่าอยู่คนเดียวก็จัดสรรพื้นที่ที่เรามีแต่ว่า “ปลูกผัก” แค่ว่าเราปลูกกินของเรานิด ๆ หน่อย ๆ“แต่มันก็แบบเหมือนเราอินสไปร์คนอื่น คนอื่นก็อินสไปร์เรา ก็คือเหมือนแบบ Wow! ในสิ่งที่เราทำเฉยเลยอะไรอย่างเงี้ย โอ้โห! ทำไมคุณปูเป้ปลูกมะเขือเทศงามมาก เราก็งงตัวเองเออทำไมเขาปลูกกันยากเหรออะไรอย่างเงี้ย อ้าวเหรอ คือเหมือนเราเคยทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่บ้านที่ต่างจังหวัดใช่ไหมแล้วเราก็รู้สึกว่าพอเรามาทำที่กรุงเทพฯ มันก็โตเลย ปลูกกะเพราก็คือโต ปลูกพริกก็คือพริกก็ดกมากอะไรแบบนี้ค่ะ ด้วยความรู้พื้นฐานของเรานี่แหละเราก็ใช้ดินที่หมักจากเศษอาหาร เอาเศษอาหารที่เราทำในครัวมาหมัก มีไส้เดือนที่เพื่อนให้มา อะไรแบบนี้ค่ะมันก็กินของมันย่อยของมันแล้วเราก็ปลูกแค่นั้นเลย” เขาก็จะถามว่าใช้ “ปุ๋ย” อะไร? ทีนี้ต้องยอมรับอันหนึ่งว่าจริง ๆ ปูเป้ไม่ได้รู้จักปุ๋ยตัวเลขเลย ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เลย คนก็จะงงว่าไม่ได้ใส่ปุ๋ยแล้วทำไมมันโต “แล้วอาจจะเป็นจังหวะที่ดีคือเราปลูกบนระเบียง ซึ่งระเบียงมันเป็นอะไรที่แมลงน้อยด้วยหรือเปล่าอะไรอย่างเงี้ยค่ะ คนก็จะถามว่าไม่มีแมลงเหรอก็สวนก็ไม่มีเนาะอะไรอย่างเงี้ย ไม่ได้กำจัดอะไรไม่นะอื้อก็ปกติอะไรเงี้ย มันเหมือนกับทุกอย่างเข้าที่กันหมดเลยค่ะแล้วก็จังหวะเราได้ด้วย” ปลูกแตงซึ่งแตงกวาเรามันก็ดกมาก แล้วเราปลูกแค่ 2 ต้นก็เก็บกินทุกวันเลย ถั่วฝักยาวก็แบบฝักก็แบบฝักก็ยาวอย่างนี้เลย เราก็เริ่มพอคนว้าว! เราก็เริ่มโอ๊หรือว่าเราต้องว้าว! ตัวเอง เราก็กลับมาว้าวตัวเองโอเคเราน่าจะเป็นคนที่แบบปลูกพืชผักสวนครัวได้งาม เพราะฉะนั้นเราแชร์เรื่องนี้ไปด้วยเลยเราก็เลยไปด้วยว่า เราปลูกแบบนี้ เราทำแบบนี้ ก็ควบคู่กันไป
จนกระทั่งวันหนึ่งอยากจะย้าย “บ้าน” ที่มันมีพื้นดิน เราเริ่มรู้สึกสนุกมันแฮปปี้นะมันอยู่ในบ้านแล้วเราก็ได้ทำงานในบ้านด้วยเราก็ทำได้หลากหลาย“อะไรแบบนี้ค่ะมันก็เลยเป็นที่มาว่าปรึกษากับคุณแฟนตอนนั้น ว่าอยากจะซื้อบ้านอะไรเงี้ยอยากมีบ้านสักหลัง
