กทพ. ไม่หวั่นเสียงคัดค้านของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เดินหน้าสร้างอุโมงค์ N1 ในขณะที่ผู้คัดค้านมองว่าคุ้มไหมงบเกือบ 50,000 ล้านบาท โดยที่ประชาชนต้องแบกรับค่าผ่านทางสูงถึงกว่า 70 -100 บาท ซึ่งภาพรวมกทพ.อาจจะต้องขาดทุนกว่า 23,000 กว่าล้านบาท กับเส้นทางแค่ 10 กม. ด้านนักวิชาการชี้ หมดยุคแล้วทางด่วนผ่าใจกลางเมืองแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มี ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น เต็มห้องประชุมแกรนด์บอลรูม เพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาล ว่าจะดำเนินการก่อสร้าง ต่อหรือไม่
ทั้งนี้ ทางฝ่ายการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำโดย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมตอบข้อซักถามของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ และยังมี ดร.วุฒิชัย พรรณเชษฐ์ ผู้จัดการโครงการ และ นายประเทือง อินคุ้ม วิศวกรปฐพีวิทยาฐานรากอาวุโส และ นายธนิสร์ สมเจตนะพันธ์ วิศกรโครงการ รวมถึง นายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมให้ข้อมูล ในส่วนของความจำเป็น และความปลอดภัย แนวทางการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นายสุรเชษฐ์ กล่าวถึง วัตถุประสงค์ ของโครงการ ว่า ที่ผ่านมา ปัญหาด้านการจราจร ในช่วงทางพิเศษศรีรัช ตั้งแต่ ถนนงามวงศ์วาน เส้นเกษตรนวมินทร์ มาจนถึงถนนประเสริฐมนูกิจ โดยเฉพาะช่วงแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การจราจรคับคั่งมาก มีความพยายามก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางด่วนในช่วงนี้ มาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ครั้งนี้ ได้ทำการศึกษา และวางแผนมาเป็นระยะเวลาหลายปี ผลการศึกษาออกมาในรูปแบบของ โครงสร้างอุโมงค์เป็นหลัก โดยจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช - ถนนงามวงศ์วาน ลอดผ่านแยกพงเพชร ผ่านถนนวิภาวดี แยกเกษตร ไปตามถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า
จากนั้น จะยกระดับข้ามแยกเสนานิคม และเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 บริเวณ แยกสุคนธสวัสดิ์ ถนนประเสริฐมนูกิจ สิ้นสุดโครงการ รวมระยะทาง 10.55 กิโลเมตร อุโมงค์มีความลึก กว่า 44 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล ค่าก่อสร้างในครั้งนี้ รวมอยู่ที่ 49,220 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2569-2574
ทั้งนี้ มีประชาชนบางส่วนมาร้องเรียน ทำให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 3 ปัญหาหลัก คือ มลพิษจากปล่องควันใกล้เขตชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบจากการเวนคืน และการก่อสร้างของโครงการคุ้มค่าและตอบโจทย์หรือไม่ โครงการนี้มีความพยายามผลักดันมา 25 ปี เนื่องจากการเดินทางไปตะวันตกไปตะวันออกมันจำเป็น
ด้านประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ออกมาแสดงความคิดเห็น และคัดค้านการก่อสร้าง เพราะเห็นว่า ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนเกือบ 50,000 ล้านบาท น่าจะไปทำอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่า เช่น การสร้างวงแหวนรอบนอกแทน และ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ปัจจุบัน การสร้างทางด่วนในพื้นที่เมืองไม่มีความจำเป็นแล้ว มันตกยุคไปแล้ว เพราะเมืองหลวง เหมาะกับการใช้รถไฟฟ้าสาธารณะ ที่ตอนนี้เกิดขึ้นหลายสายมากรอบเมืองหลวง ไม่ควรสนับสนุนให้คนเมืองหลวงมาใช้รถส่วนตัวกันอีก
ครั้งนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เหมือนพยายามจะดิ้นครั้งสุดท้าย เพราะถ้าดูจากจำนวนคนใช้รถไฟฟ้า หลายๆสายที่เปิดใหม่ ก็มีจำนวนคนขึ้นเพิ่มขึ้นทุกสาย และการที่ให้เกิดการก่อสร้างทางยกระดับในพื้นที่แห่งนี้ ด้วยงบที่มหาศาล พอมองถึงความคุ้มค่า มีเพียงแค่ 1% กว่า เท่านั้น และเมื่อการก่อสร้างมีมูลค่าสูงขนาดนี้ การเก็บค่าผ่านทางก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และถามว่าแล้วใครจะมาใช้ ซึ่งในส่วนของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง เราก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากตรงนี้ เลย เพราะไม่ได้มีทางเข้า หรือ ทางออกตรง มหาวิทยาลัย ซึ่งมีพนักงาน และนิสิต รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ กว่า 100,000 คน สุดท้าย การสร้างอุโมงค์ทางด่วน N1 ครั้งนี้ มันจะคุ้มค่าที่ลงไปเกือบ 50,000 ล้าน บาท ตรงนี้หรือไม่ เพราะสุดท้าย ทุกอย่างก็รวมกระจุกอยู่ตรงทางออกทั้ง รถที่วิ่งมาจากทางด่วนศรีรัช และยังมาเจอกับรถที่มาจากอุโมงค์ การจราจรเป็นคอขวด ยิ่งติดกันเข้าไปอีก
ทั้ง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการที่พักของตัวเองตั้งอยู่ตรงทางออก และทางเข้าอุโมงค์ทางด่วน ที่เจอกับมลพิษที่ปล่อยออกมาทุกวัน แม้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศ จะบอกว่า มีระบบบำบัดอากาศก่อนปล่อยออกมาก็ตาม แต่ทางผู้คัดค้านมองว่า แม้ว่าจะบำบัดอย่างไร ก๊าซคาร์บอนฯ ที่ถูกปล่อยออกมาจากควันพิษท่อไอเสียรถยนต์ ก็ไม่สามารถกำจัดออกได้หมด และลูกหลานของเขาจะอยู่กันอย่างไร กับควันพิษที่ปล่อยออกมาแบบนั้นทุกๆ วัน
สุดท้ายข้อกังวลของหลายคน มันก็จบที่ว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะมองตรงนี้อย่างไร โดยเฉพาะความคุ้มค่าในการก่อสร้าง กับเส้นทางแค่ 10 กิโลเมตร กับงบที่ต้องใช้ เกือบ 50,000 ล้านบาท ก็คงต้องถึงเวลาที่ ประชาชนทั่วไป น่าจะได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย นอกเหนือจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงว่า ทุกคนที่ใช้เส้นทางนี้ต้องการหรือมี และความจำเป็นสำหรับอุโมงค์ทางด่วนแห่งนี้มีจริงหรือไม่ เพราะเมื่อถึงเวลานี้ ทางผู้ว่า ฯ ยังคงยืนยันว่าที่จะดำเนินการก่อสร้าง แบบ 99%