xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ทำยิมมา 6 ปี ได้การตอบรับดีจากกระแส “เทควันโด”ฟีเวอร์! ฮีลใจจิ๋วมุ่งทีมชาติแห่มาเรียนกับ “โค้ชมาร์ค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยังจำได้ไหม “เจ้ามาร์ค” เชษฐรพี ต่างใจ อดีตจอมเตะทีมชาติไทย เหรียญเงิน ชุดซีเกมส์ที่เมียนมา หลังรีไทร์ผันตัวเองสู่อาชีพ “โค้ช” นักปั้นฝันเทควันโดรุ่นจิ๋ว แห่งสโมสร K.C.S. ดอนเมือง ทำยิมมา 6 ปี จากกระแสฟีเวอร์! เด็ก ๆ แห่มาเรียนกับ “โค้ชมาร์ค”


“ผมทำยิม 6 ปี 4 ปีแรกไม่เคยได้แชมป์ประเทศไทยเลย จากลูกศิษย์ตัวเอง ก็เครียดเลยครับผิดหวังมาก แต่ด้วยความที่เรามีระเบียบวินัยในตัวเองครับ เราซ้อมเหมือนเดิมทำเหมือนเดิม จนตอนนี้ครับ 2 ปีที่ผ่านมา เรามีแชมป์ประเทศไทยที่อยู่ที่ยิมตอนนี้ ประมาณ 4 คน และก็แชมป์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ 1 คน และก็รองแชมป์อีก 1 คน ก็อนาคตครับ ตอนนี้ถ้าเหรียญในประเทศไทยสโมสรเราเก็บมาหมดแล้ว เหลือแค่อย่างเดียวก็คือ ทีมชาติไทย แต่อย่างที่ผมบอกครับทีมชาติไทยเราเป็นแค่เหมือนเราเป็น “โบนัส” แต่สิ่งสำคัญคือตอนนี้มีนักกีฬา 2 คน ที่เป็นรุ่นพี่ครับ ได้ใช้โควตานักกีฬาเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งอันนี้ผมคิดว่า มันประสบความสำเร็จมากกว่าทีมชาติอีก เพราะว่าน้องอย่างน้อยได้ต่อยอดใช้วิชาเทควันโดเข้าไปถึงรั้วมหาวิทยาลัยโดยที่ เราไม่ต้องไปสอบแข่งกับคนอื่นอันนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี”


“โค้ชมาร์ค” หรือ นายเชษฐรพี ต่างใจ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของสโมสร K.C.S.Academy of Taekwondo สาขาเทิดราชัน ดอนเมือง บอกกับเราว่า ตนเองเริ่มเล่นกีฬาเทควันโดมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ สาเหตุที่เริ่มเล่นก็คือว่าตัวเองเป็นคนที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ประมาณว่าที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังคือ เดินแล้วล้ม วิ่งแล้วล้ม ตอนนั้นพอดีทางมหาวิทยาลัยฯ ที่ใกล้บ้านเขามีจัด “ชมรมเทควันโด” ที่เรียนฟรี เราก็เลยไปลองเรียนดู พอเริ่มแข่งไปแข่งมาแมตช์แรกก็ได้เหรียญทองเลย “ที่เดิมที่เราเรียนอยู่เนี่ย มันเรียนแค่ไม่กี่วันเราก็เลยต้อง คุณพ่อคุณแม่เนี่ยหาที่เรียนใหม่ก็จะเป็นที่เรียนที่ อีกที่หนึ่งครับอยู่แถวมีนบุรี ชื่อว่า KG เทควันโด ที่นี่ก็เป็นที่ปลูกปั้นผมและก็สร้างผม มาเป็นตั้งแต่กีฬาเยาวชนทีมชาติจนถึงทีมชาติชุดใหญ่” เริ่มเข้าทีมชาติตั้งแต่อายุ 14 ด้วยความที่เราเป็นคนตัวค่อนข้างใหญ่ แต่ส่วนสูงจะไม่สูงเหมือนคนอื่นเราก็เลยจะเสียเปรียบเรื่อง ส่วนสูง14/ 15/ 16 ผิดหวังมา 3 ปี มาติดทีมชาติเยาวชนปีสุดท้าย 17 ก็อาจจะเป็นเพราะด้วยความที่ ผมอดทนด้วย เราอดทน เรารู้ว่าเราไม่สูงเหมือนเขาเนี่ยเราก็ต้องเร็วกว่าเขา แข็งแกร่งกว่าเขา สะสมมาเรื่อย ๆ ครับ สะสมความท้อ เปลี่ยนความท้อเป็นพลังครับ ความท้อเป็นพลัง วิ่งเช้าเองทำอะไรเอง จนพอ 17 ก็เหมือนฝันครับ ติดเยาวชนทีมชาติชุดเยาวชนโลก เยาวชนโลกที่อียิปต์ แต่น่าเสียดายครับไปแพ้รอบ 8 คนสุดท้าย ถามว่าท้อไหม? ตอนนั้นเรารู้ตัวเองว่าเราเนี่ยสามารถไปต่อได้ในนี้” พอแพ้จากครั้งนั้นมาก็กลับมาซ้อมหนักเลย