เขาก็เลยแนะนำว่าหมู่บ้านนี้น่าจะเหมาะกับเราน่าจะเหมาะกับปูเป้นะ เพราะว่าหนึ่งคือเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่มาก ๆ คือหลายพันหลังคาเรือน สองก็คือเป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างเปิด(เปิดหมายถึงว่า) ทำมาหากินค้าขายได้อะไรแบบนี้ค่ะและก็ น่าอยู่เราก็เลยตัดสินใจมาดูก็เลยเป็นบ้านหลังนี้ขึ้นมา” บ้านหลังนี้ก็ 5 ปี คือมาจากไม่มีอะไรเลยเป็นแบบแห้ง ๆ แล้ง ๆ เลยจนเจ้าของบ้านบอกว่าให้ปูหญ้าให้ไหม เพราะความที่มันแห้งแล้งมาก เราก็เลยบอกว่าไม่ต้องทำอะไรให้เลย“เราก็เลยแบบค่อย ๆ ช่วยกันทำมากับพี่หนึ่งซึ่งเป็นแฟนก็ตอนนั้นก็ค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ แล้วก็สะสมทุกอย่างรวมไปถึงความรักของเราด้วย (หัวเราะ) ก็อบอวลอยู่ในนี้” แล้วก็จังหวะที่ได้บ้านหลังนี้ก็เป็นจังหวะโควิด! ได้บ้านปลายปี ต้นปีโควิด-19 มาเลย! มันก็เลยทำให้แผนชีวิตเราค่อนข้างเปลี่ยน คือจากที่คิดไว้ว่าจะเอาบ้านหลังนี้ไว้สำหรับทำพวกเวิร์กช้อป ทำสตูดิโอ ทำเกี่ยวกับเรื่องงานเราทั้งหมดเราก็เลยเลือกบ้านหลังเล็กแล้วก็พื้นที่ข้างนอกใหญ่ เพราะว่าเรายังมีบ้านอีกหลังที่อยู่ใกล้ ๆ กันเราก็คิดว่าเราจะอาศัยบ้านนั้นอยู่ พอเจอโควิดฯ เข้าไปมันไม่ได้ ก็เลยต้องย้ายเพื่อมาอยู่ที่บ้านหลังนี้เป็นหลัก
“แต่ในขณะเดียวกันโควิดฯ มันทำให้ปูเป้ไม่ได้ว่างเลย ก็คืองานแปรรูปเนี่ยมันเยอะขึ้นมากเพราะว่า มันเป็นทั้งของกินของใช้ที่เป็นปัจจัยหลักของทุกคน จากเคยซื้อ 1 ก็เป็น 5 เพราะฉันกลัวอดทุกคนเป็นเหมือนกันหมดค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาปูเป้ขายก็จะบอกว่าทุกคนใจเย็น ๆ นะแบ่งกัน เดี๋ยวก็จะทำให้เรื่อย ๆ” ทุกอย่างขายดีทุกอย่าง ถ้านับย้อนไปว่าวันนั้นปูเป้เปิดแค่ร้านสักคิ้ว ปูเป้จะยังมีชีวิตอยู่ไหมในช่วงโควิดฯ (หัวเราะ) เราก็ต้องปิดร้านเหมือนร้านนวด ร้านสักคิ้ว ร้านอาหาร ฯลฯ ถูกปิดตัวลงในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยรู้สึกถึงความโชคดีของตัวเองว่าเรามาถูกทางแล้ว
จากปลูกผักในบ้านใคร ๆ ก็อยากได้ ปลูก “ดอกไม้กินได้” ด้วยอันนี้ก็ขายดี!
