การเพาะเลี้ยงไส้เดือน และผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน เป็นการทำเกษตรอินทรีแบบยั่งยืน ซึ่งเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรี นิยมเลี้ยงไส้เดือน และนำมูลไส้เดือนมาใช้ทำปุ๋ย แทนการใช้ปุ๋ยเคมี ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายราย มีการเลี้ยงไส้เดือน และผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนมาใช้เอง และจำหน่าย เช่น "ณัศพงศ์ฟาร์ม" จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น
นายณัศพงศ์ เพชรพันธ์ช่าง (ชาติ) เจ้าของ ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน “ณัศพงศ์ฟาร์ม" และผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนแบรนด์ ชาติไส้เดือน ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เล่าว่า ที่มาทำฟาร์มไส้เดือน และผลิตปุ๋ยไส้เดือนในครั้งนี้ มาจากที่บ้านของตนเอง อยู่ในตลาด เมื่อพ่อค้าแม่ค้า ขายของเสร็จ หรือตลาดวายประมาณ 10 โมงก็จะเก็บข้าวของกลับไป เหลือไว้คือ ขยะที่เป็นพืชผักที่คัดออกทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก หน้าบ้านกลายเป็นกองขยะเป็นภาพที่ไม่น่าดูเลย กว่าเทศบาลจะมาเก็บก็ต้องบ่ายๆ ไปแล้ว
ทั้งนี้ ก็เลยคิดว่าจะต้องหาวิธีจัดการขยะเหล่านี้ได้อย่างไร ครั้นจะเลี้ยงสัตว์ใหญ่ พื้นที่บ้านเราก็ไม่เอื้ออำนวย ก็เลยได้ออกมาเป็นการเลี้ยงไส้เดือน นำผักที่เป็นกองขยะที่หน้าบ้านของเรามาเป็นอาหารของไส้เดือน หลังจากที่ทดลองเลี้ยงไส้เดือนมาได้สักระยะได้มูลไส้เดือน ทดลองมาใช้กับแปลงปลูกผัก พืชผักที่เราปลูกก็เจริญงอกงามดี ตอนหลังก็ทำขาย หลายคนจะรู้จักในชื่อแบรนด์ว่า ชาติ ปุ๋ยมูลไส้เดือน
นอกจากทำปุ๋ยมูลไส้เดือนขายแล้ว ในช่วงวันหยุด ได้เปิดศูนย์เรียนรู้ ทุกวันเสาร์จะมีคนมาเรียนการเลี้ยงไส้เดือน และการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน คนที่มาเรียนก็ไปผลิตใช้เอง บ้าง บางคนต้องใช้เยอะ มาซื้อกับเราบ้าง ซึ่งเราขายในราคากิโลกรัมละ 35 บาท ถ้าซื้อ 20 กิโลกรัม ขาย 300 บาท ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้บ้าง แม้จะไม่ได้ทั้งหมด เป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิต และเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ดี เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังคงหันกลับไปใช้ปุ๋ยเคมี เพราะเห็นผลที่เร็วกว่า ความฝันที่อยากจะให้เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาได้ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนทำไม่ได้ เพราะชาวนาก็ยังคงเลือกการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ต้องพึ่งเคมีเป็นหลัก ซึ่งทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์เคมีทั้งปุ๋ย หรือ ยาต่างก็ปรับราคาขึ้น เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ยังขายผลผลิตในราคาไม่ได้เพิ่มขึ้น ตามราคาค่าปุ๋ย ค่ายา
นายณัศพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเกษตรอินทรีย์และสิ่งแวดล้อม SDG และยังได้เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไส้เดือนจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันโครงการธนาคารปุ๋ยมูลไส้เดือนมีสมาชิก 8 อำเภอครอบคลุมทั้งจังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ ได้รวมกลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และกลุ่มคนด้อยโอกาส ในการเพาะเลี้ยงไข่ผำ ต้นอ่อนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก และเป็นพืชที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ และเป็นการลดการใช้ดินและปุ๋ยให้น้อยลง เกษตรกรสามารถเลี้ยงในนาข้าวได้ และใช้เพียงแค่ปุ๋ยมูลไส้เดือน เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ไข่ผำเจริญเติบโตได้ ซึ่งไข่ผำจะพบได้ในพื้นที่ลุ่มน้ำสะอาดในภาคอีสานและภาคเหนือ นิยมนำมาทำเป็นเมนูอาหาร หลายชนิดรับประทาน รสชาติไม่ได้มีรสชาติอะไรมาก แต่พอนำไปใส่ในอาหารเพิ่มรสชาติอาหาร ในต่างประเทศ หลายประเทศสนใจพืชชนิดนี้กันมาก แต่ปลูกไม่ได้ เพราะอุณหภูมิไม่เหมาะสม แต่ที่บ้านเราสามารถเพาะเลี้ยงได้ อากาศที่เหมาะสม
ติดต่อ โทร. 06-5479-9987
Facebook : ณัศพงศ์ เพชรพันธ์ช่าง
LineID : Chartearthworm