xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) 17 ปี “อาหารไทย-ซอฟต์เพาเวอร์” ในโตเกียว คนญี่ปุ่นหลงใหลเปิดสอนหลักสูตรอะไรก็แห่สมัครเรียนไม่เลิก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ความเชื่อมั่นความรู้สึกกับอาหารไทย คือ คนญี่ปุ่นอยากจะรู้จักอาหารไทยดั้งเดิม รสชาติแท้ ๆ ของไทยว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นนักเรียนที่มาเรียนที่นี่บางคนตั้งแต่เปิดโรงเรียนมา 17 ปี คนที่เรียนปีแรกของเปิดโรงเรียนทุกวันนี้ก็ยังกลับมาเรียนต่อ”


กว่า 15 ปีแล้วกับภารกิจการสอน “อาหารไทย” ประจำอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมไทยศึกษา ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อาจารย์ชนม์สิตา ดำรงค์ถิระรัตน์ หรือ “อาจารย์ดา” เล่าให้ฟังว่า เดิมทีโรงเรียนสอนอาหารไทยแห่งนี้เกิดขึ้นมาครั้งแรกสมัยโครงการของรัฐบาล “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต(ต้นสังเกิดเดิม) ได้ดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวซึ่งมีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่นในการมาเปิดศูนย์ประจำอยู่ที่นี่ ญี่ปุ่นถือเป็น 1 ใน 5 ประเทศเป้าหมายของโครงการฯ “เรื่องของอาหารไทยถ้าเขามาเรียนที่นี่ เขาจะได้รู้จักอาหารตั้งแต่เบสิก เช่น ผัดกะเพรา แกงเขียวหวาน ผัดไทย อันนี้เป็นอาหารที่เขารู้จักคุ้นเคยดี แต่ ณ ปัจจุบันนี้ นักเรียนที่เข้ามาเรียนที่นี่มีการ advance เมนูอาหารเขาเรียกอาหารที่เป็น original ดั้งเดิมเขาเข้าใจแล้ว แต่ว่าอาหารที่เกิดอาหารใหม่ ๆ แต่ยังคงรสชาติเป็นอาหารไทยอันนี้เขาอยากรู้มาก”การเผยแพร่วัฒนธรรมการทำอาหารไทยซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลโดยทางมหาวิทยาลัยได้เลือกตัวแทนที่จะมาประจำตามศูนย์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยใน5 ประเทศ อาจารย์ถูกคัดเลือกมาเป็นอาจารย์ประจำที่ศูนย์ที่ญี่ปุ่น“จริง ๆ แล้วคืองบประมาณของรัฐบาลสิ้นสุดมานานแล้วแต่ทางมหาวิทยาลัยยังมีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่นอยู่ก็ยังคงต่อเนื่องโครงการมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง4 ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยไม่มีโครงการที่จะส่งบุคลากรไปประจำต่างประเทศอีกแล้วเนื่องจากว่า ต้องเรียกบุลากรกลับมหาวิทยาลัย เรามองเห็นว่าคนญี่ปุ่นตลอดเวลาที่ผ่านมาที่เราสอนอาหารอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนะคะ คนญี่ปุ่นยังมีการมาเรียนต่อเนื่องกันและก็ให้ความสนใจอาหารไทย ก็เลยมองตรงนี้ว่ามันน่าเสียดายถ้าเราจะทิ้งตรงนี้ไปทำให้ดำเนินการต่อไม่ได้ มันก็น่าเสียดาย ที่เราจะต้องเผยแพร่พวกวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยและก็อาหารไทย” การตัดสินใจอยู่ที่นี่ต่อเพื่อดำเนินงานให้มีความต่อเนื่องไป คือทางเลือกที่อาจารย์ดาตัดสินใจแล้ว ปัจจุบันสถาบันวัฒนธรรมไทยศึกษาแห่งนี้เปิดดำเนินงานต่อในนามของภาคเอกชนโดยมีผู้บริหารคือ คุณพิมใจ มัตสึโมโต้ ซึ่งมีบทบาทในการดำเนินงานโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นอีกด้วย “ที่นี่ก็มีสอนหลายอย่างนะคะมีพวกวัฒนธรรมไทยต่าง ๆ เช่น ฟ้อนรำ แกะสลัก ภาษาและก็อาหาร มีครบวงจร”