พอเราเริ่มปลูกไปเรื่อย ๆ จนมันเต็ม! มันเต็มพื้นที่แล้วเราก็ ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวเราลองแบ่งต้นผักเป็นต้น ๆ ให้เพื่อนบ้านที่ละแวกใกล้เคียงว่า ใครอยากได้ผักอะไรก็มาซื้อที่บ้านเราก็แล้วกัน ก็เลยลงที่กลุ่ม “หมู่บ้านสัมมากร” ที่เขาขายของ เราก็แค่แนะนำว่าบ้านเรามีต้นผักนะ“นั่นล่ะค่ะเท่านั้นเอง (หัวเราะ) มันหมดบ้านเลย! คือแบบคนมากันตลอดเรียกได้ว่า 8 โมงเช้าไปจนถึง 1 ทุ่ม มากันทุกวัน” คนมาตลอดจนเราต้องเริ่มปรับ ว่าเราจะเปิดวันไหน ปิดวันไหน เพราะไม่งั้นคือบางที 07.00 น. หลับ ๆ อยู่มีคนสั่นกระดิ่งหน้าบ้านเรียก “มาเดินดูผักหน่อยจ้า” โอ้โหมาตลอดเวลาเราก็เลยต้องจัดการ“ในขณะเดียวกันความโชคดีก็คือ ปูเป้ก็จะสั่งของเพื่อน ๆ น่ะค่ะมาทานเป็นประจำอยู่แล้วอย่างเช่น ผลไม้ก็มาเป็นลัง ไข่ก็มา(ตอนนั้นยังไม่ได้เลี้ยงไก่) เป็นแผง ๆ พอลูกค้ามาเห็นกระเทียมเราแขวนอยู่ กระเทียมขายยังไง ไข่ขายยังไง เราสั่งฟักทองมา ฟักทองขายยังไง เราก็เลยว่าเอ๊อมันก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีเว้ยถ้าอย่างนั้น เราก็สั่งของจากเกษตรกรน่ะค่ะให้เขามาส่งที่บ้านเราแล้ววางเลยจัดขึ้นชั้น ค่ะ แล้วก็ลูกค้ามาเลือกซื้อ กับอีกอันหนึ่งก็คือพรีออร์เดอ วันศุกร์จะมีนมมาลงเรามีนมแพะ นมวัวที่เป็นออร์แกนิคค่ะ สั่งก่อน&ชำระเงินแล้วมารับ แบบนี้ค่ะ” ก็เริ่มเป็นการจัดการแบบนั้น แต่ก็ทำอยู่ได้ประมาณสัก 5-6 เดือนซึ่งไม่ไหว เพราะว่าทำคนเดียวสามีเริ่มกลับไปทำงานเริ่มเข้าที่ ไม่ไหว! เราก็เลยแบบรู้สึกว่าเฮ้ยไม่ได้การแล้วต้องเบาบางอย่างลง ในขณะที่สวนก็เริ่มแบบต้นไม้ที่ปลูกไว้ทั้งหมดเริ่มหมด ก็แบบเพื่อน ๆ ที่ทำเกษตรในเมืองที่เขาปลูกเป็นต้นขายใครอยากขายอะไรเอามาวางได้นะ คนก็กลัวอดเหมือนเดิม คือต้นละ 200 ก็ซื้อ อะไรแบบนั้น
บวกกับทีนี้พอคนเริ่มจากการปลูกไปด้วย เพราะว่าเขามีตู้เย็นชั้นดีแล้วเขาซื้อผักเราไปยกกระถางเขาแค่รดน้ำเขารู้สึกว่ามันงามแฮะปกติ ซื้อจากร้านต้นไม้ทั่วไปป่านนี้ตายไปแล้วมันก็จะเริ่มเห็นผลว่า กลับมาถามว่าคุณปูเป้ขอซื้อ “ดิน” หน่อยดินคุณปูเป้คือปลูกผักงามมากเลย ดีมากเลย“เราก็ไปหาดินที่ไหนล่ะ เราก็ไปตักดินในเข่งที่เราหมักรอบบ้านนะค่ะใส่กระสอบขาย กระสอบละ 40 บาท คนก็ซื้อ! เราก็แบบเราก็ซื้อดินเนาะก็เอามาหมัก หมักตั้ง 3 เดือนน่ะกว่าเราจะได้อย่างเงี้ย เราก็เหมือนแบ่งขายเพราะเราไม่ได้คาดคิดว่าคนจะกลับมาเยอะขนาดนั้น” ก็เลยไปปรึกษา “คุณลุงสุเทพ” ซึ่งคุ้นเคยกันอยู่แล้วคุณลุงเป็นนักวิจัยดินเอาสูตรของปูเป้มาแล้วก็มามิกซ์กับของลุงแล้วเรามาดู วิจัยออกมา ผลการวิจัยออกมาโอเคแบบดีมาก ๆ คุณภาพดินดีมาก ๆ ก็ได้คุณลุงสุเทพช่วย
