xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) เปิดสวนชัยพรบอนไซไม้นอกราคาหลักแสน (อัพ!) และไม้ไทยอายุกว่า 100 ปี สะสมไว้มากกว่า 1000 ต้น ให้ชมฟรี!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผมว่า “บอนไซ” มันมีชีวิตในตัวของเขา บอนไซสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยของคนได้เยอะเลย อย่างคนใจร้อนถ้ามาจับบอนไซปุ๊บเขาจะร้อนไม่ได้เขาจะเย็นลงทันที เพราะว่าต้นไม้ต้นหนึ่งกว่าจะมาตัดกิ่งสักกิ่งเขาต้องมองแล้วมองอีกว่ากิ่งนี้ควรจะตัดหรือไม่ควรตัดเวลาเราเข้าลวดเรามือไม้ต้องอ่อนจะเข้ายังไงจะไปหักโหมก็ไม่ได้ เดี๋ยวกลัวกิ่งหักก็ต้องค่อย ๆ เข้ามาดัดแปลงก็คือคล้าย ๆ ว่าความจินตนาการ ต้นไม้แต่ละต้นของบอนไซจริง ๆ คือเป็นไม้ที่จินตนาการขึ้นมา หรือว่าสร้างความฝันให้เป็นความจริง

ไทรไทเกอร์จากไต้หวันต้นนี้ราคาที่ซื้อมาคือ 8 แสนบาท
ต้นไม้ทุกต้นไม่ใช่ว่าจะทำเหมือนกันหมด ไม่ได้ ต้องเอาต้นไม้ต้นนี้มามองว่าจะดัดแปลงให้มันยังไงให้มันเป็นกึ่งธรรมชาติ มันถึงจะสวย เพราะฉะนั้นบอนไซทำให้เราฝึกสมองไม่ให้สมองว่างถึงแม้ว่าเราจะรีไทร์เราว่าง ๆ แล้ว แต่สมองจะหยุดไม่ได้ก็เป็นสมองที่เราผ่อนคลาย“ผมก็ถือว่าการทำบอนไซของผมก็เหมือนกับเปรียบเสมือนเป็น “ยาอายุวัฒนะ” ของผมเป็นส่วนตัว”

ที่เรียกไทรไทเกอร์เพราะที่ผิวจะมีลายเหมือนลายเสือ
อดีตนักธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก ผู้บุกเบิกวงการ “สแตนเลส” ในไทย
คุณชัยพร สิริธนาโชติ ปัจจุบันอายุ 78 ปีเจ้าของสวนอินทผลัม&บอนไซ สวนชัยพร จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า ตนเองเริ่มต้นการก่อร่างสร้างตัวมาจาก “ลูกจ้าง” ในร้านขายยาออกมาทำงานเองตั้งแต่อายุ 14 ปี แล้วไป ๆ มา ๆ ก็ไปอยู่ร้านขายสีจากนั้นก็ลาออกมาทำกิจการขายสี-ส่งสีเอง จนกระทั่งมีโอกาสได้เปิดโรงงานผลิตสีแต่ว่าก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางเพราะด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ เลิกจากการขายสีก็หันเห มาทำอุตสาหกรรมเหล็กจากทีแรกก็ลงไปทำพวกเหล็กฉากเจาะรูก่อน“แต่ด้วยของผมเนี่ยเป็นคนมุมานะเอาจริง! เหล็กฉากของผมก็ได้รับความเชื่อถือจากท้องตลาดทำให้ผมขายดีมาก ในช่วงนั้นถือว่าผมเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเมืองไทยเราก็ได้ ยอดขายได้ดีมาก”จากการมีโอกาสไปต่างประเทศด้วยก็ทำให้ ได้เห็นว่าเฟอร์นิเจอร์ก็ดี ถนนหนทาง สะพานลอยก็ดี ฯลฯ เขาใช้เป็นสแตนเลสกันหมดแล้ว ซึ่งมาเปรียบเมืองไทยที่ยังใช้กัลวาไนซ์(แป๊บประปาทาสี) อยู่ก็เลยมีความคิดว่าอยากจะลงมาทำ “ท่อสแตนเลส” แล้วสมัยนั้นท่อสแตนเลสจะมาจากนอก ภาษีสูงเหลือเกิน(30 กว่า%) หากเราผลิตเองในนี้ยังไงมันต้องถูกแต่ว่าแพงกว่ากัลวาไนซ์ทาสีนิดหน่อย แต่ภายใน 2 ปีก็คุ้มแล้วในที่สุดตลาดในเมืองไทยก็ยอมรับ ยอมเปลี่ยนเป็นท่อสแตนเลสเปิดตลาดได้สำเร็จ เวลานั้นผมก็มีแค่โรงงานเดียวผมคนแรกที่ทำเป็นท่อเฟอร์นิเจอร์ เรียกเป็นท่อเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่ท่ออุตสาหกรรม ท่ออุตสาหกรรมมีอีกคนหนึ่งที่ทำก็เลยบูมขึ้นมาได้จังหวะ ก็เลยสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้มาถึงวันนี้”