คนญี่ปุ่นอยากรู้จัก “อาหารไทย” รสชาติแท้ ๆ ดั้งเดิมที่คนไทยคุ้นเคย
พอมีโรงเรียนสอนทำอาหารไทยโดยที่เป็นอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัย นักเรียนก็จะให้ความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากว่าครูผู้สอนถูกส่งตรงมาจากมหาวิทยาลัยเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำอาหารไทยโดยเฉพาะโดยตรง เป็นสาขาโดยตรง“คนญี่ปุ่นมองว่าถ้าได้เรียนอาหารไทยกับผู้เชี่ยวชาญ ก็จะมีความเชื่อมั่นในอาหารไทย ซึ่งปกติแล้วถ้าเขาไปตามร้านอาหารเขาก็จะบอกว่าร้านอาหารแต่ละร้านรสชาติไม่เหมือนกัน อาหารเหมือนกันแต่ออกมาหน้าตาก็อาจจะไม่เหมือนกัน และรสชาติอาจจะไม่เหมือนกัน”ความเชื่อมั่น ความรู้สึกกับอาหารไทยคือ คนญี่ปุ่นอยากจะรู้จักที่เรียกว่า อาหารไทยดั้งเดิม รสชาติแท้ ๆ ของไทยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้คนญี่ปุ่นเขามีการเปรียบเทียบด้วย เช่น เรื่องของอาหารไทยว่าอาหารไทยจริง ๆ แล้ว แท้ ๆ อย่างสมมุติ “ผัดไทย” จริง ๆ แล้วรสชาติเป็นอย่างไร ผัดไทยออกมาที่ถูกต้องมันควรจะเป็นอย่างไร


“แต่พอเขามาที่โรงเรียนเรา เขาลองมาทำดู สมมุติเราเปิดเมนูเดียวสอนผัดไทยอย่างเดียว ก็มีคนมาเรียนเยอะนะคะเหมือนกับว่าถ้าโรงเรียนเราเปิดเนี่ยเหมือนกับ เป็นการเขาเรียก Start สตาร์ทความพร้อม สตาร์ทที่จะรู้จักอาหารไทยก่อน ว่าผัดไทยจริง ๆ แล้วที่เขากินทุกที่ ที่ว่าแตกต่างกันเนี่ย จริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างไร พอเขาเข้ามาเรียนของเรา เขาเรียนรู้เสร็จเขาบอกมาเปรียบเทียบแล้ว เขากินอาหารไทยที่ผ่าน ๆ มาโรงเรียนเราไม่ใส่ชูรสนะคะ ทุกเมนูไม่มีชูรสเลย เราจะบอกนักเรียนเลยว่าความอร่อยอยู่ที่ความบาลานซ์ของเครื่องปรุงต่าง ๆ ในอาหารไทย เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาเปรียบเทียบว่าเขามาเรียนที่เรา เขาเอาไปเปรียบเทียบกับร้านอาหารเขาจะรู้เลยทันทีว่า อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่ เขาตอบได้เลยนะคะนักเรียนที่นี่”



สอนให้รู้จักอาหารไทยตั้งแต่ที่มา รสชาติจากวัตถุดิบหลักสำคัญที่คนไทยเลือกใช้
ที่นี่จะสอนกระทั่งการโขลกน้ำพริกแกงเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่เขารู้ว่าน้ำพริกแกงที่สำเร็จแล้ว กับน้ำพริกแกงที่เราโขลกเองมันจะมีความแตกต่างมาก อาหารที่ทำออกมาแล้วก็จะไม่เหมือนกัน เขาจะรู้เลยเวลาโขลกเครื่องแกงอาหารจะมีความหอม หอมเครื่องสมุนไพรต่าง ๆ ของไทยมากกว่า นักเรียนก็จะรู้แล้วเพราะเขาเรียนถึงต้นตอที่ว่าเครื่องแกงที่สำเร็จแล้วกับเครื่องแกงที่โขลกเองใส่อะไรได้บ้าง เขารู้ถึงขนาดนั้นเลย


“ที่โรงเรียนจะมีหลักสูตร เรามีหลักสูตรที่เหมือนที่ไทยสอน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ใช่ไหมเราใช้อันนั้นมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนญี่ปุ่น คือหลักการในการสอน เราสอนให้เขารู้จักก่อนว่า เครื่องปรุงของไทยแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส เต้าเจี้ยว มันใช้อย่างไร ใช้กับเมนูอะไรบ้าง พอเขารู้จักพวกวัตถุดิบต่าง ๆ แล้วเวลาที่เขานำไปใช้ เขาจะรู้ว่าอันนี้ควรใส่หรืออันนี้ไม่ควรใส่” การเปิดสอนหลักสูตรสำหรับคนญี่ปุ่นที่เบสิกมี 2 สเกล คือ รุ่นเบสิก กับ Intermedia ระดับ 1 ระดับ 2 โดยที่ ระดับ1 จะสอนพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารง่าย ๆ ที่ขั้นตอนในการปรุงขั้นตอนเดียว สอนกระทั่งวัฒนธรรมให้รู้จักประเทศไทยก่อนให้รู้จักวัตถุดิบของไทย ให้รู้จักเครื่องปรุงของไทย รู้จักพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่คนไทยใช้ต่างกับของเขาอย่างไร ส่วนระดับ2 จะสอนเกี่ยวกับการใช้เมนูต่าง ๆ ที่มีเครื่องปรุงที่สอนในระดับ1 มาแล้ว ระดับ 2 มีการ advance ขึ้นมาอีกคือ การโขลกเครื่องแกงเองอาหารประจำภาคแต่ละภาคของไทย การจัดเซ็ตเมนูอาหารสำรับไทยจริง ๆ คนญี่ปุ่นเขาก็สนใจมากในการที่จะเรียนรู้อาหารไทย อย่างต่อเนื่องนะคะ ไม่ว่าจะเปิด Class ไหน อย่างไรเขาก็จะมีคนเรียนตลอด”


ผัดกะเพรา ต้มยำ ผัดไทย กลายเป็นเบสิกไปแล้ว เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นสนใจเมนู “อาหารประจำภาค” มากกว่า!
ก็จะมีเมนูพิเศษ คือ เมนูที่คนไทยกำลังสนใจ กำลังนิยมมาก หมายถึงที่เมืองไทยกำลังนิยมก็เอามาสอนที่นี่ด้วย “คนญี่ปุ่นก็แปลกนะคะเวลาที่ สำหรับที่นี่นะคะก็สังเกตดูว่าเมนูที่เป็นเบสิกจะไม่ค่อยสนใจจะเรียน พอเมนูที่เป็นแบบชื่อแปลก ๆ อย่างที่นี่สอนอาหารประจำภาคด้วยนะคะ หมายถึงภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และก็ภาคอีสาน จะมีสอนทุกเดือน ก็มีอาหารประจำภาค อาหารแนะนำ(ก็คือสำรับไทย) เราสามารถจะทำอาหารใน3 เมนูนี้ จัดเข้าสำรับเดียวกัน ก็จะสอนก็จะมีหลาย ๆ ห้องที่สอนอยู่ที่นี่นะคะ คนญี่ปุ่นก็จะสนใจว่าอย่างเช่น อาหารประจำภาค เรามีชื่ออาหารที่เขาไม่เคยรู้จักเขาก็เรียน ที่สนใจตอนนี้ก็จะมี อาหารเหนือ อาหารใต้ เขาจะสนใจอาหารที่บางทีตัวเราเองบางคนที่เป็นคนไทยยังไม่รู้จัก” บางคนเรียนเสร็จแล้วก็สามารถเอาไปเป็นอาจารย์มาเรียนที่นี่เพื่อจะไปเปิดสอนเป็นอาจารย์เปิดสอนอาหารไทยของเขาก็มี หรือเปิดร้านอาหาร ตัวอาจารย์เองก็ต้อทำการบ้านตลอดเวลา เพราะว่าจะแพลนครั้งหนึ่งในการสอนนักเรียน ครั้งหนึ่งิ 3 เดือน (4 ฤดูกาล) ต้องเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ทุก ๆ 3 เดือน