“อย่างอันนี้ที่กำลังทำอยู่ก็คือดอกไม้ ดอกไม้เนี่ยถ้าเราขยันโพสต์ขายนะคะให้คนที่อยู่ใกล้รับรู้ว่าเรามีสิ่งนี้อยู่ในมืออย่างเงี้ยค่ะ
เขาก็จะกระจายกันไปเนี่ยมันก็จะ คือเราเอาแคบ ๆ ก่อนเพราะว่าตามกำลังการผลิตของเรานะคะ อย่างดอกไม้ปูเป้ก็จะใช้วิธีโพสต์แค่ในหมู่บ้านเพราะเรารู้ว่าศักยภาพของเราคือวันหนึ่ง 3 กล่อง 4 กล่อง ถ้าเยอะไปกว่านั้นดอกไม้เราอาจจะไม่ทันนะอะไรแบบนี้ค่ะ อันนี้ก็คือปูเป้ก็เก็บดอกไม้ขายดอกไม้กินได้ก็เก็บขายแบบนี้ไปนะคะ ก็คือสามารถสร้างรายได้อย่างเงี้ยทั่ว ๆ ไปราคาสแตนดาร์ดก็คือกล่องละ 100 บาท ถ้าเราขายแบบนี้ได้ทุกวัน วันละสัก 2 กล่องเราก็จะได้ 200 บาท” บวกกับผักเคลที่ปูเป้ปลูกก็ตัดสดขายให้ลูกค้า ก็จะทำเป็นถุงละ 100 บาท แต่จะทำเฉพาะออร์เดอที่ลูกค้าบอกว่าโอเควันนี้ขอสั่งผักหน่อยค่ะ ก็จะทำเฉพาะที่มันมีออร์เดอก็คือตัดสดไม่ได้แบบตัดแล้วก็ใส่ถุงใส่ตู้เย็นวางไว้แล้วก็โพสต์ขายไม่ใช่ เราจะโพสต์เป็นต้นให้ลูกค้าดูเลยว่ามีแบบนี้นะคะขายถุงละ 100 บาทลูกค้าสั่งได้ ก็จะมีลูกค้าที่เขาชอบผักสดแล้วก็เหมือนว่าเขาทานผักตามท้องตลาดแล้วเขาก็เริ่มรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย เขาก็สั่งผักเราก็ได้แล้วสมมุติว่า วันหนึ่งเอาสัก1 ถุงก็ได้แล้ว 100 บาท ก็รวมเป็น 300 บาทแล้วต่อวัน ซึ่งจริง ๆ มันอาจจะได้มากกว่านั้นขึ้นอยู่กับว่า ผักของเรามันเก็บได้มากน้อยขนาดไหน
“อันนี้เป็นรายได้กรุ๊บกริ๊บ ๆ นะคะที่พูดให้ฟังก่อนว่า มันก็เป็นรายได้โดยที่เราไม่ได้คาดคิดนะสิ่งพวกนี้ “ไข่ไก่” ก็เหมือนกัน! อย่างเงี้ยค่ะเราเลี้ยงไปอ้าวไก่เราเยอะมันก็เริ่มฟักไข่บางช่วงก็คือวันหนึ่งเป็น 10 ฟอง ถ้าทุกแม่พากันไข่ตอนนี้มีไก่อยู่ทั้งหมด 16 ตัว ก็จะไข่อยู่ประมาณสักวันละเฉลี่ยคือ 7-10 ฟอง ถ้าเกิดเป็นช่วงที่ทิ้งช่วงหน่อยก็คือ 3 ฟองถึง 5 ฟอง ก็พอกิน ช่วงที่เยอะก็จะแบ่งขายเพื่อนบ้านตรงนี้ก็เป็นรายได้ แต่ว่าขายไปฟองละ8 บาทอะไรแบบนี้ค่ะ ขายไปบ้านโน้น 10 ฟองบ้านนี้ 10 ฟอง” สมมุติว่าอาทิตย์หนึ่งเราขายไข่ได้ 30 ฟอง เราก็จะได้ค่าอาหารไก่ 1 เดือน โดยที่เราไม่ต้องใช้เงินส่วนตัวควักออกไปในการซื้ออาหารให้น้องไก่ อาหารของน้องไก่ที่นี่ก็จะเป็นแทนคุณออร์แกนิคฟาร์มก็คืออาหารที่เป็นออร์แกนิคเลย
เลี้ยง “ไก่ไข่กินเอง” อย่างไรในหมู่บ้าน? ไม่ให้รบกวนหรือมีปัญหากับคนอื่น