จนแมตช์ต่อไป ก็คือไปชิงแชมป์เอเชียที่เวียดนาม แมตช์นี้ก็ได้ “เหรียญแรก” สำหรับการเป็นทีมชาติไทย ได้เหรียญทองแดง พอเราได้ไปอยู่ที่ 3 ก็ภูมิใจ เพราะเราตัวเล็กสุดเลยพวกต่างประเทศเขาตัวสูง “เหรียญทองแดงก็ภูมิใจตัวเองที่ว่า ผลักดันตัวเองจนมาถึงจุดนี้ครับ แต่ถามว่าถ้าเหรียญที่ผมภูมิใจและก็ที่คิดว่ามันใหญ่สำหรับผมก็คือ ซีเกมส์ครับเป็นเหรียญเงินซีเกมส์ปี 2013 ครับ ที่เมียนมา เนปยีดอ” ย้อนจากที่เราได้เหรียญทองแดงแล้ว ก็จะใช้เวลาประมาณสัก 2 ปี ในการที่คัดเลือกเพื่อจะไปซีเกมส์ ในรุ่นของผมก็มีคู่แข่งเยอะมีทั้งรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน และก็รุ่นน้อง โดยมี ”โค้ชเช” (ชัชชัย เช) จะเป็นคนดูเรื่องการซ้อมด้วยและก็ผลการแข่งขันด้วย“ซึ่งอย่างที่ผมบอกครับเราตัวเล็กกว่าเขา เราต้องใช้ความขยัน ผมขยัน จากเพื่อนรุ่นพี่ครับเราแพ้มาตลอด เราเตะกับเขาทีไรเราแพ้เขามาตลอด จนสุดท้ายเราขยันเราทุ่มเทเราเต็มที่ จากแพ้ แพ้ 10 คะแนนมาเป็น แพ้ 5 คะแนน แพ้ 5 คะแนนจนมาเป็น เสมอ พอมาเป็นเสมอจนมาเป็น ชนะ พอชนะ ชนะขาด! พอเราชนะขาดเนี่ยโค้ชเชก็เลยเลือกเราไปแข่งซีเกมส์” มันเลยเป็นเหมือนหนังชีวิตเรื่องหนึ่ง เพราะว่ามันไม่ใช่อยู่ดี ๆ ปุ๊บเราเข้าทีมชาติเลยแล้วเราจะได้เลย แล้วพอไปแข่งแต่ก็เสียดายได้แค่ “เหรียญเงิน” เพราะว่าเราไปแพ้จากทีมชาติลาว ซึ่งเขาก็เป็นรุ่นพี่ในวงการเทควันโดมาก่อนแต่ก็เป็นแมตช์ที่ภูมิใจ พอจากนั้นมาก็แมตช์เอเชียนเกมส์ 2014 เราก็ได้รับคัดเลือกไปที่ อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ แต่แมตช์นี้เป็นแมตช์สุดท้ายที่ผมได้เล่นในนามทีมชาติไทย เพราะว่ารอบ8 คนสุดท้ายผมไปเจอฟิลิปปินส์ ได้รับบาดเจ็บ(เอ็นเข่า ตอนนี้เอ็นเข่าทั้งสองข้าง เอ็นขาดหมดแล้ว) มันเลยทำให้ผิดหวัง ผิดหวังและก็ด้วยอาการบาดเจ็บด้วย ผิดหวังจากนี้ด้วย มันเลยทำให้เราต้องรีไทร์ออกจากเส้นทางนี้