บอนไซไม้ไทยที่มีอยู่ไม่มากในสวนแห่งนี้ เพราะเน้นไม้นอกมากกว่า ต้นนี้คือเทียนทะเล(ไม้ไทย) ที่เจ้าของภูมิใจในผลงานการเลี้ยงบอนไซต้นนี้มาก ๆ
ความหลงใหลใน “บอนไซ”
ในระหว่างที่ตนเองยังค้าขายอยู่นั้น เทคนิคต่าง ๆ หรือว่าเครื่องจักรก็ต้องไปซื้อมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะไต้หวันจะเดินทางไปบ่อยมากซึ่งที่ไต้หวันส่วนมากจะเล่น “บอนไซ” กันเยอะได้ไปเห็นก็เลย เกิดความหลงใหลขึ้นมา แล้วไต้หวันก็เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของตนมีพรรคพวกเยอะซึ่งส่วนมากก็เล่นบอนไซ ก็เกิดความหลงใหลบอนไซขึ้นมา


จนกระทั่งถึงอายุประมาณ 50 กว่า(59 แล้วจน 60 แล้ว) ก็มีอยู่วันหนึ่งถามลูกชายว่ากิจการพ่อจะสานต่อไหม? เขาก็ขออนุญาตไม่เอาได้มั้ย ตนเองก็เลยบอกว่าได้ เพราะเด็กสมัยนี้ไปบังคับเขาไม่ได้ “เพราะว่าผิดก็คือผมผิดเอง ผิดในข้อไหน เพราะตัวพ่อเอง ป.4 ไม่จบ แต่ส่งลูกเรียนดอกเตอร์ (หัวเราะ) แน่นอนที่สุดคำว่าดอกเตอร์เขาไม่มามุ่งกับเด็กคุยไม่รู้เรื่องในอุตสาหกรรม ก็เลยลูกไม่เอาเลยตัดสินใจผมก็เหนื่อยแล้ว 14 สู้มาถึง 60 ก็ควรจะเลิกสักที” ในเวลานั้นก็ธุรกิจก็มี “คู่แข่ง” มาเยอะแล้ว มีการแข่งขันเยอะแล้วอีกอย่างหนึ่งของจีนมันก็เข้า เทเข้ามาแล้ว กอปรกับมีการลดหย่อนเรื่องของภาษีให้ตามมาตรการของภาครัฐด้วยในสมัยนั้น แต่ของจีนก็อย่างที่เราทราบกันคือหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของสแตนเลสไม่ถึงบ้าง จะสังเกตว่าปัจจุบันสแตนเลสมีสนิมขึ้น! ไม่เกิน 3 เดือน แดง ๆ ขึ้นมาแล้ว“แต่ของผมใช้มา 40-50 ปีสนิมยังไม่ขึ้น ตัวนี้เนี่ยตัวแปรคือ นิเกิล ซึ่งตัวนี้มีราคาแพงมากเขาไม่ใส่นิเกิลเลย ลดต้นทุนแล้วความหนาก็ไม่ถึง อย่างมิลนึงก็อาจจะ 0.8 หรือ 0.75 อะไรแบบนี้ แต่ของผมมิลนึงก็คือมิลนึง” ก็คิดไปคิดมาก็น่าจะถึงวาระแล้วมั้ง ลูกไม่เอาก็ดีเหมือนกัน เรายุบเลยสละเลยดีกว่า ยอม คนเราถ้ายอมรับความเป็นจริงมักจะสบายใจและก็อยู่รอด