ถ้าใครอยากจะเลี้ยงไก่หนึ่งแนะนำก่อนว่า สิ่งสำคัญเลยสำคัญสุด ๆ เลยให้เราเช็กเพื่อนบ้านเราก่อน ก่อนที่เราจะบอกว่าฉันอยากเลี้ยงแล้วฉันไปซื้อ เราต้องเช็กเพื่อนบ้านว่าอุปนิสัยใจคอเพื่อนบ้านเราเป็นยังไง ระยะห่างจากบ้านเรากับบ้านเพื่อนบ้านเป็นยังไง ไม่ว่าเราจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอะไรก็ตาม 1. กลิ่น มีแน่ ๆ ไม่ว่าอะไร 2. เสียง มีแน่ ๆ ทีนี้เราดูเพื่อนบ้านเราแล้ว เราค่อยมาตัดสินใจว่า เราควรเลี้ยงชนิดนั้น ๆ หรือเปล่า?“อย่างปูเป้เนี่ยดูแล้วทุกอย่างโอเคโชคดีนะคะ เพื่อนบ้านน่ารัก ทุกคนคือแฮปปี้กับสิ่งที่เราเป็นแล้วก็สนับสนุนโดยการแบบซื้อผลิตภัณฑ์เรานะคะ แล้วก็พูดคุยกันถามไถ่ตลอดเวลาว่าเออ ตรงนี้โอเคไหม มีอะไรรบกวนไหม อะไรแบบนี้ค่ะ อันนี้ก็คือเป็นเรื่องของเพื่อนบ้านก่อน เราตัดสินใจ การที่เราจะหาพื้นที่ในการทำบ้านให้สัตว์เลี้ยงก็คือ1.ไม่ควรอยู่ติดกับห้องของใครกับเพื่อนบ้านไม่ควรจะเป็นห้อง อย่างด้านนี้ก็คือจะเป็นโรงจอดรถของอีกบ้านหนึ่ง อย่างสเปซอันนี้ก็คือมีห้องนอนน้องแต่คือเราก็เป็นแบบกรงเล็กที่ไม่มีเสียง แบบเราก็ดูแล้วไก่ตรงนี้เขาไม่ส่งเสียงถ้านั่งมาหนึ่งวันก็จะรู้สึกเลยว่าบ้านนี้ไม่มีเสียงเลย ก็เล็ก ๆ อะไรแบบนั้น ก็คือจัดการแบบดูเพื่อนบ้านแล้วก็ดูพื้นที่ของเรา”ในเรื่องของจำนวนเวลาถ้าเราอยากจะเลี้ยงก็ต้องดูว่า เราเหลือพื้นที่เท่าไร เพื่อให้บรรดาสัตว์เลี้ยงของเราอยู่กันแบบสบาย ๆ ไม่แออัดจนเกินไปอย่างของปูเป้ก็จะมีสเปซให้เขาเดินในสวนเปิดให้เขาออกมาเดินเล่นได้ โดยปกติเขาก็จะเดินอยู่ข้างนอก “สำหรับปูเป้เนี่ย ไก่ เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีประโยชน์สำหรับตัวเองนะคะแล้วก็เหมาะกับ สไตล์ชีวิตของตัวเองก็คือไก่เพราะว่าส่วนหนึ่งคือปูเป้ไม่ได้ทานเนื้อสัตว์ก็เลยรู้สึกว่า เราเลี้ยงไก่เราสามารถกินไข่เขาได้ ไม่ได้เลี้ยงไก่แค่สวยงามเฉย ๆ ไม่เอาไม่มีเวลาขนาดนั้นนะคะแต่อันนี้ก็คือไข่แล้วก็ สองน้องไก่ไม่ค่อยสร้างปัญหาในการ อึ/ฉี่ อะไรไปทั่วเพราะว่าเขามี “ที่” ของเขา สามคือน้องไก่เนี่ยดูแลง่ายด้วยการแบบ เราไม่อยู่บ้าน 3 วันเราใส่อาหารเขาก็ยังอยู่ได้ ถ้าเรามีกรงที่แข็งแรง จัดการน้ำจัดการอาหารที่ใส่ให้เขาให้เรียบร้อย” คือพยายามอย่ารู้สึกว่าเราทำอะไรแล้วเป็นภาระ เมื่อเป็นภาระมันจะทำให้เรารู้สึกว่าไปไหนก็ไม่ได้ อยากจะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองทำก็ไม่ได้ถึงแม้จะบอกว่าเออแบบนี้มันก็มีความสุขนะ แต่มันยังไม่ใช่เสียทีเดียว การจัดการเรื่อง “กลิ่น”(ที่นี่ไม่มีกลิ่นรบกวนจากเล้าไก่เลย) คุณปูเป้บอกว่าจะกวาดทำความสะอาดทุกวันเพื่อไม่ให้ชื้น โดยใช้แกลบดิบและก็ทรายช่วยในการซับจะใช้วัสดุ2 อย่างนี้ให้ไก่คุ้ยเขี่ยเล่นอย่างสบายใจแล้วก็ไม่ให้ชื้น พอไม่ชื้น-กลิ่นก็จะไม่มี เราทำความสะอาดทุกวันสิ่งที่ได้ก็คือ “ปุ๋ย” โดยจะนำมูลไก่ไปหมักกับเศษอาหารที่เราทำอาหารเหลือในครัวหรือแปรรูปต่าง ๆ ที่บ้านจะไม่ได้ทิ้งเศษอาหารออกนอกบ้านเลย