ส่งไม้ต่อการเป็นนักกีฬาสู่อาชีพ “โค้ช“ นักปั้นฝันเทควันโดรุ่นจิ๋ว
จุดเริ่มต้นก็คือ ตอนอยู่ที่สโมสรฯ ผมก็เป็นหัวหน้าทีม เราเหมือนก็ได้มีการสอนน้อง ๆ คุณครูเขาไว้ใจผมให้ไปสอนน้อง ๆ ไปถ่ายทอดวิชา พอเราไปสอนน้อง ๆ เราสอนได้ น้องเชื่อฟัง มันเลยทำให้เรามีประสบการณ์ตั้งแต่ 15 16 17 จนถึงปัจจุบันก็ว่าได้ เหมือนว่าเราเริ่มเป็นผู้นำตั้งแต่ตอนอยู่ที่ Academy แล้วพอสะสมไปเรื่อย ๆ พอถึงจุด ๆ หนึ่งที่เราจะไม่ค่อยได้ใช้วิชาถ่ายทอดคนอื่น ก็คือเป็นช่วงทีมชาติ พอเรารีไทร์เสร็จทางยิม K.C.S.เหมือนว่าให้เราไปเป็นรุ่นพี่เป็นผู้ช่วยสอน มันก็เลยเป็นจุดเริ่มเลยเป็นอีกพาร์ทหนึ่งเลย ที่ว่ามาเป็น “โค้ช” จนถึงตอนนี้พอเราสอนไปปุ๊บ รุ่นน้องเริ่มประสบความสำเร็จ รุ่นน้องที่ผมไปเป็นโค้ชพิเศษอย่างเงี้ยครับ เริ่มประสบความสำเร็จ เราก็อยากหาอะไรใหม่ ๆ หาอะไรที่มันท้าทายตัวเอง ก็เลยมาเปิดที่นี่ครับที่ K.C.S. ดอนเมือง เทิดราชัน ก็เริ่มตั้งแต่จากลูกศิษย์ชุดแรกครับ มีประมาณ 9 คน จนตอนนี้มีประมาณเกือบ 70-80 ชีวิต ในที่นี่ครับ ก็ถือว่ามาได้ไกลครับ ถือว่ามาได้ไกลแล้ว”

การเรียนการสอนของที่นี่ก็จะมี 2 รอบ แบ่งเป็น รอบเบสิก(นักเรียน) ก็คือ เรียนเพื่อออกกำลังกายเบื้องต้น และก็รู้เทคนิคเทควันโดเล็ก ๆ น้อย ๆ อันนี้ก็จะเป็นเด็กเล็กเหมาะสำหรับเด็กเล็ก กับเด็กโตที่ไม่อยากไปแข่งขัน และอีกรอบจะเป็น รอบนักกีฬา ก็คือ เข้มเพื่อไปแข่งโดยเฉพาะ อันนี้ก็จะจริงจัง