ต้นกำเนิดของบอนไซจริง ๆ แล้วไม่ใช่ “ญี่ปุ่น”
“ณ เวลานี้ในสวนของผมมองดูแล้วเนี่ย ใหญ่ ๆ เล็ก ๆ ผมว่ามีเกือบพันแต่จริง ๆ เท่าไหร่ผมไม่เคยได้นับ แต่สำหรับของผมที่นี่ไม้ไทยผมมีน้อยมากเพราะว่าอย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าผมเดินทางบ่อยแล้วก็มีพรรคพวกที่เล่นบอนไซอยู่ในต่างประเทศเยอะแล้วชอบก็ซื้อชอบก็ซื้อ ก็ส่วนมากที่นี่ผมส่วนมากจะเป็นไม้ต่างประเทศ”ไม้ต่างประเทศในนี้โดยความชอบส่วนตัว ตนเองเป็นคนที่ชอบไม้ “สน” มาก ๆ เพราะคำว่าสนคือ อายุยืน แล้วมันเป็นไม้ที่มีความสวยงามมากและก็เลี้ยงชั่วลูกชั่วหลานได้ ถ้าเราเลี้ยงดูเขาดีส่วนตัวคือจะชอบสน แล้วก็ “ต้นไทร” ส่วนไม้ไทยก็มี เทียนทะเล แต่ว่าเทียนทะเลเวลานี้ไม่ได้แล้วเพราะผิดกฎหมาย(มีกฎหมายออกมาแล้ว) แต่ตนเองซื้อเข้ามาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเวลานั้นกฎหมายตัวนี้ยังไม่ออก


“การเลี้ยงไม้คือแบบนี้นะครับขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ อย่างผมยกตัวอย่าง อย่างที่ญี่ปุ่นจริง ๆ ผมต้องบอกว่า คำว่า บอนไซ แหล่งกำเนิดของบอนไซจริง ๆ อยู่ประเทศจีนเมื่อเป็น 1000 ปีที่แล้ว ต้นกำเนิดของคำว่าบอนไซ อย่างเราจะสังเกตเห็นว่าในหนังเนี่ยนะพวกบ้านเจ้าสัวหรือบ้านขุนนางใหญ่ ๆ ในห้องรับแขกเนี่ยจะต้องมี กระถางต้นไม้ตั้งอยู่ในห้องรับแขกภายหลังมีสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น ก็เลยเอาต้นไม้บอนไซเนี่ยกลับไปญี่ปุ่นบ้าง จริง ๆ บอนไซในภาษาจีนเรียกว่า “เผินไจ”(pun-sai) เผินก็แปลว่ากระถาง ไจก็คือหมายความว่าการเพาะปลูก การเพาะปลูกอยู่ในกระถาง ทีนี้ญี่ปุ่นเอาไปแล้วมัน “เผินไจ” ญี่ปุ่นออกเสียงไม่ได้เลยกลายเป็นว่า บอนไซ เพราะฉะนั้นทั่วโลกต่าง ๆ เนี่ยเขาก็บอนไซเนี่ยคือต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น จริง ๆ ไม่ใช่”