การสร้างรายได้แบบมีเป้าหมาย สไตล์ “ปูเป้ทำเอง”
คุณปูเป้ “สุพัตรา ไชยชมภู” เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์แปรรูป และ สวนเกษตรคนเมือง “ปูเป้ทำเอง” ยังบอกด้วย รายได้หลัก ๆ เลยตอนนี้ก็คืองานแปรรูป ปูเป้ก็ทำหมุนเปลี่ยนกันไปตั้งแต่แชมพู สบู่อาบน้ำ ซอสปรุงรสต่าง ๆ เครื่องดื่มต่าง ๆ ฯลฯ ปูเป้ก็จะมีไลน์ร้านค้าของตัวเองเราก็จะขายผ่านในไลน์ร้านค้า ซึ่งเป็นไลน์ร้านค้าที่ลูกค้ายินดีที่จะมาอยู่ในร้านค้าของเรา อันนี้ก็คือถ้าใครอยากจะอุดหนุนผลิตภัณฑ์เชิญที่ไลน์เพราะว่าเราจะขายในนั้น ก็จะบรอดแคสต์ถ้าอยากมีรายได้ทุกวันก็สามารถขายได้ทุกวัน “อย่างเช่นยกตัวอย่างนะคะ วันนี้ปูเป้จะขายน้ำส้มสายชูจากดอกอัญชันมีทั้งหมด 15 ขวด ค่ะ ลูกค้าในไลน์ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 คน ก็จะจับจองถ้าเป็นสายของเขา อ่ะวันรุ่งขึ้นปูเป้ก็จะบอกว่าอ้าวรอบส่งดินประจำสัปดาห์นี้ของคนกรุงนะคะเราจะส่งดินทุกวันอาทิตย์ที่เท่านี้ ๆ อย่างเงี้ยค่ะบรอดแคสต์ไป ลูกค้าก็จะสั่งดินกลับมาก็จะเป็นรายได้” อันนี้ก็แล้วแต่ว่าเราจะขายผลิตภัณฑ์อะไร ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ร้านของตัวเอง
“ในกรณีที่เคยแบบ หงุดหงิดจังเลยวันนี้เงินหมดบัญชีเพราะว่าทุกวันที่ 5 ของเดือนเงินฉันร่อยหรอมากเลยอะไรอย่างเงี้ย เราก็จะคิดเลยว่าพรุ่งนี้ฉันจะอยากได้เงินสัก 5,000 เอาไปช้อปปิ้งอะไรอย่างเงี้ย (หัวเราะ) สมมุตินะคะเอาไปทำอะไรก็ได้ ฉันอยากจะได้ 5,000 ไปช้อปปิ้งฉันก็ต้องคิดแล้วว่า พรุ่งนี้เราจะโพสต์ขายอันนี้ ถ้า 10 ขวดได้ 150 ใช่ไหมอันนี้ อันนี้ โอเคขายหมดนี่จะได้ประมาณ 8,000 เผื่อขายไม่หมดก็น่าจะได้อยู่ที่ 5,000 บาท แบบนี้ค่ะ”อันนี้คือวิธีมันอาจจะดูแปลก ๆ สำหรับคนอื่นว่า อ้าวอยากได้ก็ขายเลย! คือกว่าเราจะมาถึงจุดนี้ นั่นหมายความว่าปูเป้ต้องมีทุกอย่างสะสมไว้แล้ว ทำไว้แล้ว แล้วก็สมมุติว่าเดือนนี้ทั้งเดือนเราเกเร เราแบบทำอะไรก็ได้ที่มันไม่มีรายได้เลย แต่เราก็จะรู้ว่า เราจะมีรายได้จากตรงไหนด้วยการจัดสรรวันของเราว่า พรุ่งนี้ฉันจะสอนทำอันนี้ วันเสาร์หน้าฉันจะต้องใช้เงินเท่านี้ เราก็จะแบบ manage ไว้มีปฏิทินของเราว่า