สิ่งสำคัญของ “กีฬาเทควันโด” ที่ต้องมี 3 เรื่องนี้ประกอบ
เทควันโดเป็นกีฬาที่ต้องใช้หลายทักษะ ก็คือ 1. Strength หรือพลัง(ความแข็งแกร่ง) และก็ 2. ความยืดหยุ่น เพราะว่ากีฬาเทควันโดถ้าสังเกตเวลาที่ตอนนี้มีโอลิมปิก “พี่เทนนิส” เขาไปแข่ง ขาเขาเนี่ยมีความยืดหยุ่น ยกขาได้ตลอดเลย เพราะฉะนั้นนักเทควันโดจะต้องมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งการที่เด็กเล็ก ๆ มาเริ่มเรียน มาเริ่มเล่น อย่างน้อยสิ่งที่เขาได้แน่นอนก็คือ ความยืดหยุ่น(การยืดเหยียด) แล้วพอถึงช่วงหนึ่งเราถึงจะค่อยมาเพิ่มเรื่อง พละกำลัง เราจะไม่ใส่พละกำลังให้ตั้งแต่เด็ก 4 ขวบเพราะว่าเด็กยังเป็นร่างกายยังอ่อนแออยู่ เราจะค่อย ๆ ฝึกยืดเหยียด ฝึกท่าทาง พอถึงในช่วงที่เขาสามารถรับเรื่องพละกำลังได้แล้วเราค่อยสอนเขา


“เทควันโดครับผมสอนโดยมาอย่างงี้คือ มันจะต้องมี 3 สิ่งครับที่เราต้อง ถ้าเราอยากพัฒนาเร็ว อยากจะเป็นเลิศในด้านนี้
3 สิ่งแรกก็คือ 1. นักกีฬา ตัวของนักกีฬาเอง 2. โค้ช และก็ 3. ผู้ปกครอง” 
ตัวนักกีฬาเนี่ยถ้าสมมุติเขามาเล่นในตอนที่ อยู่มัธยมแล้ว คำว่ามัธยมของผมก็คือ อันนี้เริ่มถือว่า เริ่มค่อนข้างที่จะช้าแล้ว มัธยมคือจะเป็นช่วงปลายแล้วที่ควรจะมาเริ่มเล่น ถ้านักกีฬาตั้งใจซ้อม มีวินัย สองถ้าโค้ชดี โค้ชตั้งใจสอน สามคือผู้ปกครองสนับสนุน ถ้าเกิดมี 3 สิ่งนี้ มันมีครบอยู่ในนักกีฬาคนหนึ่ง มัธยมก็ไม่สายที่จะเริ่มเล่น แต่ถ้าเกิดเป็นไปได้เล่นตั้งแต่ 9 ขวบ 10 ขวบ ก็จะมีทักษะที่ดีกว่าเพราะว่าเริ่มตั้งแต่เด็ก




จากกระแส “พี่เทนนิส” ฟีเวอร์! สร้างแรงบันดาลใจจิ๋วฝันสู่ “ฮีโร่โอลิมปิก”
ต้องยอมรับว่ากระแส “เทควันโด” ฟีเวอร์มาตั้งแต่โอลิมปิกที่ โตเกียว แล้วและก็ยิ่งตอนนี้ “น้องเทนนิส” ได้ทำเหรียญทองให้กับประเทศไทยที่ปารีส ยิ่งทำให้กระแสเข้าไปใหญ่“ตอนนี้ 2-3 วันที่ผ่านมาก็มี เด็กมาสมัครเรียนถามว่า ทำไมถึงรู้จักเทควันโดก็รู้จักเพราะ พี่เทนนิส เราก็เลยต้องขอบคุณน้องเทนนิสที่นอกจากจะทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุขแล้ว ก็ทำให้คนในวงการเทควันโดนะครับผมว่าวงการเทควันโดทุกคนแฮปปี้หมด มันเลยทำให้เหมือนเป็นการโฆษณาไปในตัวเลย”


ถ้า ณ ปัจจุบันสโมสรของเรามี “โค้ช” 3 คน ที่เป็นหลัก และก็จะมีอีก1 คนที่คอยเป็นสำรองไว้ ซึ่ง 3 คนนี้การทำงานแบ่งกันชัดเจนเลย ตัวผมเองผมเป็น Head Coach เราก็จะดูภาพรวม ดูนักกีฬาตัวโตและก็นักกีฬาเกราะไฟฟ้า ก็คือคนที่เขาเป็นระดับ advance แล้ว เราก็จะดูแลตรงนั้นไปและก็อีก 2 คน จะไปดูแลสำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่เพิ่งมาเล่นเทควันโด(ตอนต้น) แล้วก็แบ่งอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ เพิ่งมาเล่นเทควันโดแต่เริ่มตอนปลายแล้ว เราก็จะแบ่งกันทำงานชัดเจน“เวลาเราสอน ถ่ายทอดไปเนี่ย มันจะไม่ปนกัน มันเลยทำให้ตรงนี้มันเป็นข้อดีของเรา ซึ่งเราแบ่งกันชัดเจนเนี่ยมันทำให้กลุ่ม แต่ละกลุ่ม สามารถเรียนได้มีประสิทธิภาพโดยที่ พี่ไม่ต้องรอน้อง น้องก็ไม่ต้องกลัวจะตามไม่ทันพี่ ค่อย ๆ ไต่ระดับไปเรื่อย ๆ น้องคนนี้พร้อม อ้าวเปลี่ยนกลุ่น เปลี่ยนกลุ่มเรียน มันเลยทำให้การทำงานที่เป็นระบบแบบนี้ เด็กเลยพัฒนาขึ้น”ถ้าอย่างปีที่ผ่านมา 2 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนเลย ผลงานเวลาไปแข่งหรือสำหรับ รอบนักเรียน ก็เด็กเยอะขึ้น ต่อคอร์สเยอะขึ้น ส่วนถ้าเป็น นักกีฬา ก็คือผลงานดีขึ้น มันเลยทำให้ระบบที่เราวางเอาไว้มันได้ผล

เราตั้งใจดูแลเด็ก ทีมงานเราตั้งใจดูแลเด็ก ผมคิดว่าตรงนี้มันจะเป็นผลดีต่อตัวเราเอง โดยการที่ผู้ปกครองเห็นว่ายิมที่นี่มีคุณภาพ สามารถสอนน้อง ๆ ได้ เขาก็จะไปบอกต่อกัน ซึ่งการที่ผู้ปกครองหลาย ๆ คนสมัครมาโดยการที่ผ่านการบอกเล่า บอกต่อกันมา มันเป็นอะไรที่เป็นพลังอย่างหนึ่ง พอผมฟังแล้วเนี่ยผมเหมือนมี “ความสุข” ที่บอกต่อกัน


“การแข่งขัน” ที่ให้ได้มากกว่าคำว่า “การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย”
ถ้าความถี่ในการแข่งขันก็คือ เดือนละ 1 ครั้ง จะต้องมีอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เทควันโดเริ่มแข่งตั้งแต่ 5-6 ขวบขึ้นไป พอผมดูปุ๊บนักกีฬา/หรือน้องเรียนเนี่ย น้องมีโอกาสนะ เราก็จะบอกเขา ถ้าเขาสนใจ เราก็จะพาไปแข่ง“แน่นอนครับกีฬาเนาะต้องรู้แพ้
รู้ชนะ รู้อภัย ผมสอนเด็กเนี่ยผมสอนเด็กทุกคน แพ้ได้ ชนะได้ แต่แพ้มาแล้วเนี่ยเราต้องมีเหตุผลว่า ทำไมเราถึงแพ้ ชนะได้ มีเหตุผลว่าทำไมเราถึงชนะ เหตุผลที่ชนะเพราะเราตั้งใจซ้อม เราใจสู้ แต่เวลาเราแพ้เพราะแพ้เพราะอะไร เหตุผลเพราะว่าเราไม่ตั้งใจซ้อมหรือเปล่า หรือเราใจไม่สู้ ผมเลยบอกเด็กเสมอครับว่า ต้องยอมรับว่ากีฬามันมีแพ้
-มีชนะ มันเลยสอนเด็กรู้จักผิดหวังบ้าง สมหวังบ้าง ตั้งแต่เด็กครับมันก็เลยเป็นภูมิต้านทาน ภูมิต้านทานให้เด็กเล็ก ๆ น่ะครับว่า พอโตไปในสังคมแล้วเนี่ยมันก็จะมีอะไร ๆ ที่เราสมหวัง และก็มีอะไรที่เราผิดหวัง มันก็เหมือนเป็นการฝึกจิตใจเด็กตั้งแต่ต้น ๆ”
และก็ฝึกความกล้าหาญด้วย การที่เด็กคนหนึ่งเดินเข้าไปอยู่กลางสนามกับคู่ต่อสู้ ถือว่าต้องนับถือใจเด็กที่เด็กสามารถก้าวเข้าไปคู่ต่อสู้แล้วเตะคู่ต่อสู้จนครบยก แพ้-ชนะ ไม่เป็นไร ผมเลยบอกเด็กอย่างนี้ตลอดว่า แค่คุณกล้าเข้าไปสู้กับเขา คุณออกมาแพ้-ชนะเนี่ย คนเป็นโค้ชก็ดีใจแล้ว


อุปสรรคที่ทำมาก็เรื่อง ผู้ปกครองหรือคนส่วนใหญ่มองกีฬาเทควันโด ต่อย ตี กันอย่างเดียวหรือเปล่า แต่พอทุกคนมาเรียนจริงแล้วเนี่ย มันไม่ใช่อย่างนั้น มันจะออกไปทางฝึกสมาธิ ฝึกระเบียบร่างกาย เป็นส่วนใหญ่ ก็อยากจะให้คนนอกวงการได้รับรู้ว่ากีฬาเทควันโดเนี่ยมันไม่ได้ฝึกต่อย ตี กันอย่างเดียวนะ ผมว่ามันมากกว่าที่จะคิดว่ามันจะต่อย เตะ กันอย่างเดียว“แล้วก็อุปสรร ในการ ในตัวผมเองเนาะอุปสรรคตอนนี้ก็คือเรื่อง ความกดดันในเรื่องการทำนักกีฬา อาจจะมีบ้างครับเพราะว่า ทุกคนมาเนี่ยทุกคนคาดหวังกับตัวผม คาดหวังกับตัวทีมงาน ว่าเราจะต้องเป็นเบอร์ 1 นี่อาจจะเป็นอุปสรรคเหมือนกัน แต่ไอ้ตรงนี้มันเลยเป็นข้อดีอย่างหนึ่งคือ พอเรามีความกดดันทางนี้มันทำให้เราต้องหาข้อมูล หาข้อมูลเพื่อจะหาสิ่งในการสอนใหม่ ๆ มาให้นักกีฬาเอามาให้เด็ก เพราะว่าเพื่อที่เราจะปั้นเขาเป็นเบอร์1 เราก็เลยต้องไม่หยุดอยู่กับที่”


ยึดมั่นในอุดมการณ์ “สานฝัน” บนพื้นฐานของธุรกิจที่ “พอเพียง”
“โค้ชมาร์ค” เชษฐรพี ต่างใจ เจ้าของสโมสร K.C.S. เทิดราชัน ดอนเมือง ยังบอกด้วย ผมจะสอนเด็กตลอดว่าบทบัญญัติเทควันโด ห้ามทำร้ายคนอื่นโดยไม่จำเป็น ซื่อตรงจริงใจต่อเพื่อน คืออย่างน้อยเรามาเรียนเทควันโดนอกจากออกกำลังกายได้เรื่องความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่มาเรียนกับผมเนี่ยอย่างน้อยจุดมุ่งหมายที่เด็กจะได้เรียนเลย เป้าหมายของผมเลยคือ อยากให้ทุกคนที่เป็นลูกศิษย์ผมเป็นคนดีในสังคม โตไปเป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตนเอง ให้เขาใช้ชีวิตในสังคมภายภาคหน้าได้อย่างดีอันนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายของผม

“ในอดีต สิ่งที่ผมคิดเลยเนี่ย ครูเทควันโด ไม่มีในหัวเลยตอนเด็ก ๆ ครับอนาคต เด็กสมัยก่อนแน่นอนอนาคตอยากเป็นอะไร อยากเป็นตำรวจ อยากเป็นทหาร ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นส่วนอะไรที่ไม่อยากเป็นเนี่ย ผมไม่อยากเป็นครูเลย แต่ด้วยความที่พอเราทำปุ๊บเหมือนเรารู้ตัวเองครับ เราสอน เราสอนเด็ก เด็กก็เหมือน ผมมองนะครับลูกศิษย์เนี่ยเหมือนลูก เหมือนน้อง ยิ่งโตหน่อยก็เหมือนน้อง เด็กเล็กหน่อยก็เหมือนลูก เหมือนหลาน” มันเลยทำให้ผมไม่ได้มองเชิงธุรกิจขนาดนั้น ผมก็รักลูกศิษย์ทุกคนแล้วเชื่อว่า ทีมงานของเราก็รักลูกศิษย์เหมือนลูกทุกคน เรื่องธุรกิจมันเลยเหมือนประคับประคองไปไม่ได้แบบว่าจะอู้ฟู่ขนาดนั้นแต่ถามว่า สามารถมีให้ผมและก็ทีมงานโค้ชพอมีพออยู่พอกิน ผมว่าตรงนี้ก็คือสิ่งที่ธุรกิจที่ยิมนี้ดำเนินอยู่“เหมือนที่ผมบอกครับผมหวังก็คือ ด้วยอุดมการณ์ด้วยที่อยากจะให้เด็กเป็นคนดีในสังคม ออกกำลังกายแข็งแรง และก็ติดทีมชาติ ธุรกิจก็เลยไม่ได้เป็นหลักขนาดนั้น แต่ถามว่าอยู่รอด คนในองค์กรต้องอยู่รอดทุกคน ที่ผมคิดไว้อย่างนี้ครับ”


6 ปีเปิดมา 6 ปี เราเริ่มตั้งแต่นักกีฬาปัจจุบันบางคนครับที่เป็นรุ่นพี่เราเนี่ย เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กจากไม่มีอะไร จนมาตอนนี้ผลงานระดับประเทศเริ่มมีบ้างแล้ว แต่ด้วยความที่อายุยังไม่ถึงเพราะว่า เขายังเพิ่งโต“ผมคิดว่า 4 ปีข้างหน้าเนี่ย มันอาจจะเป็นวัตถุดิบให้ทางสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย อาจจะเป็นเลือกใช้ได้ เลือกใช้อาจจะเป็นทีมชาติ อาจจะไม่ต้องถึงโอลิมปิกก็ได้ครับ อาจจะเป็นแมตช์ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ แมตช์โอเพ่นธรรมดาเนี่ยผมก็ดีใจแล้ว แต่เพราะว่าตอนนี้เหลือแค่เวลา เพราะตอนนี้เราก็ทำหน้าที่สม่ำเสมอ สอนสม่ำเสมอ วางแผนสม่ำเสมอ เหลือแค่ “เวลา” ที่เด็กที่เราสร้างพอโตขึ้น มีโอกาสไปติดทีมชาติ ตอนนี้เหลือแค่เวลาอย่างเดียว”



จากอดีตจอมเตะทีมชาติไทย เหรียญเงิน ชุดซีเกมส์ที่เมียนมา สู่อาชีพนักปั้นฝันเทควันโดรุ่นจิ๋ว วันนี้ใคร ๆ ก็อยากมาเรียนที่ยิม K.C.S. กับโค้ชมาร์คและทีมงาน ผู้ปกครองก็บอกต่อ ๆ กันมาให้ด้วย เพราะที่นี่สอนดีและโค้ชก็ใจดีรักเด็ก ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ทุกคน ขอบคุณ “โค้ชมาร์ค” เชษฐรพี ต่างใจ “โค้ชศักดิ์ศรณ์” ศักดิ์ศรณ์ จันทร์เพ็ญ “โค้ชฟ่อง” ณฐวัชร ปาลวัฒน์วิไชย และทีมงานทุกคนตลอดจนแม่ ๆ ผู้ปกครองของเหล่าจิ๋วที่กรุณาให้การต้อนรับทีมรายการฯ อย่างอบอุ่นในครั้งนี้

ติดตามผลงานหรือสนใจสมัครเรียนเทควันโดกับสโมสร K.C.S. สามารถติดต่อได้ที่ โทร.085-516-6966 เพจ: KCS
Academy of Taekwondo


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น