ความหลงใหลในอาหารไทยรสจัดจ้าน รสเผ็ดขนาดไหนที่คนญี่ปุ่นรับได้?
ตอนนี้ในญี่ปุ่นเองถามว่า อาหารไทย เป็นที่ชื่นชอบไหม? ชื่นชอบเพราะว่าสังเกตดู ตามบริษัทต่าง ๆ เช่น บริษัทหรือ canteen ตามโรงงานต่าง ๆ เขาจะมาเรียนที่นี่ด้วย เวลาจัดงานอีเว้นต์ จัดงานไทยฟู้ดโปรโมชัน ตามที่โรงงานต่าง ๆ เวลาเขามาเรียนที่นี่เขาก็จะเอาเมนูไปทำ ก่อนที่เขาจะทำขายจริง ๆ เขาก็จะต้องให้ทางโรงเรียนไปเทสต์ก่อนว่ามันถูกต้องตามที่เขาเรียนไปไหน รสชาติ นอกจากบริษัทต่าง ๆ เช่นบริษัทในญี่ปุ่นหลาย ๆ บริษัทก็สนใจที่จะทำอาหารไทยเป็นของตัวเองโดยที่มาเรียนกับทางสถาบันฯ และก็ทำอาหารไทยเพื่อที่จะขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของตัวเองก็มี




การทานอาหารไทยของคนญี่ปุ่น จริง ๆ แล้วถามว่าเขาทานรสชาติ อาหารไทยก็จะมีครบรสอยู่แล้ว แต่ว่า “รสจัดจ้าน” ก็คือไม่ใช่ความเผ็ด! ไม่นับเรื่องของความเผ็ด “ความเผ็ดคือคนญี่ปุ่นทานไม่ได้เยอะอยู่แล้ว แต่ว่าเครื่องปรุงต่าง ๆ อย่างเช่น รสชาติต่าง ๆ ก็จะเป็นรสจัดเขาก็ทานได้มากขึ้น แต่รสเดียวที่เขาทานไม่ได้คือ รสเผ็ด” ตอนนี้มีญี่ปุ่นบางคนก็ทานเผ็ดเก่ง สามารถเพิ่มพริกได้มากบางคนทานเผ็ดมากกว่าคนไทยก็มี แต่ถ้าส่วนใหญ่ก็คือทานเผ็ดไม่ค่อยเยอะ


แกงเขียวหวาน ต้มยำ ส้มตำ ผัดไทย ผัดกะเพรา ประมาณนี้ที่เขาชื่นชอบจะสังเกตดูว่าถ้าเขาจะพูดถึงอาหารไทย คุณชอบอาหารไทยอะไรบ้าง เคยทานอาหารไทยไหม? เคยทาน ถามอะไรที่เคยทานแล้วชอบ แกงเขียวหวาน ผัดไทย กะเพรา ประมาณนี้ถ้าเป็นสลัดก็คือ ส้มตำ“เปิดใจ อย่างเช่นเราสอนอาหารอีสานเราใช้ ปลาร้า เขาทานปลาร้าได้ เขารับรสของปลาร้าได้ซึ่งบางคนบอกว่าปลาร้าบางคนคนไทยยังไม่ทานใช่ไหมคะ คนญี่ปุ่นพอเราสอนไปปุ๊บทุกอย่างที่เป็นเมนูอีสานเราจะมีปลาร้าเป็นส่วนประกอบในการปรุงรส เพราะฉะนั้นถามว่าทานได้ไหมนักเรียนที่มาเรียนทานได้หมด แต่ว่าต้อง คือธรรมชาติของคนญี่ปุ่นต้องปรับเรื่องรสชาตินิดหนึ่ง เช่น อย่างส้มตำปลาร้าเราจะไม่ใส่น้ำตาลใช่ไหมคะ แต่ว่าคนญี่ปุ่นทานต้องมีน้ำตาลนิดหนึ่ง ต้องมีน้ำตาลตัดรส ไม่ใช่โดด ๆ แบบเค็ม เผ็ด เค็ม อย่างนี้ไม่ใช่ ก็จะมีน้ำตาลลงไปนิดแบบว่าไม่ให้หวานมาก ไม่ให้เพี้ยนจาก original มาก บางครั้งอาจารย์สอนอาจารย์ก็ต้องบอกเขานะคะว่า เมนูนี้เขาไม่ใส่น้ำตาลแต่ที่ใส่น้ำตาลให้เพื่อปรับรสชาติให้มันกลมกล่อม เพื่อให้คนญี่ปุ่นทานได้”

รสอาหารไทยเราจะบอกเสมอว่า มันเป็นรสชาติที่กลมกล่อมนะ อย่างคนบอกว่าพอบอกว่าเอารสชาติจัด ตามร้านอาหารไทยบอกเอารสชาติจัด เขาจะเอาเผ็ดมาก่อนเลย ซึ่งความจัดของเรามันไม่ใช่ความเผ็ด! มันเป็นรสชาติในอาหารที่มันกลมกล่อมมากกว่า


“อาหารไทย-ซอฟต์เพาเวอร์” การคงเอกลักษณ์ “รสชาติ” ไว้คือสิ่งสำคัญ
อ.ชนม์สิตา ดำรงค์ถิระรัตน์(อาจารย์ดา) อาจารย์สอนอาหารไทยประจำสถาบันวันธรรมไทยศึกษา กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกด้วยว่า หลักการสอนของที่นี่อีกอย่างหนึ่งที่ทำเป็นมาตรฐานเลย คือ การ “ชั่ง-ตวง-วัด”ในสูตรอาหารจะมีสูตร ขั้นตอนการทำ แต่ที่จะบอกกับนักเรียนเสมอเลยว่าในสูตรที่ให้คุณไป (recipe) มันจะมีข้อสำคัญ เช่น เครื่องปรุงต่าง ๆ วัตถุดิบ เช่น น้ำปลา(ใช้ยี่ห้อนี้) ซีอิ๊วขาว(ใช้ยี่ห้อนี้) เพราะว่าจะต้องบอกนักเรียนด้วย น้ำปลาแต่ละชนิดมันจะมีความเค็ม-หวาน ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากได้ในสูตรนี้ที่เหมือนกับที่คุณเรียนไปเลย เป๊ะ ๆ เลย มีการชั่ง-ตวง-วัด มีบอกหมดว่าทุกอย่างจะใช้เป็นการ “ชั่ง” ว่าเป็นกรัมหมด ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล น้ำปลา น้ำมะนาว น้ำสต๊อก ฯลฯ ชั่งน้ำหนักเป็น “กรัม” ทั้งหมด คุณจะไปทำกี่ครั้ง ๆ มันก็จะเป็นรสชาติเดิม โดยที่คุณไม่ต้องมานั่งชิม




“ความแตกต่างระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนไทย อย่างคนไทยสนใจแต่เนื่องจากว่าคนไทยคุ้นเคยกับอาหารตัวเอง แต่บางคนคนไทยที่อาจจะรู้ให้มากให้ความสนใจในการที่จะเรียนรู้คือตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่ถามว่าคนญี่ปุ่นสนใจในอาหารไทยให้ความสนใจมากน้อยขนาดไหน คือเขามีความจริงจังมากในการเรียนรู้ เขาไม่ได้เข้ามาเรียนเหมือนปกติเพื่อเรียนเพื่อจะทำ แต่เขาเรียนรู้และศึกษา ศึกษามาก่อนว่าจริง ๆ แล้วคือ สมมุติเขามีข้อสงสัยว่าอาหารนี้ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เวลาเรียนเขาจะสนใจแม้กระทั่งวัตถุดิบที่ทำอย่างเช่น น้ำปลาทำมาจากอะไร เขาก็จะถามแล้วความตั้งใจของเขา ถ้าไม่มีน้ำปลา เราใส่อะไรไหม อันนี้คนไทยไม่เคยถามแต่คนญี่ปุ่นจะถาม ถ้าเราไม่มีวัตถุดิบตัวนี้ ใส่อะไรได้ไหม ถ้าเราไม่มีผักชีฝรั่ง ไม่มีใบแมงลัก จะใส่ใบอื่นแทนได้ไหม ฯลฯ ตัวอย่างแบบนี้คนญี่ปุ่นเขาจะจริงจังกับการเรียนการสอนของเรามาก”