ความท้าทายคือการสามารถเอาชนะธรรมชาติได้!
คุณชัยพรบอกว่า บอนไซไม่ได้มีมาตรฐานเรื่องใดที่บังคับเอาไว้ แต่มาตรฐานก็คือว่าทำยังไงความจินตนาการของเราแล้ว ออกมาแล้วคนมองแล้วว่าสวย ชอบ นั่นแหละคือแค่นั้นเอง“แต่ในอดีตที่ผ่านมาเขาก็สร้างมาตรฐานขึ้นมาว่า ต้นไม้ต้องดู “โคน”ดูลำต้นของต้นไม้ใหญ่แค่ไหน ขึ้นมาเท่าไหร่ มีกิ่งหนึ่งกี่องศา กิ่งสอง กิ่งสามอยู่ตรงไหน ผมก็ไปขัดแย้งกับพวกเขาผมบอกมันไม่ใช่ แบบนี้เป็นพวกไม้โคลนนิ่ง เพราะบอนไซแต่ละต้นจะต้องไม่เหมือนกัน สรีระหรือรูปทรงของต้นเขาจะต้องมีความอิสระกึ่งธรรมชาติ เราสามารถคำว่าบอนไซเนี่ยสามารถเอา “ไม้ธรรมชาติ” ต้นใหญ่ ๆ มาสตัฟฟ์อยู่ในกระถางต้นไม้ ถึงเรียกว่าบอนไซ”ไม่ใช่ไปบังคับว่าจะต้องมาเป็น มีกิ่งหนึ่ง กิ่งสอง กิ่งสาม ยอดกับโคนต้นไม้ต้องอยู่ในองศาเดียวกันมันไม่ใช่ มันจะชะโงกไปทางไหนก็ได้เพียงแต่ว่า มันได้มิติหรือเปล่า สามมิติมั้ย มีมิติมั้ย ถ้าทุกต้นเหมือนกันมันจะเรียกบอนไซไม่ได้“ผมพูดถึงมาตรฐานของต่างประเทศ ไม้ใหญ่เนี่ยเขาจากกระถางต้นไม้บนดินนะครับขึ้นมาถึงยอด ไม่เกิน 1.2 เมตรเขาถือว่าไม้ใหญ่ เกินกว่านั้นเขาจะไม่รับประกวด เพราะถือว่าไม่อยู่ในใจความของบอนไซ แต่เล็ก 2 นิ้ว 3 นิ้วได้หมดในกระถางเล็ก ๆ เพราะว่ายิ่งเล็กยิ่งเลี้ยงลำบาก ไม่ใช่ต้นเล็กเลี้ยงง่าย”


ส่วนตัวมองว่าการเล่นไม้บอนไซในแถบเอเชียเราจะได้เปรียบ เพราะอย่างเมืองไทยเองมีอากาศเย็น บ้านเรามีอากาศแบบหลายอุณหภูมิ อย่างตนเองชอบ “ไม้สน” ยกตัวอย่าง สนจูนิเปอร์ ซึ่งสมัยก่อนเมืองไทยเลี้ยงไม้ตัวนี้ไม่ได้เพราะอากาศมันร้อน“ผมก็อยากเอาชนะต้นไม้เหมือนกัน ก็มาดัดนิสัยให้สนจูนิเปอร์อยู่ในเมืองไทยได้ โดยที่ว่าผมปลูกสนจูนิเปอร์อยู่ในดินแล้วก็เอาซาแรนคลุมหมดเลย 80% เนี่ยคุมหมดเลย คุมไป 3-4 ปีมั้ง จนให้มันสัมผัสกับอากาศเมืองไทยได้ เพราะฉะนั้นสนจูนิเปอร์ผมใช้ได้” เอาชนะต้นไม้ได้สำเร็จ อย่างอีกตัวหนึ่งยากกว่าสนจูนิเปอร์คือ “สนชินจูกุ” ชื่อก็บอกแล้วของญี่ปุ่นผมก็เอาชนะได้ อยู่ในเมืองไทยได้สบาย นี่ก็คือความภูมิใจของคนที่เล่นต้นไม้ เราสามารถเอาชนะเขาได้“แล้วอย่างบอกว่าบอนไซเนี่ยมีชีวิต ก็เราปลูกอยู่ในกระถางแค่นั้นมีดินอยู่แค่นั้นเนี่ย ต้นไม้เนี่ยก็อาศัยดินเป็นอาหาร แร่ธาตุของอาหารมันก็มีหมดไป เราจะเอาชนะอย่างไรมาปรุงแต่งให้ดินที่ในกระถางเนี่ยมีแร่ธาตุอยู่ตลอดเวลา ใช่มั้ยครับมีแร่ธาตุตลอดเวลา เพื่อให้ต้นไม้เนี่ยมีชีวิตแล้วงอกงามได้ นี่ก็คือความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของความคิดของในความจินตนาการ”


สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณค่าทางจิตใจ ราคามีขึ้น-มีลงตามกระแส
บางต้นผมซื้อมาในราคา 8 แสน 5 แสน 6 แสน(ต่อ1 ต้น) ต้นเดียวนี่เป็นจิ๊บ ๆ ของเด็ก ๆ เท่านั้น ไม้ของญี่ปุ่นต้นหนึ่ง ๆ ซื้อขายกันเป็น 100 ล้าน! ที่ญี่ปุ่นเล่นบอนไซถึงกับต้องเขียนลงในพินัยกรรม ว่าต้นนี้แบ่งให้ลูกคนไหน ต้นนี้แบ่งให้ลูกคนไหน ไม่เอาเขาฟ้องร้องกันเพราะบอนไซมีค่าแบบ “ประเมินค่า” ไม่ได้ นั่นก็คือญี่ปุ่น ไต้หวันเองก็เหมือนกันต้นหนึ่งเป็นหลักล้านนี่คือเป็นไม้จิ๊บ ๆ สำหรับนักเล่นบอนไซต้น 8 แสนของผมที่ซื้อมานี่คือเป็นต้นไทร “ไทรไทเกอร์” ที่เรียกว่าไทรไทเกอร์เนี่ยเพราะว่า ผิวมันเนี่ยมีลายเหมือนลายเสือก็เลยตั้งชื่อว่าไทรไทเกอร์ เป็นไม้ของไต้หวัน” ซึ่งตอนแรกไปถามใหม่ ๆ เขาก็เปิดราคาอยู่ที่ 2 ล้านบาท เพราะมันเป็น season มันเป็นเหมือนยุคของเขาที่ว่า ช่วง 2-3 ปีนี้เล่น “ไทร” บูมเรื่องไม้ไทร 2-3 ปีนี้อาจจะมาบูมเรื่องสนใบพาย 2-3 ปีนี้อาจจะมาบูมเรื่องหอมหมื่นปี(หรือว่าต้นแก้ว) เป็นต้น ก็เป็นยุค ๆ ของต้นไม้แต่ละชนิดไป เหมือนในบ้านเราก็วงการพระอาจจะเวลานี้เล่นพระสายนี้นะ เดี๋ยวเล่นสายนั้นนะ พอผ่านไปสักพักราคาก็ตกอะไรแบบนี้ ก็พอ ๆ กันไทรไทเกอร์ได้เข้ามา ก็10 กว่าปีแล้วนะผมใช้เวลาอยู่ 2 ปี บางต้นผมใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะได้มา เหมือนจีบผู้หญิงคนหนึ่งเลยต้องจีบให้ได้ขึ้นอยู่กับความมุมานะของเรา สิ่งที่เราอยากได้เรามีมานะเปล่าว่าเราต้องได้มา แต่บางคนอาจจะไม่ใช่”



ความสุขทางใจที่ชี้วัดได้ คือ การมี “สุขภาพดี”
ขึ้นอยู่กับการดูแล การเอาใจใส่ การปรุงอาหารก็เหมือนกับมนุษย์เราที่บอกว่าเขามีชีวิต เหมือนมนุษย์เราก็ต้องมีอาหารเสริมบ้าง ไม่สบายบ้างควรจะหาหมอจ่ายยาอะไรบ้าง บอนไซก็เหมือนกันเพลี้ยมาจะต้องใส่ยาอะไรให้ฆ่าเพลี้ย แร่ธาตุอาหารในดินหมดเราควรจะใส่แร่ธาตุอะไรเสริมแต่งเข้าไป ไม้ชนิดไหนเหมาะกับดินประเภทไหนเราต้องเรียนรู้ เรียนรู้จากอะไร ธรรมชาติว่าไม่ตัวนี้ต้นกำเนิดมันเกิดจากที่ไหนมา เขาชอบอาหารหรือดินประเภทไหนเราควรจะหาอาหารหรือว่าดินประเภทนั้นมาให้เขา“อย่างเทียนทะเลคนอื่นเขาปลูกเทียนทะเลผมก็ไม่ไปเถียงนะ เขาบอกว่าต้องเอาเกลือทะเลมาโรยเพราะเทียนทะเลส่วนมากมันอยู่ตามชายหาดหรือตามริมเกาะ มันอยู่กับน้ำเค็มต้องเอาน้ำทะเลมารดเอาเกลือมาโรยผมไม่มีล่ะฮะ ผมใช้ขุยมะพร้าว 100% ไม่มีดินแม้แต่นิด แต่มาปลูกในดินตายครับ! เพราะเขาไม่ชินเพราะขุยมะพร้าวในนั้นมีความกร่อยความเค็มของมะพร้าวอยู่ในนั้น ผมเอาขุยมะพร้าวแล้วผมกล้ารับรองว่าผมมีต้นหนึ่ง ซึ่งในเมืองไทยนี่ผมกล้าท้าว่าจะหาต้นสวยกว่านี้หรือว่าต้นใหญ่กว่านี้ก็หายาก ไม่กล้าบอกไม่มีนะแต่บอกว่ายาก ก็เป็นความภูมิใจของผมเป็นซิกเนเจอร์ในสวนของผมเหมือนกันว่า ผมมีความภูมิใจที่ผมสามารถเลี้ยงต้นนี้แล้วก็เลี้ยงได้สวย ทุกคนมาทุกคนชมแม้แต่ต่างประเทศมาก็ชม”

ผมรู้สึกชอบหมดทุกต้นนะ มีความผูกพันสำหรับเขาอยู่กับผมมาเป็นสิบ ๆ ปี บางทีเหมือนว่าเขาคุยกับผมได้ด้วย รู้สึกอย่างนั้นอย่างบางทีมอง ๆ ต้นนี้มันก็สวยดีมองนาน ๆ แล้วรู้สึกมันจะมาสะกิดใจว่าตรงนี้มันต้องดัดแปลงไปตรงนี้หน่อย ไปตรงโน้นอีกนิด มันเหมือนกับเขาคุยกับเราได้ ซึ่งนี่คือความสุข ต้นที่มีอายุมากที่สุดในนี้เกือบ 100 ปี! มีต้นเกือบ 100 ปีด้วย ส่วนนอกนั้นอย่างเล็กสุดในนี้ผมจะเล็กยังไง ก็มีเป็นสิบอัพ! สิบกว่าปีขึ้น

“ส่วนตัวผม ผมถือว่าบอนไซเนี่ยมันเป็นยาอายุวัฒนะส่วนตัวของผมนะฮะ อย่างยกตัวอย่างเนี่ยผมเคยเกิดอุบัติเหตุไปลื่นหิมะล้มที่ญี่ปุ่น ที่ฮ็อกไกโดถึงกับเลือดคลั่งในสมองสลบคาที่เลยนะฮะ แล้วก็ผ่าสมองมา ผ่าสมองมาแล้วกลับมาวันนี้ผมยังเดินได้ ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง ขับรถได้ ความจำกลับคืนมาทุกสิ่งทุกอย่างความสุข รู้สึกว่าสุขภาพจะดีกว่าอดีตด้วยซ้ำนะฮะ ผมคิดว่าเพราะบอนไซ”

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงกันในวงการว่าที่นี่ถูกจัดอันดับให้เป็น “1 ใน 3” ของสวนบอนไซในประเทศไทยที่มีไม้เยอะหรือจัดเป็นสวนขนาดใหญ่นั้น ในเรื่องนี้คุณชัยพรบอกด้วยว่าตัวเขาเองถือว่าอยู่แบบธรรมดาจะมีความสุขมากกว่า แต่ก็บอกได้ว่าความสวยงามต้นไม้ของผม ผมกล้าบอกได้ว่าผมไม่แพ้ใครเหมือนกัน พูดแค่นี้ดีกว่า ไม่ใช่ว่าจะชนะเขาหมดก็ไม่บอกแบบนี้ ถามว่าไม่แพ้ใครก็แล้วกัน แต่ว่าการจัดสวนมาตรฐานจัดแบบระบบมีระเบียบผมก็บอกว่าผมเอาจริง! การจัดระเบียบของสวนน้อยสวนนักที่มีระเบียบเรียบร้อยเหมือนสวนผม ก็ไม่มีเหมือนกัน มีครับแต่ว่าก็มีไม่กี่คน นอกจากนี้ปัจจุบันที่สวนบอนไซ “สวนชัยพร” แห่งนีก็ได้เปิดให้คนทั่วไปที่มีความสนใจไม้บอนไซรวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาเพื่อชมฟรีอีกด้วย โดยเจ้าของบอกว่า“ครับผมเป็นสวนเปิดนะฮะผมยินดีต้อนรับทุกคนที่เข้ามาชมสวน ไม่มีค่าบริการ ไม่มีเพราะว่าผมถือว่า เรามีของดีเราต้องอวด แล้วคนที่มาแล้วได้รับความสุขกลับไปมั้ย ถ้าคนที่มาแล้วมีความสุขกลับไปผมก็มีความสุข” ก็เหมือนกับเราได้สร้างบุญ ทำให้คนอื่นมีความสุขได้มีความสุขไปด้วย ได้สร้างบุญ แล้วคนเล่นบอนไซด้วยกันผมก็บอกเหมือนกันว่าใครที่จะมา ถ้ามีปัญหาในการปลูก ผมยินดีถ่ายทอดความรู้ของผมที่มีอยู่ให้กับทุกคน โดยไม่มีอะไรตอบแทนไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น แล้วก็มานั่งคุยกันดื่มน้ำชาดื่มกาแฟ พูดคุยกันนี่ล่ะคือ “ความสุข” ที่แท้จริงของคนแล้ว ไม่มีอะไรมากกว่านี้แล้ว เงินทองมีเท่าไหร่ก็ใช้หมด แต่ “สุขภาพ” นั่นแหละยังไงก็ใช้ไม่หมด

เมื่อ “บอนไซ” เป้าหมายการทำคือ “ความสุข” ในวัยเกษียณที่มีไม้บอนไซเป็นงานอดิเรกเพื่อสร้างความรื่นรมย์ให้กับชีวิต
สร้างความสุข และที่สำคัญอีกอย่างคือนำมาซึ่ง “สุขภาพดี” อีกด้วยที่ คุณชัยพร สิริธนาโชติ ยืนยันบอนไซเปรียบเหมือนเป็นยาอายุวัฒนะของเขา ขอบคุณเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดี ๆ เป็นมุมมองของการใช้ชีวิตในอีกแบบที่ไม่ได้คาดหวังในเรื่องของรายได้เป็นที่ตั้งหากมองเรื่องของ “ความสุข” ที่ได้รับมากกว่า ซึ่งสำหรับไม้บอนไซถือเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีกลุ่มคนชื่นชอบที่เป็นเฉพาะกลุ่มจริง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณค่าทางจิตใจ แต่ว่าถ้าในแง่ของการตลาด “ราคาซื้อขาย” ก็มีขึ้น-มีลงตามกระแสเช่นกัน

สำหรับผู้สนใจอยากได้ความรู้เรื่อง “ไม้บอนไซ” หรือต้องการเที่ยวชมความสวยงามของไม้ที่นี่รับรองว่าไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน สามารถติดต่อสอบถามหรือขอเข้าชมสวนได้ที่ “สวนอินทผลัม&บอนไซ สวนชัยพร” ตั้งอยู่ที่ ต.เขาแร้ง อ.เมือง จ.ราชบุรี โทร.081-838-0088 ขอบคุณ: ฟอร์ดเรนเจอร์ สตรอมแทร็ก ยานพาหนะสุดแกร่งที่นำลงพื้นที่สวนบอนไซสุดสวยในครั้งนี้


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น