“ความสุขของเราความต้องการของเราคืออยากให้ “คนมีความสุข” มากกว่า ตอนนี้เหมือนกับว่าเฮ้ยเราดีใจที่คนรู้จัก “ตลาดหัวตะเข้” คนมีความสุขที่ได้มานั่งเรือกับน้องอันนั้นน่าจะเป็นเรื่องหลักมากกว่า คือเรามองข้ามเรื่องธุรกิจไปแล้ว”
ตลาดเก่า “หัวตะเข้” ตลาดริมน้ำเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครอยู่ในพื้นที่ “เขตลาดกระบัง” ซึ่งในอดีตที่เคยรุ่งเรืองมาก ๆ มีการค้าการขายกันอย่างคึกคักจนกระทั่งพอ ยุคสมัยเปลี่ยนสภาพการเดินทางโดย “เรือ” ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ก็มีผลทำให้ตลาดแห่งนี้ค่อย ๆ เงียบเหงาและซบเซาลงในที่สุด กอปรกับการที่เจ้าของตลาดเองก็ได้มีการย้ายทำเลค้าเพื่อไปอยู่อีกฟากซึ่งติดกับถนนรถยนต์สัญจรไปมาได้อย่างสะดวกสบายมากกว่า คงเหลือไว้แต่สภาพของการอยู่อาศัยและร้านของชำเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง “คุณชวลิต สัทธรรมสกุล” หรือ พี่เปา เล่าให้ฟังว่า จุดเปลี่ยนอีกระลอกหนึ่งตลาดหัวตะเข้และต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตนเองด้วยก็คือว่า 11 ปีที่แล้วได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่นี่สร้างความเสียหายให้มากพอสมควรซึ่งสาเหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาเช่าอยู่อาศัยรวมกันอย่างหนาแน่นจนเกินไป ทำให้มีอุบัติเหตุไฟไหม้ตลาดเกิดขึ้นในฐานะสมาชิกชุมชนคนหนึ่งสมัยเด็ก ๆ ตนเองก็เคยเรียนชั้นประถมฯ อยู่ที่นี่ได้มาเห็นสภาพของตลาดอีกครั้งดูทรุดโทรมลงไปอย่างมากจากในอดีตก็เริ่มเกิดแนวคิดขึ้นมาจาก “บ้านหัวมุม” ที่ในสมัยก่อนรู้จักกันเป็นร้านของชำที่อยู่ตรง “สี่แยกหัวตะเข้” คนสมัยก่อนเวลาถามกันว่าไปไหน คนบอกบอกไปสี่แยกหัวตะเข้ คือเป็นสี่แยกที่มีคลองมาบรรจบกันพอดีซึ่งถ้าบอก “สี่แยก" หลายคนในยุคนี้ก็จะคิดว่าเป็นถนนแต่จริง ๆ แล้วที่นี่คือเป็นสี่แยกคลอง ก็อยากจะให้มีคนเข้ามาเพื่อไม่ให้ถูกลืมเลือนไป“ผมก็เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเดินทาง คือก่อนที่จะมาเปิดร้านนี้ก็เปิดร้านอาหารโดยเช่าตึกแถว ๆ นี้คือผมไม่ชอบเดินทางไปไหน ขี่แค่จักรยานก็เปิดร้านอาหาร หลังจากที่มีการพูดคุยกันในชุมชนแล้วว่าต้องผลักดันแรงงานต่างด้าวออกไปจะไม่ให้อาศัยอยู่ที่นี่อีก เราก็เลยขอเช่าต่อ เพราะโดยทำเลของเขาผมว่ามันน่าจะเรียกคนเข้ามาได้ เพราะว่าพอเรามาอยู่แล้วเนี่ยเราว่าลมมันเย็นแล้วมันก็มีมุมมองที่กว้าง”
ทำอย่างไรให้มีคนมา ฟื้นชีวิตชีวาตลาดหัวตะเข้กลับคืนอีกครั้ง