เราควรทำอย่างงี้ ๆ ถ้าเราลงปฏิทินได้ครบ สมมุติว่าอย่างกลับไปที่เดิม เราอยากมีรายได้1 แสน ปฏิทินยกขึ้นมาเลยวันที่1 ทำอะไรได้เท่าไหร่ เราต้องคิด “ฉันจะสักคิ้วทุกวันที่1 สิบคน 5 หมื่นบาท” วันที่ 10 เราจะขายดินให้ได้ 100 กระสอบ เราจะได้รายได้จากตรงนี้ 5,500 บาท อย่างเงี้ยก็จะเขียนไว้แบบนั้น หรือว่าอาจจะไม่ได้ฟิกซ์แบบนั้นอาจจะฟิกซ์ว่า เดือนนี้ทั้งเดือนเราจะต้องขายดินให้ได้ 500 กระสอบ เราก็จะจัดสรรว่าเราจะขายยังไง ให้รายได้ทั้งหมดมันบวกแล้วโอเค ถ้าเราทำตามแผนนี้เราจะมีรายได้ที่เราอยากได้1 เดือนนี้แล้ว ในกรณีที่มีงานเสริมโน่นนี่นั่นถือว่าเป็นกำไรที่มันเกินกว่าที่เราคาด “เพราะว่ามันก็จะมีคนมาซื้อดินหน้าบ้าน มันก็จะมีงานเชิญ(แบบฉุกเฉินก็มีค่ะ) หรือว่างานมาขอถ่ายสวนแบบนี้มาสัมภาษณ์มีค่าขนมให้คุณปูเป้อะไรแบบนี้ค่ะ มันก็จะมีด้วยกันหลากหลาย รายได้มันก็เลยจะก่อเกิดจากทุก ๆ อย่างที่ปูเป้ทำเลย”
อีกอย่างหนึ่งคือ ปกติปูเป้จะเปิดเวิร์กช้อปเปิดสอนที่บ้านอยู่แล้ว อันนี้ไม่นับรวมที่องค์กรต่าง ๆ หรือตลาดหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่เชิญเราไปออกงานอันนั้นก็จะเป็นรายได้อยู่แล้ว ก็คือเป็นวิทยากรบ้างพอไปออกงานขายของอย่างเงี้ยก็จะเป็นรายได้ที่ขายได้เยอะกว่าปกติ จากเราเคยขายในไลน์ร้านค้าได้เท่านี้แต่เดือนนี้เรามีออกงานเพิ่มอีก เราก็ต้องผลิตเยอะขึ้นเพราะฉะนั้นรายได้มันก็จะเยอะขึ้นมาอีก ประมาณอย่างนั้นเลย“ทีนี้เวลาที่เราทำอะไรพวกนี้ค่ะ นั่นหมายถึงว่าเราจะต้องดูด้วยว่าในแต่ละงานเนี่ย เราโอเคกับมันไหม เราแฮปปี้กับมันไหม ถ้างานไหนที่เราไปแล้วเราไม่แฮปปี้เราจะรู้เลยว่า นี่ไม่ใช่ตัวเราเนาะ ทีนี้ต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งมวลเนี่ยมันก็เลยเป็นที่มาว่าเราสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องไปใช้สถานที่ของใครเลยนะคะปูเป้ก็เลยเป็นที่มาว่า อยากแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองทำ มันจึงเริ่มจากการสอนตัวต่อตัวซะส่วนใหญ่” มีหมดทุกรูปแบบไม่ได้ตายตัวเลยว่าปูเป้จะสอนอะไร คือสอนการใช้ชีวิตที่ตัวเองทำมาทั้งหมดมันจะเรียกว่า “สอนคนอื่น” ไหม? จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากใช้คำนั้นอยากจะบอกว่ามันคือการ “แบ่งปัน” ถ้าเห็นว่าเรามีความรู้พอที่คุณชอบที่คุณรู้สึกว่า ฉันอยากมีความรู้เรื่องนี้แล้วคนนี้น่าจะใช่ทางของคุณ คุณมาหาเราได้เลย