ที่นี่ก็สอนคนไทยด้วย อบรมช่างฝีมืออาหารร่วมกับสถานทูต เคยสอนมาประมาณ13 รุ่นแล้ว สนับสนุนโดยสถานทูตไทย
คนไทยที่นี่เรียนก็เหมือนไปเรียนที่เมืองไทย(90 ชม.) ช่างฝีมืออาหารไทย คนไทยที่เรียนแล้วต้องการใบเซอร์ฯ เหมือนกัน


ในการสอนอาหารไทย ต้องระลึกเสมอเลยว่าเราจะสอนอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเมนูอะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องนึกถึงว่ารสชาติดั้งเดิมของไทยต้องคงรักษาไว้ ว่าเป็นรสชาติที่เราเป็นเอกลักษณ์สำหรับอาหารไทยทุกวันนี้ที่มีนักเรียนมาเรียนเยอะมาเรียนเรื่อย ๆ ก็คือความเชื่อมั่นในตัวครูผู้สอนว่า มาที่นี่แล้วเขาจะได้รับความรู้และได้รับอาหารไทยแท้ ๆ ที่เขาไม่สามารถจะไปหาเรียนได้ที่อื่น”คนที่ประกอบอาหารไทย ทำหรือเปิดร้านอาหารไทย ต้องนึกถึงมาก ๆ คือเรื่องของการใช้วัตถุดิบของไทยเพราะว่าบางครั้งก็ไปเปลี่ยนเอาวัตถุดิบที่มันมีอยู่ในญี่ปุ่นมาปรุง อย่างเช่น รสเค็มอาจจะไม่ใช้ซีอิ๊วขาวอาจจะใช้โชยุของญี่ปุ่นแทน รสชาติก็จะเปลี่ยน แล้วแต่ละร้านจริง ๆ แล้วคนที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ปรุง/พวกกุ๊กต่าง ๆ จิตสำนึกในการทำอาหารมันสำคัญมาก เราทานได้ คนอื่นก็ต้องทานได้ แต่บางทีแล้วไม่ใส่ใจในการทำอาหารออกแต่ละจาน แต่ละจาน เพราะฉะนั้นบางครั้งอาหารรสชาติก็จะไม่เหมือนกัน รสชาติก็จะวันนี้อร่อย พรุ่งนี้ไม่อร่อย ก็จะเป็นประมาณนี้ร้านอาหาร จริง ๆ การจะเติบโตอย่างร้านอาหารที่เขาดัง ๆ มีมาตรฐานในการทำ รสชาติก็จะไม่ค่อยเปลี่ยน หน้าตาอาหารจะไม่ค่อยเปลี่ยน มีความเป็นมาตรฐานสำหรับร้านอาหาร ตรงนี้ก็อยากให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศทุก ๆ ประเทศใส่ใจในเรื่องการปรุงอาหารเพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด


ขอบคุณเรื่องราวและความรู้ดี ๆ จากครูไทยที่ไปสอนคนญี่ปุ่นให้รู้จักอาหารไทยและทำอาหารไทยเป็นอย่างถูกต้องตามหลักของรสชาติแบบไทยแท้ ๆ ดั้งเดิม อาหารไทย-ซอฟต์เพาเวอร์ ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มากว่า 17 ปีที่ ณ วันนี้น่าชื่นใจเพราะคนญี่ปุ่นยังให้ความสนใจและมาเรียนการทำอาหารไทยอย่างไม่เคยขาดช่วงกันเลย ขอบคุณอาจารย์ดาและสถาบันวัฒนธรรมไทยศึกษาที่กรุณามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ในครั้งนี้



คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น