พอตัดสินใจทำเราอาจจะประเมินค่าใช้จ่ายไว้ประมาณนี้ แต่พอทำจริงก็น่าจะเหมือนทุกที่คือเขาเรียกว่า บาน! มันก็เลยกำหนดมานาน(ประมาณ 1 ปี) ถึงจะเริ่มรับแขกได้ก็คือหมายความว่า ชั้นล่างที่เปิดเป็นคาเฟ่ซึ่งเป็นความถนัดด้วยแล้วเราก็มองว่ามันน่าจะเหมาะ เพราะว่าด้วยโลเกชั่นของที่นี่การที่เราอยากให้คนมาคือมันก็น่าจะมีสเปซให้เขานั่ง หรือทำงานก็ได้ “เรามองไว้แต่แรกแล้วว่า คือผมว่าร้านมันก็ไม่เล็ก เพราะว่า space ของชั้นล่างสำหรับคาเฟ่คือมันก็เพียงพอแล้ว คือชั้นเดียวมันให้บริการได้ทั่วถึงกว่า ทีนี้ข้างบนก็เลยคิดว่าเออเป็นห้องพักดีกว่าตอนนั้นก็เริ่มมีกระแสแอป BNB ก็คือไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรงแรม แต่ว่าเป็นบ้านหรือเป็นอะไรก็ได้ที่มีส่วนไหนที่สามารถทำเป็นห้องได้มันก็มีกระแส BNB ก็คือปรับปรุงห้องในบ้านของตัวเอง และก็ให้ต่างชาติมาเช่ารายวัน เราก็คิดถึงตรงนั้นเลยคือเราไม่เหมาะกับพวกโรงแรมหรืออะไรอยู่แล้ว ด้วยจำนวนห้องเรามีแค่3 ห้องก็เลยคิดว่าเดี๋ยวจะทำเป็นห้องพักสำหรับต่างชาติ อ้อเพราะว่าทำเลด้วยครับที่นี่มันอยู่ใกล้สนามบิน”
ได้เวลาเปิดบ้านให้โลกรู้จัก ตลาดหัวตะเข้มีอะไรดี ๆ อยู่ที่นี่บ้าง
“ทำเล” มันดีก็จริงแต่ว่า การเข้าถึงมันก็ไม่ง่าย(มันถูกลืมไปตั้งนานมากแล้ว) ต้องข้ามคลอง ข้ามคลองเสร็จต้องเดินแบบจนสุดท้ายเลยถึงจะเจอ“อย่างช่วงนั้นมันมีเรื่องของ การเช็กอิน มีเฟซบุ้กมีการเช็กอินอะไรอย่างเงี้ยเราก็ หาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดหัวตะเข้ว่ามันมีอะไรบ้าง ไม่มีอะไรเลย(หัวเราะ) คือพอเสิร์ชเข้าไปว่าตลาดหัวตะเข้เมื่อ 11 ปีที่แล้วไม่มีเลย! รูปหรือเรื่องราวของตลาดของอะไรที่มันเป็นของหัวตะเข้คือไม่มีเลย มีแค่เพียงศาลเจ้าเรื่องเดียวจริง ๆ เราก็เลยคิดว่าถ้าไม่มีเราก็ต้องทำ ต้องสร้างมันขึ้นมา” ระหว่างนั้นก็คนในชุมชนมีเพจ ๆ หนึ่งชื่อว่า ชุมชนคนรักหัวตะเข้ เขาเข้ามาชวนเราเข้าไปเป็นแอดมินเราก็ใช้ความถนัดของเรา คือเราชอบถ่ายรูป เราอยู่ตรงนี้เราก็ถ่ายรูปถ่ายเรือถ่ายนู่นถ่ายนี่แล้วก็ เช็กอิน ตลาดเก่าหัวตะเข้ โพสต์ลงในโซเชียลฯ เราก็คิดว่าพวกนี้ถ้ามันไปอยู่ในโลกออนไลน์แล้วเนี่ยคือมันก็จะอยู่ตลอดไป เราก็เลยคิดว่าถ้ามันไม่มีเราก็ต้องสร้าง ถึงเวลาที่โลกต้องรู้จักตลาดหัวตะเข้แล้ว
“อย่างชื่อร้านที่นี่ก็เหมือนกัน ชื่อของร้านที่ตั้งว่า “สี่แยกหัวตะเข้ค่าเฟ่ แอนด์ เกสต์เฮ้าส์” ก็คือคำว่าสี่แยกหัวตะเข้ คือมันเป็นชื่อจริง ๆ มันเป็นชื่อจริง ๆ ที่คนแถวนี้คนแถวบ้านเขาเรียกกัน สี่แยกหัวตะเข้ สี่แยกหัวตะเข้ ไปไหนไปสี่แยก อะไรเงี้ยแต่คนอาจจะเข้าใจว่าเป็นสี่แยกถนนใช่ไหม แต่คืออันนี้มันเป็นสี่แยกคลอง มันเป็นสี่แยกหัวตะเข้ซึ่งเรากลัวว่าคนเนี่ยจะลืม ก็คือพอจะตั้งชื่อร้านก็คืออันนี้เลยเป็นอันแรกเลย”
เกิดไวรัล “วิถีคนกับแมวนั่งเรือเที่ยว” จากจุดเริ่มต้น คือ เลี้ยงแมวจรเพื่อช่วยไล่หนู!
คือมันดีตรงที่ว่าทำเลที่นี่คือมันแวดล้อมไปด้วยโรงเรียน มัธยม 2 โรงเรียนและก็มีวิทยาลัยช่างศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง“มองว่าถ้าวัยขนาดนี้ยังไงก็เล่นโซเชียลฯ ตอนแรกที่เราเปิดร้านเนี่ยคือเราก็ไม่ได้ตั้งราคาสูง เราคิดว่าเราน่าจะให้เด็ก ๆ เนี่ยคือสามารถเข้ามาได้ คือให้มันเข้าถึงง่ายในราคาที่มันไม่แพง” เพื่อที่จะให้เด็ก ๆ เขาได้ช่วยเราในการประชาสัมพันธ์ร้านด้วย ส่วนเรื่อง “แมว”คือเราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นกระแสได้แบบนี้ เพราะว่าพอเรามาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ คือบ้านไม้คือมันต้องมีอยู่แล้วเรื่องหนู คือเราก็คิดว่าก็คิดง่าย ๆ เออถ้าอย่างนั้นก็เอาแมวมา“เอาแมวมาไล่หนู เอาแมวมาจับหนู ก็คือไปเอาแมวจรมา 2 ตัว เอามาเลี้ยงที่นี่คือไม่มีความรู้เรื่องแมวเลยนะ 2 ตัวตั้งชื่อใช้ว่า ทองแดง ทองดำ ก็มาเลี้ยงเพื่อจะจับหนู” มีอยู่วันหนึ่งปกติตอนเช้าเราจะไปตลาด เราจะไปด้วยเรือมีอยู่วันหนึ่งเหมือนเขาตามเราตอนนั้นเขายังเด็ก ๆ อยู่เลย เหมือนเขาเดินตามเรามาเราก็เลยลองเรียกดู เอ้าทองแดงมาลงเรือมา ๆ ก็เรียกเขา แล้วเขาก็แบบเหมือนจะลงเราก็เลยเอาเรือพุ่งเข้ามาเพื่อรับเขา แล้วเขาก็กระโดดลง“อันนั้นก็คือเป็นจุดเปลี่ยนของเรา จุดเปลี่ยนเลยเพราะว่าเราไม่เคยคิดจะพาเขาลงเรือเลยแต่คือเขากระโดดลงมาเองมันก็เลย เป็นจุดเปลี่ยนแบบอ้าว! ไหนใครบอกแมวกลัวน้ำอะไรเงี้ย คือเราไม่เคยจะเอาเข้าลงเลยพอเขาลงมาเอง เราก็เลยอ้าว! แมวมันก็ไม่ได้กลัวน้ำนี่หว่า ก็เลยคิดว่าตอนนั้นคือตอนเช้าอ้าวเดี๋ยวตอนเย็น คือตอนเย็นมันจะร่ม ๆ หน่อยอ้าวเดี๋ยวเย็นจะลองพาเขามาอีกทีหนึ่งดูซิว่า จะชอบไม่ชอบคือเอาลงเพื่อจะดูปฏิกิริยาเขาว่า เขาชอบหรือไม่ชอบคือถ้าไม่ชอบ ก็จะได้ไม่ต้องลงแต่ถ้าชอบ เดี๋ยวจะพาเขานั่งเรือเที่ยวทุกวันเลย”
ทีนี้พอพาเขาไปเที่ยวแล้วเหมือนเริ่มมีคนเห็น ทุกคนเขาก็งงอ้าวแมวนั่งเรือได้! เขาก็พากันถ่ายรูป พอจากนั้นเราก็เลยคิดว่าทำ “เพจ” ให้เขาดีกว่ากะว่าทำเพจสนุก ๆ ก็ตั้งชื่อว่าแมวริมคลอง ก็เหมือนอยากจะบอกว่าแมวจริง ๆ เขาไม่ได้กลัวน้ำนะ เพื่อให้คนแถว ๆ นี้ที่เขาเห็นอยู่เขาจะได้รู้จัก นั่นคือ 7-8 ปีที่แล้ว“ทีนี้พอพายไปทุกวัน ๆ อย่างเงี้ยก็พอคนเห็นอย่างเงี้ย เรารู้สึกว่าคนที่เขาเห็นเนี่ยเวลาเขายกมือถือขึ้นถ่ายรูปคือ เขายิ้ม ผมว่า เราก็เลยคิดว่าเอ้อเฮ้ยมันสร้างความสุขให้คน อยากจะแบ่งปันตรงนี้เราก็เลยคิดว่าเฮ้ยถ้า เขาเห็นแล้วเขามีความสุขอย่างเงี้ย คือเราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรคือเราว่างอยู่แล้วช่วงเย็น ๆ เนี่ย ถ้าอย่างนั้นเย็น ๆ เดี๋ยวเราก็จะพายเรือทุกวัน นอกจากพาแมวเราเที่ยวแล้วเนี่ยก็คือทำให้คนที่เห็นเนี่ยคือ เขามีความสุข”