จริง ๆ คนเราเกิดมามันทำได้เยอะมาก คนหนึ่งคนมันทำได้เยอะมาก เพราะฉะนั้นอย่าเอา “อาชีพ” มาฟิกซ์ว่า ฉันเป็นครู ฉันก็ต้องเป็นครู ฉันเป็นตำรวจ ฉันก็คือเป็นตำรวจ ทำไมเราจะต้องมีอาชีพเวลาคนถามทำไมเราจะต้องมีอาชีพ ตอบให้เขาว่าเรามีอาชีพ ปูเป้ก็เคยคิดว่าถ้าคนมาถามเรา เราจะไปจบที่ไหน ก็เลยตอบไปเล่น ๆ ว่า “108 อาชีพ”จริง ๆ อันนี้เป็นคำพูดที่แบบพูดติดปากเพราะว่าครั้งหนึ่งเคยมีชมรมนี้ของวิทยาลัยที่หนึ่งว่าเป็น ชมรม108 อาชีพ อุ้ย! มันเราเลยนี่หว่า(หัวเราะ) คือแบบว่าฉันทำทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคือปูเป้ก็เลยไม่เคยมีนิยามให้ตัวเองว่า คุณทำอาชีพอะไรเหรอ แต่ว่าที่สำคัญเลยปูเป้ไม่เคยคิดตัวเองเป็นเกษตรกรเลย ไม่เคยมีคำนี้ในหัวเลย เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เนาะ “คือเป้แค่จะบอกว่าสิ่งที่ปูเป้ทำทุกอย่างค่ะอย่าง“ต้นไม้” เนี่ยเป้ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเกษตร เป้ก็คิดว่าตัวเองเป็นคนเมืองที่ทำสวน ประดับบ้านเหมือนทุก ๆ คนนะคะ เพราะว่าไม่งั้นสมมุติว่าคนหนึ่งเดินมาบอกว่าฉันมีแต่ไม้ประดับเต็มเลย แต่เขาก็ไม่บอกว่าเขาเป็นเกษตรเหรอเขาก็ทำต้นไม้ทั้งวันเหมือนกันนะ อะไรอย่างเงี้ย เป้ก็เลยบอกว่านี่มันคือสวนหน้าบ้านมันไม่ใช่การเป็นเกษตรกรใด ๆ นะคะ อย่าไปแบบคิดว่าฉันทำเกษตรแล้วฉันต้องเป็นเกษตรกรเนาะส่วนตัวก็คิดแบบนั้นว่า ไม่ เราคือการทำสวนหน้าบ้านของเรา ในสไตล์ของเรานะคะ สิ่งที่ปูเป้ทำทั้งหมดนี้ทุกอย่างเลยอ่ะค่ะมันถึงตอบโจทย์ว่า “ปูเป้ทำเอง” แค่นั้นเลยค่ะ”
จากคนกลางคืนที่อยากจะเปลี่ยน “สร้างรายได้” แบบมีความสุขจากเกษตร “คนเมือง” สไตล์ปูเป้ทำเอง ขอบคุณแรงบันดาลใจดี ๆ จากกูรูด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรคนเก่งและแฟชั่นนิสต้าคนสวยเจ้าของสวนผักคนเมืองแบบเก๋ ๆ สไตล์ปูเป้ทำเอง “คุณสุพัตรา ไชยชมภู” ที่กรุณาเปิดบ้านให้เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยเพื่อนำเรื่องราวดี ๆ ที่สร้างความตื่นเต้นไปด้วยกับสิ่งที่ได้เห็นและรู้สึกหัวใจฟูกับทุก ๆ ฟีดแบ็คที่ปูเป้ได้รับมาจากสิ่งที่ตนเองทำและสามารถแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ ได้เสมอตลอดระยะเวลากว่า10 ปีที่ผ่านมา คุณเปลี่ยน! ได้จริง ๆ ทุกสิ่งด้วยความมีใจรักและที่สำคัญคือ “ความสุข” ที่ต้องชัดเสมอ ทำในสิ่งที่รักคือความสุข
สามารถติดตามผลงานหรือสนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรภายใต้แบรนด์ “ปูเป้ทำเอง” ได้ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือ โทร.080-669-2469
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด