xs
xsm
sm
md
lg

NIA ประกาศสุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก 2024 ชี้ 8 ปี สร้างเถ้าแก่ สู่ธุรกิจ ขับเคลื่อนศก.ชาติ รายได้มากกว่า 100 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ประกาศผล "สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก 2024" ในงาน ‘STARTUP THAILAND LEAGUE 2024 : PITCHING CHAMPIONSHIP’ เฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพหน้าใหม่จากทีมผู้เข้าแข่งขันกว่า 250 ทีมทั่วประเทศ เร่งบ่มเพาะนักศึกษาสู่สตาร์ตอัพ ภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ เผย 8 ปี ปั้นธุรกิจแล้วกว่า 70 บริษัท สร้างรายได้รวมปีละมากกว่า 100 ล้านบาท


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “โครงการ Startup Thailand League เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้แผนการส่งเสริมสตาร์ทอัพของประเทศ ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ในการสร้างระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่จะจุดประกายและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ รวมทั้งก่อให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จะส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจจากความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ พร้อมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 มีนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 74,000 คน เกิดไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ มากกว่า 3,700 ไอเดีย ต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทแล้วมากกว่า 70 บริษัท สร้างรายได้รวมต่อปีมากกว่า 100 ล้านบาท เกิดการกระจายตัวของสตาร์ทอัพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงเกิดการจ้างงานและสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชน

สำหรับปี 2567 โครงการ Startup Thailand League 2024 มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมทั้งหมด 250 ทีม จากมหาวิทยาลัยเครือข่าย 45 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน โดยผ่านกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรม Train the Trainer การอบรมองค์ความรู้พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ ให้แก่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ Startup Thailand League จำนวน 45 มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปพัฒนานิสิต นักศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ 2) กิจกรรม Coaching Camp ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ กิจกรรมอบรมเตรียมความพร้อม เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้เทคนิควิธีคิดต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพ เพิ่มทักษะการนำเสนอ และได้ทดลองนำเสนอไอเดียก่อนลงสนามจริง 3) กิจกรรม Pitching Startup Thailand League เป็นการประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษา ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ผู้อบรมและเมนเทอร์ภายใต้โครงการนี้มุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะบ่มเพาะ เร่งสร้างการเติบโตให้แก่เหล่าเมล็ดพันธุ์สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกทีม สู่การเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในภาคธุรกิจ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสังคม มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศ

จากการเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ทั้ง 4 ภูมิภาค มีเพียง 14 ทีม ที่ผ่านเข้าถึงการแข่งขันรอบสุดท้ายของ Startup Thailand League 2024 ระดับประเทศ โดยทั้ง 14 ทีมนี้ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเองต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศทั้ง 6 ท่าน ได้แก่ คุณสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup, คุณชลิตา สมุทรรัตน์ รองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, คุณนุชนาถ คุณความดี ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, คุณปฤษฎา หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาอิสระด้านพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี, คุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Ted Fund)

ทีมผู้ชนะเลิศ Startup Thailand League 2024 ระดับประเทศ ได้แก่

- ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม MedStream Innovations สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับโล่รางวัลและเงินรางวัล 50,000 บาท

- รองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมScamtify มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับโล่รางวัลและเงินรางวัล 30,000 บาท

- รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม DigiPeak มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รับโล่รางวัลและเงินรางวัล 20,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีรางวัล University of The Year สำหรับมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมผลักดันทีมนักศึกษาสู่ชัยชนะ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ทั้งนี้ ดร.กริชผกา
กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอแสดงความยินดีแก่ทีมน้องๆ นักศึกษาที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ทุกทีมล้วนเป็นตัวแทนดาวรุ่งแห่งวงการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากทีมผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์อันโดดเด่น ในการนำเสนอไอเดียนวัตกรรม เพื่อพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสังคมอย่างแท้จริง โครงการ Startup Thailand League คือจุดเริ่มต้นของการสร้างและการบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย จากจุดนี้ไป ยังมีกลไกภาครัฐต่างๆ รวมถึงกลไกของ NIA มาสนับสนุนน้องๆ ทั้งการให้ทุนผู้ประกอบการและการเชื่อมโยงกับนักลงทุนต่างๆ โดยเรามุ่งหวังว่าในอนาคต จะได้เห็นน้องๆ เติบโตต่อไปจนถึงระดับยูนิคอร์นของประเทศ”


นอกจากนี้ยังมีรายชื่อ 14 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือก เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Startup Thailand League 2024

ภาคกลางและภาคตะวันออก Auto Syringe มหาวิทยาลัยมหิดล Auto Syringe เครื่องผสมยาทางการแพทย์ กำจัดอันตรายและความเสี่ยงแก่เภสัชกร

ภาคเหนือ MediGuard มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง MediGuard ผลิตภัณฑ์แผ่นปิดแผลกดทับ ดูดซับของเหลว ปล่อยตัวยา และลดการอักเสบ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ MIX-MOO มหาวิทยาลัยมหาสารคาม Chog-Cow ผลิตภัณฑ์เจลผสมเทียมต้านมดลูกอักเสบวัว

ภาคกลางและภาคตะวันออก Scamtify มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Scamtify แพลตฟอร์ม สำหรับตรวจสอบมิจฉาชีพออนไลน์ ได้ง่าย ๆ ในคลิกเดียว เพื่อให้คุณใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และมั่นใจมากขึ้น

ภาคใต้ Bualoitech มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Learnliko, AI speaking partner แพลตฟอร์มสำหรับฝึกพูดภาษาอังกฤษผ่านโค้ชเอไอ

ภาคกลางและภาคตะวันออก MedStream Innovations สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง MedStream Innovations ผู้ผลิตและออกแบบอุปกรณ์ อวัยวะบนชิป (Organ-on-chip) ตามความต้องการของนักวิจัยเชิงการแพทย์และเภสัชศาสตร์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ MISKA, MUSKA, MILD MOUSSE! มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Mild Mousse ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผมแบบไม่ใช้น้ำ ช่วยให้ผู้ป่วยที่ลำบากในการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะสามารถสระผมได้ง่ายขึ้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ FBP1 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Green Fang ผลิตภัณฑ์กระดาษทิชชูจากตอซังข้าว ช่วยลดการเผาทำลาย และการตัดต้นไม้ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ภาคกลางและภาคตะวันออก JENNYWONG มหาวิทยาลัยบูรพา นวัตกรรมชุดคาบาเร่ต์โชว์ถอดประกอบได้เจ้าแรกของวงการโชว์

ภาคเหนือ ไร่ผู้ใหญ่มูล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ Peat Plant : วัสดุเพาะเมล็ดและต้นกล้าจากวัตถุอินทรีย์ธรรมชาติ

ภาคใต้ EcoPhage มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Ecophage: ผลิตภัณฑ์สารเสริมชีวภาพจากแบคเทอริโอเฟจเพื่อควบคุมเชื้อ E. coli ก่อโรคในสัตว์ปีก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ Artmosphere จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Artmosphere ระบบตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์สำหรับดิจิทัลอาร์ตติส ด้วย AI

ภาคใต้ Start noww มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Speaks Sun แอปพลิเคชันสื่อประกอบการบำบัดและฝึกออกเสียงสำหรับผู้ป่วยโรคพูดไม่ชัดในเด็กที่เข้าถึงง่าย

ภาคเหนือ DigiPeak มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง Demeter ระบบอากาศยานไร้คนขับอัตโนมัติสำหรับเกษตรกรรมแม่นยำสูง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น