“แมว” เปลี่ยนชีวิต!
ไม่ได้คิดถึงเรื่องธุรกิจเลยเราแค่คิดว่า เออทำให้คนที่เขาเห็นมีความสุข ทีนี้ถามว่ามันเริ่มมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ก็คือมันเริ่มเมื่อสัก 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ช่วงหลังโควิดฯ มียูทูบเบอร์จากช่องหนึ่งคือต้องให้เครดิตกับน้อง “Pickaploy” ก็จองที่พักมา ก็มาพักที่นี่ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าใคร พอเจอตัวอ้าวน้องพลอย(หัวเราะ) ด้วยความที่เราพายเรือทุกวันให้แมวนั่งอยู่แล้ว เราก็เลยบอกน้องพลอยเดี๋ยวตอนเย็นพี่พายเรือพาแมวเที่ยวทุกวันเลย เดี๋ยววันนี้ให้น้องพลอยไปด้วย ก็ไม่คิดอะไรคิดแค่ว่าเราก็เซอร์วิสแขกเรา พอน้องลงเรือไปด้วยก็ถ่ายคลิปถ่ายโน่นถ่ายนี่ไป พอน้องพลอยเอาคลิปไปลงก็กลายเป็นว่า มีแต่คนอยากมาตามรอยน้องพลอย(เป็นไวรัลเกิดขึ้น) เขาอยากจะมาพักที่นี่อยากจะมานั่งเรือกับน้อง (แมว) ก็ติดต่อจองที่พักมาตั้งแต่นั้น
“เราก็พยายามนำเสนอแง่มุมของแมวเรา ที่มันแตกต่างจากแมวคนอื่น เช่น การนั่งเรือ การตกน้ำ เป็นยังไง? ตกน้ำบางทีก็อาจจะมีโดดพลาดบางทีมันลื่นอย่างเงี้ย ก็โดดไปมันก็ลื่นตก เราก็เก็บเขาขึ้นมา คือแมวเขาว่ายน้ำเก่งอย่างมีอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อน้องส้มแป้น ตั้งแต่สัก 4-5 ปีที่แล้วคือเราก็ไม่รู้ว่า คือเราจับเขาลงทุกตัวแต่ว่า ส้มแป้นน่ะตอนเขายังเด็ก พอเรือพายมาถึงบ้านเนี่ย ถ้าอยู่ที่อื่นไม่เป็นไรแต่พอมาถึงบ้านอย่างเงี้ย พอเห็นบ้านจะกลับบ้าน ก็กระโดดน้ำเลยกระโดดน้ำแล้วก็ว่ายเข้าฝั่งอันนั้นคือ ส้มแป้น เขาจะโดดน้ำว่ายน้ำกลับบ้าน” เหมือนเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับคนได้รู้จักน้องแมวไทยเราได้ดีขึ้น ทีนี้พอหลังโควิดฯ ก็เริ่มมีต่างชาติมาพักมากขึ้น ช่วงประมาณสัก6 เดือนที่แล้วมีคนจีนมี “ชาวจีน” มาพัก 2 คน ก็เหมือนกันก็คือ เขาก็ไม่รู้มาก่อนว่าเราจะพาเที่ยว แต่คือแขกทุกคนที่มาพักแล้วเรามีโอกาสเราจะบอกเขาว่าตอนเย็นเราจะพาแมวนั่งเรือไปเที่ยว ถ้าคุณจะไปก็ไปเราก็ชวนแขกทุกคน
เขาก็ไปกับเรา ก็เหมือนกันเขาก็ถ่ายคลิปถ่ายรูปอะไรไปอย่างเงี้ย แต่เรื่องโซเชียลฯ ของจีนเราก็ไม่รู้เรื่องเลยนะเพราะเราก็รู้แต่ ยูทูบ ติ๊กต่อก เฟซบุ้ก อะไรพวกนี้แต่ว่า ที่จีนเขาจะมีสื่อเฉพาะของเขาอะไรของเขาซึ่งเราไม่เคยรับรู้ว่า มันขนาดไหน แล้วเราก็ไม่คิดว่าเราจะได้เข้าไปอยู่ในนั้น เขาก็ถ่ายไปแล้วก่อนก่อนที่จะกลับเขาก็บอก ถ้าเกิดมีคนติดต่อมาเยอะ ๆ ไม่ต้องแปลกใจนะ เขาเตือนเรา เตือนไว้ก่อนแล้วเราก็โอเค ๆ เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมากมายอะไร “ปรากฏว่าส่งข้อความมาทางกูเกิ้ลแมปคือเข้ามางงเลย! แบบเฮ้ยอะไรวะเนี่ยตอบไม่ทัน คือแบบว่า 30-50 ข้อความมาทุกวัน ๆ เปิดโทรศัพท์ขึ้นมาก็คือ มีของใหม่เด้ง เด้ง เด้ง ขึ้นมา คืออันนั้นเขาโพสต์ในแอปจีน” ตอนแรกเราก็คิดว่าแค่ในประเทศจีน ปรากฏว่าไม่ใช่ แอปคือมันเข้าที่ไหนก็ได้ทุกที่ในโลกก็ได้กลายเป็นว่า คนที่ใช้ภาษาจีนที่ไม่ใช่คนจีน ก็จะเป็นไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า มาเลย์ สิงคโปร์ ฯลฯ ประเทศที่ใช้ภาษาจีนเขาเข้าไปเล่นในนี้กันหมดเลย ก็คือไม่ใช่แค่ประเทศเดียวกลายเป็นว่ามีเยอะมากเป็น 10 ประเทศเลย ที่ติดต่อเข้ามาแล้วเขาก็มาจริง ๆ เขาจอง ๆ แล้วเขาก็มา“แต่การจองเนี่ยคือเขาจองแบบ คือเรื่องระบบเก็บเนี่ยเรายังไม่สันทัดเพราะฉะนั้นคือ ให้เขามาจ่ายที่นี่ ตอนแรกเราก็กังวลว่าเออมันอาจจะมีคนจองเล่น ๆ แล้วก็ไม่มาอะไรเงี้ย โอ้โห! แต่ผมว่าผมคือ ส่วนใหญ่มา” มันอาจจะเป็นกิจกรรมที่มันไม่ได้ มีที่ไหนในโลก คือมันไม่เหมือนใคร ดังนั้นเราก็เลยคิดว่ามันทำให้เขาแบบจองแล้วคือเขาอยากมาจริง ๆ เขาก็มาเรื่อย ๆ เลย คือแทบจะไม่มีใคร cancel เลย
เมื่อธุรกิจไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของ “ธุรกิจ” แต่คือการBalance ชีวิตเพื่อขับเคลื่อนชุมชนไปด้วยกัน
พี่เปา “ชวลิต สัทธรรมสกุล”เจ้าของร้าน “สี่แยกหัวตะเข้คาเฟ่ แอนด์ เกสต์เฮ้าส์” ยังบอกด้วย คืออย่างของเราผมว่าคือเราเคยรับได้เท่านี้ คือมันก็เหมือนเดิมนั่นแหละแต่ว่ามันมีการ จองล่วงหน้ามามากขึ้น(ซึ่งคิวจองตอนนี้พี่เปาฝากบอกลูกค้าคนไทยมาว่า ถ้าอยากจะมานั่งเรือเที่ยวกับน้องอาจจะต้องเผื่อเวลาสำหรับการจองไว้สักอย่างน้อย 1 สัปดาห์-10 วันจึงจะมีคิวให้ได้) “แต่ผมว่าจุดเปลี่ยนจริง ๆ ของการ “เปลี่ยนชีวิต” เนี่ยคือมัน ไม่ใช่ชีวิตเราแต่มันคือชีวิตของ คนในชุมชน คือมันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะว่าคือที่สำคัญเลยคือเขาทำให้คนรู้จัก “หัวตะเข้” คือ 11 ปีที่แล้วเนี่ยคือความพยายามของเราก็คือ อยากให้คนรู้จักที่นี่แต่คือมันอาจจะไต่ขึ้นไปได้ช้ามากใช่ไหมครับ กว่าจะแบบคนเริ่มรู้จักอะไรเงี้ยแต่ตอนนี้ คือมันไปไกลกว่านั้น คือมันไปถึงแบบต่างชาติน่ะคือตอนนี้ผมไม่รู้ว่ามันกี่ประเทศแล้ว แล้วไอ้การบริการแบบนี้ผมว่ามันอาจจะมีแค่ที่เดียวในโลก(หัวเราะ) ที่ว่าคนสามารถนั่งเรือไปกับแมวได้อะไรเงี้ย”
คนที่อยากจะมาพายเรือกับน้อง มาหาน้อง พอเขารู้ว่า “หัวตะเข้” มันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิแค่นี้เอง บางคนบอกผมทำงานอยู่ตรงนี้เองแต่แบบไม่รู้เลยว่า ที่นี่มันเป็นอย่างนี้“ผมว่าเนี่ยอันนั้นคือจุดเปลี่ยน มันทำให้คนที่ไม่รู้จักได้เข้ามา อย่างตอนนี้บางวันตั้งแต่เช้ามากลายเป็นแบบ อ้าวมีแต่ต่างชาติคือเข้ามางงอ้าว! ฝรั่ง คนจีน อะไรอย่างเงี้ยนั่งกันเต็ม มากกว่าคนไทยอีก!”คนที่มาแล้วคือนอกจากเขามานั่งร้านเราแล้ว มันก็ยังมีร้านอื่น ๆ ที่ตอนนี้เริ่มมีเกิดขึ้นมาด้วย ที่อยู่ตามทางเข้ามาผมว่าชาวบ้านที่นี่เขาก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้เหมือนกัน ซึ่งผมว่าตรงนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่เลยสำหรับชุมชนสำหรับ “ตลาดหัวตะเข้”
ปัจจุบันมี 9 ตัว น้องแมวที่ให้บริการนั่งเรือเที่ยวไปกับลูกค้าของสี่แยกหัวตะเข้คาเฟ่ฯ“คือเวลาลงเรือเนี่ยก็เอาลงไปเนี่ยเขาจะ กระโดดกันไปเองกระโดดไป กระโดดมาจากไหล่ ขึ้นไหล่กระโดดไปไหล่คนนี้”ตอนแรกเรามี “น้องมะลิ” ซึ่งเป็นแมวสวยแต่เป็นแมวจรนะ เขามีเชื้อแบบเป็นเปอร์เซียมาด้วยแล้วก็เขาเริ่มกิ๊กกับแมวตัวผู้ของเรา เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีคนอยากเห็นลูกของเขา ก็เลยลองโพสต์ถามดูในใจเราก็คิดว่า เอาผสมกันเพื่อจะได้ลูกมาเราก็เลยแกล้งโพสต์ถาม คือคิดว่าโอ้โหต้องมีคนอยากเห็นแน่เลย ซึ่งพอโพสต์ไปปรากฏว่าทุกคนบอกว่า ให้ทำหมัน คือ 90% บอกว่าแมวเยอะแล้ว คือถ้าจะเลี้ยงแมวให้ไปเอาแมวจรมาเลี้ยง อันนั้นก็เป็นจุดที่มาเปลี่ยนความคิดเราเหมือนกัน เรื่องการทำหมันแมว“เงินที่เก็บจากแขกที่มาพายเรือคือเรา เก็บส่วนหนึ่งเอามาไว้ช่วยเหลือแมวจร(แมวช่วยแมว) เราก็จะส่งไปให้เพจอื่น ๆ ที่เขาต้องใช้เงินแล้วก็ แมวในชุมชนเวลาเราได้สปอนเซอร์มา เป็นพวกอาหารแมวอะไรพวกนี้ ก็คือเราก็ส่งต่อและก็อย่างแมวในชุมชน ถ้าบ้านไหนแมวไม่สบายอะไรเงี้ยคือบางเคสเราก็ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้”
ก็คือถ้าเราไม่ได้เพิ่มแมว ไม่ได้เพิ่มเรือ ไม่ได้เพิ่มรอบ คือมันก็จะเป็นแบบนี้อยู่ คือมันอยู่ในวิสัยน์ที่เราสามารถทำได้แต่ถ้า มันเพิ่มอะไรขึ้นไปทุกอย่าง เรื่องการติดต่อการประสานงานการอะไรพวกนี้มันก็ จะทำให้มันวุ่นวายขึ้นไปอีก“แต่ปัจจุบันนี้คือมันอยู่ในวิสัยน์ที่เราสามารถดูแลจัดการได้ เราก็มันจะไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเราแต่ถ้า เพิ่มโน่นเพิ่มนี่คิดว่าคงไม่ เพราะเพิ่มแล้วมันอะไรล่ะ มันจะเดี๋ยวทำให้คนแบบคาดหวังหรืออะไรมากขึ้น อะไรอย่างเงี้ยแล้วเราก็ไม่รู้จะเพิ่มไปทำไม เพราะอย่างที่บอกคือเป้าหมายเรามันไม่ได้เป็นเรื่องธุรกิจเป็นหลัก ตอนนี้ความสุขของเราคือถ้าเกิดคนจะมา เราไม่คิดว่าถ้าคนจะมากขึ้นเนี่ยเราคิดว่าเราได้เงินมากขึ้น แต่เราคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้เขาได้รับ แล้วแบบได้รับความสุขกลับไป” เพราะว่าชอบคุยบางทีคุยกับแขกอะไรเงี้ย คือคนเขาจะบอกว่ามันสร้างอะไรนะคือมัน “ฮีลใจ” ให้กับเขาได้ คือพอเราฟังแล้วเราก็มีความสุขไปด้วยนะ
“แมว” เปลี่ยนชีวิต!ตลาดริมน้ำที่ถูกลืมมานานวันนี้ใคร ๆ ก็อยากมา “หัวตะเข้” ขอบคุณพี่เปาและเหล่าผองเพื่อนน้อง ๆ แมวจรในปกครองทั้ง 9 ตัวปัจจุบันนี้ของสี่แยกหัวตะเข้คาเฟ่ แอนด์ เกสต์เฮ้าส์ ที่คอยทำหน้าที่ “ฮีลใจ” ให้กับทุกคนที่ได้มีโอกาสไปเยือนไปสัมผัสวิถีชีวิตที่ต้องเรียกว่า วิถีแบบนี้มีแค่ที่เดียวในโลกจริง ๆ ซึ่งคนจะได้นั่งเรือกับแมวไทยของเราเพื่อเที่ยวไปด้วยกัน เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญซึ่งไม่เพียงแค่ธุรกิจของพี่เปาเองจะสามารถรันต่อไปได้อย่างมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับแต่ยังมีส่วนช่วยให้ ชุมชนตลาดริมน้ำแห่งนี้ที่เคยถูกทิ้งไปกับกาลเวลาที่เปลี่ยนทว่าวันนี้มันกลับกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เป็น “จุดขาย” ให้กับการเริ่มต้นธุรกิจแนวเพื่อสังคมไปด้วยกันได้อย่างน่านิยมมาก ๆ อีกแห่งหนึ่ง
สามารถติดตามหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สี่แยกหัวตะเข้คาเฟ่ แอนด์ เกสต์เฮ้าส์ Si Yaek Huatakhe Café & Guesthouse ตลาดหัวตะเข้ ซอยลาดกระบัง 17 กรุงเทพฯ หรือโทร.081-514-6636
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด