“ภายใต้ FARM FRESH ที่เราสร้างแบรนด์ขึ้นมาแบรนด์นี้จะมีตัวที่คนในสังคมจดจำก็คือ เป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ เป็นแบรนด์ที่มีความหวาน เป็นแบรนด์ที่มีความปลอดภัย เป็นแบรนด์ที่กินแล้วอร่อยที่ทรงคุณค่า เป็นสิ่งที่เราสร้างกันขึ้นมา 22 ปีวาสนาฟาร์ม”
บนพื้นที่ผลิตกว่า 150 ไร่ในปัจจุบันของ “วาสนาเมล่อนฟาร์ม” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยว 2 จังหวัด คือ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ผลิตเมล่อนและแคนตาลูปเกรดพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ FARM FRESH โดยหนึ่งในเจ้าของและผู้ร่วมก่อตั้งฟาร์มแห่งนี้ “คุณภานุวัฒน์ อรุณโรจน์ศิริ” ได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการผลิตที่สำคัญอันเป็นจุดแข็งผลผลิตคุณภาพที่สามารถครองใจตลาดมาได้อย่างยาวนานในโมเดิร์นเทรด “ตรงนี้นะครับพื้นที่ตรงนี้ 22 ปีเราปลูกซ้ำที่เดิมมาตลอด เน้นในเรื่องของการจัดการดิน ความสะอาดของพื้นที่ และก็เน้นในเรื่องของการจัดการเรื่องของกิจกรรมต้น ทำงานให้รวดเร็ว ใน 1 ต้น ไว้ 1 ลูก ความหวานอยู่ที่ 14 บริกซ์” การผลิตเมล่อนในประเทศไทยที่เราอาจพบเห็นว่าส่วนใหญ่หลาย ๆ ที่จะเป็นแปลงผลิตในรูปแบบของโรงเรือน(กรีนเฮ้าส์) ด้วยเหตุผลในเรื่องของการสามารถควบคุมสภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิต ดิน ฟ้า อากาศ หรือฤดูกาลซึ่งบางฤดูกาลอาจจะไม่เอื้อให้ทำการผลิตได้ และแน่นอนว่าการผลิตภายใต้รูปแบบโรงเรือนสามารถช่วยตอบโจทย์เรื่องการจัดการได้ แต่ก็นำมาซึ่งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าตามมาด้วย ทว่าสำหรับที่วาสนาฟาร์มจะมีทั้งระบบการผลิตแบบแปลงกลางแจ้งและในโรงเรือน(กรีนเฮ้าส์)ด้วยแต่เจ้าของก็ยืนยันว่า “ของเราพื้นที่ 150 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นกลางแจ้ง(กว่า80%) แต่ว่าที่เราเห็นกรีนเฮ้าส์นี่ก็มีอยู่แค่ไม่เท่าไหร่ครับ เน้นกลางแจ้งเพราะจริง ๆ เราเชี่ยวชาญกลางแจ้งมากกว่า ที่มีกรีนเฮ้าส์ด้วยเพราะว่าในบางฤดูกาล เช่น ฤดูฝน ไม่สามารถปลูกได้จำเป็นต้องมีกรีนเฮ้าส์ เพื่อให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเป็นการรักษาตลาดไว้”
การปลูกแบบ “กลางแจ้ง” คุณภานุวัฒน์เล่าให้ฟังว่าจะเน้นในเรื่องของการจัดการดิน เป็นเรื่องแรกเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ“ดิน” ถ้าตรวจสอบแล้วค่า pH ไม่ได้ ก็จะต้องทำการปรับสภาพดินก่อน ถ้า NPK อยู่ในระดับต่ำ ก็จะต้องเติมอินทรียวัตถุเข้าไป หลังจากเตรียมดินเรียบร้อยจากนั้น จะเป็นการวางเทปน้ำ(ระบบการให้น้ำ) และก็คลุมพลาสติก เสร็จแล้วกล้าที่เพาะเตรียมไว้พออายุได้ 12 วันก็จะย้ายเข้าสู่แปลงปลูก “แล้วก็ใน 1 ต้น ไว้ 1 ลูกเท่านั้น ไว้ใบทั้งหมดเนี่ย 25 ใบ ลูกที่ดีที่สุด ข้อประมาณที่ 13 ของลำต้น ก่อนที่เราจะเลือกลูก ช่วงที่ผสมเกสร ข้อเขาจะติดเต็มไปหมดเลย เราจะไว้ 12, 13, 14 พอหลังจากผสมเกสรเสร็จเรียบร้อยแล้วลูกก็ใหญ่ เท่าประมาณสักไข่เป็ด เราก็จะเลือกออกให้เหลือลูกเดียว แล้วก็พอเริ่มใหญ่ขึ้นมาเราก็จะห้อยลูก จะสังเกตใน 1 ต้นก็จะมี ใบ ลำต้น และก็มีลูกเท่านั้น” ส่วนที่แขนงออกมาใหม่ จะต้องเก็บออก ดอกที่ออกใหม่ จะเก็บออกเพื่อลดความเสี่ยง ถ้ายังมีอยู่ ก็จะมีแมลงที่มาอาศัย ซึ่งแมลงที่มาอาศัยก็จะดูดน้ำเลี้ยงแล้วก็ปล่อย “ไวรัส” เพราะฉะนั้นต้นนั้นก็จะเป็นไวรัส แต่ถ้าเก็บออกได้ ก็จะเป็นการดีกว่า ที่นี่ก็เลยเน้นในเรื่องของการจัดการที่ค่อนข้างเร็ว ในเรื่องของ “รา” และ “แบคทีเรีย” ก็เหมือนกัน เพราะราและแบคทีเรียปัจจัยเสี่ยงก็คือเรื่องของความชื้น มีความชื้นสูง มีสปอร์รา ไม่มีลม ไม่มีแสง นี่คือเป็นวัฏจักรครบสมบูรณ์แล้ว ที่จะเกิดรา เพราะฉะนั้นเราจะทำลายวัฏจักรของเขาได้ก็คือ ต้องขยับแปลงให้ห่าง ยกแปลงให้สูง โอกาสที่มีลมมา มีแสงมา ให้สัมผัสต้นได้เร็ว ถ้าทำได้ตามเงื่อนไขนี้ โอกาสการเกิดราก็จะลดลง อันนี้คือในเรื่องของกายภาพ
“เซ็นเตอร์แปลงถึงแปลงเนี่ย กลางแปลงถึงกลางแปลง 3.85 เมตร ฐานแปลงอยู่ที่ 1.50 เมตร หลังแปลงบน/ช่วงบน อยู่ที่ 1 เมตร ความสูงอยู่ประมาณ 50 ซม. และก็มีร่องน้ำตรงกลาง มีร่องน้ำจะสังเกตว่าถ้าฝนตกมาปุ๊บเนี่ย น้ำจะไหลลงด้านท้าย ด้านท้ายเองก็จะมีคูรับน้ำเล็ก ๆ คูรับน้ำก็จะรวมน้ำไปลงคูใหญ่ คูใหญ่ก็จะรวมไปถึงเครื่องยนต์ที่ใช้สูบออกจากพื้นที่” รวมถึงที่นี่ยังมี “แนวคันล้อม” สูงประมาณ 1 เมตร รอบพื้นที่เลย และก็มีแนวป้องกันลม แนวป้องกันแมลง แนวป้องกันสารเคมีจากพื้นที่ข้างเคียง ถ้าเราออกแบบพื้นที่ได้ดี ก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องของการเกิดโรค แล้วก็วัฏจักรในเรื่องของ “ไวรัส” แมลงทุกชนิดเป็นพาหะของไวรัสได้ ที่นี่เจอเยอะที่สุดก็คือ เพลี้ยไฟ รองลงมาก็เป็นหวี่ขาว ซึ่งเพลี้ยไฟในพื้นที่นี้เกิดจาก “นาข้าว” ข้างเคียงที่เขาปลูกข้าวกัน ช่วงที่เขาเก็บเกี่ยวข้าวจะมี แมลงเยอะมาก โดยเฉพาะเพลี้ยไฟความเสี่ยงก็จะสูง เพราะฉะนั้นวิธีการจัดการคือจะเลือกไม่ลงให้จังหวะตรงกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยว วางจังหวะเวลาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ข้างเคียง อันนี้สำคัญมาก แล้วก็ทำแปลงให้สะอาด เก็บแขนงออกให้เร็ว เพราะแขนงทุกแขนงเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารก่อให้เกิดไวรัสได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถควบคุมปริมาณของแมลงได้ เราก็สามารถควบคุมไวรัสได้
“วิธีการเก็บเกี่ยว เราจะดูในเรื่องของนับอายุ แต่ละพันธุ์อายุไม่เท่ากัน บางพันธุ์อายุอยู่ที่ 65 วัน บางพันธุ์ 70 หรือ 75 บางพันธุ์ถึง 90 อย่างเจ้า “ไซตามะเมล่อน” เนี่ยดีที่สุดของเรานะ ปีหนึ่งเราปลูกได้แค่ครั้งเดียว ช่วงฤดูหนาวเดี๋ยวเราจะเริ่มก็ประมาณสักพฤศจิกา-ธันวา ก็จะไปเก็บกลาง ๆ มกรา ซึ่งราคาจำหน่ายของพันธุ์นี้กิโลกรัมละ 280 บาท อันนี้ขายในตลาดบนนะครับ แต่ที่หน้าฟาร์มขายกิโลกรัมละ 200 “ไซตามะ” ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดี่ที่สุดของที่ฟาร์ม นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นจากเมืองไซตามะเลย รองมาก็จะเป็น “อิบารากิ” ตัวนี้เป็นเซมิเอิร์ลเมล่อนญี่ปุ่น แต่เจ้าไซตามะเป็นเนื้อ orange เขาจะได้ลายที่สวยและก็เนื้อละมุน ความหวานหอม อร่อย รองลงไปก็จะเป็น โกลเด้น เมล่อน จากเนเธอร์แลนด์ แล้วก็รองลงไปก็จะเป็นเมล่อนแบบปกติ อันนี้คือพันธุ์ที่เรามีอยู่” ซึ่งในส่วนของพันธุ์ทั่วไปสำหรับที่นี่ก็คือจะเป็นเมล่อนญี่ปุ่นเนื้อส้ม-เนื้อเขียว และก็จะมีแคนตาลูป เป็นผิวสีทอง คุณภานุวัฒน์บอกว่าวิธีการเก็บเกี่ยว เบื้องต้นจะนับจากอายุ แล้วถัดมาก็คือดูความสมบูรณ์ของต้นและก็ดู “ใบเลี้ยงลูก” วิธีสังเกตจะดูใบที่ติดที่ผล เขาจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มกลายเป็นสีน้ำตาลระเรื่อ พอมีสีน้ำตาลประมาณ 50%ของใบจะเลือกตัดและก็ผ่าแล้วก็เอาชิ้นเนื้อมาบีบ แล้วก็ส่อง ดูสเกลระดับความหวาน ถ้าความหวานได้ 14 บริกซ์ ทำการเก็บเกี่ยว
พอหลังเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย ก็จะย้ายเข้าสู่อาคารแพ็คกิ้งเฮ้าส์ข้างในกิจกรรมของอาคารก็คือ จะมาคัดผลที่ไม่สวยออก ทำความสะอาด ตัดขั้ว คัดผล คัดขนาด หลังจากนั้นก็ติดสติ๊กเกอร์แล้วก็ใส่หมายเลขล็อตการผลิต ทุกขั้นตอนการผลิตของที่ฟาร์มจะมีการจดบันทึกไว้ และก็หมายเลขที่ใส่ไปที่ผลทั้งหมด8 หลัก สามารถที่จะตรวจสอบกระบวนการผลิตได้ ตั้งแต่เริ่มต้นว่า ใช้เมล็ดพันธุ์มาจากที่ไหน ล็อตอะไร พื้นที่แปลงทำอะไรไปบ้างและก็วางระบบน้ำ ให้น้ำไปเท่าไหร่ ให้ปุ๋ยไปเท่าไหร่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ผู้บริหารของวาสนาเมล่อนฟาร์มยังบอกด้วยในการคัดเลือกพันธุ์ดีสำหรับปลูกของที่นี่ “พันธุ์ที่ดี” ก็คือต้องได้ความหวานไม่ต่ำกว่า 14 บริกซ์ อันนี้คือเป็นมาตรฐาน แล้วก็อายุสั้น มีความแข็งแรง มีเนื้อที่มีสีสันสวย มีความหวานได้ รูปทรงดี โดยจะมีการทดสอบพันธุ์เลือกพันธุ์มาทดสอบไปเรื่อย ๆ ถ้าให้มั่นใจ ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ต้องผ่านทุกฤดูกาล ฤดูร้อนปลูกได้มั้ย หนาวเป็นไงร่วงมั้ย ความหวานขึ้นมั้ย ลูกแยกกันมั้ย ลูกแตกมั้ย ฝนเป็นไงทนต่อราได้มั้ย ทนต่อแบคมีเรียได้มั้ย ระบบรากมีปัญหามั้ย ทุกฤดูกาลจะตอบสนองของพันธุ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งบางพันธุ์ปลูกได้แค่ 2 ฤดูกาล ก็ยังไม่ใช่ เพราะว่าที่นี่ทำตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะฉะนั้นพันธุ์ที่ปลูกต้องได้ตลอดทั้งปี จึงจะตอบโจทย์ของผู้ผลิต
“เราคือผู้ปลูกเมล่อนอย่างมืออาชีพ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ความสวยงาม ในเรื่องของความปลอดภัย และก็ปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่เราสร้างไว้ เพราะฉะนั้น “พันธุ์” สำคัญมาก ๆ การทดสอบพันธุ์ แต่ถ้าพอจะรู้เนี่ยก็ใช้เวลา 1 ปีก็พอจะเข้าใจในเรื่องของพันธุ์แล้ว ถ้ามั่นใจก็คือ 3 ปี เพราะฉะนั้นที่นี่ มีการทดสอบพันธุ์เนี่ยมากกว่าเป็น 1,000 ชนิด ทั้งของไทย ของญี่ปุ่น ของเนเธอร์แลนด์ และของไต้หวัน”
ด้าน ดร.ช้าง-อภินันท์ อุปบัลลังก์ จากบริษัทนครเมล็ดพันธุ์ก็บอกด้วย จากสภาวะความเปลี่ยนแปลงของ “อากาศ” ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงซึ่งเราจะเห็นว่า มีทั้งร้อน ร้อนฝน แล้วตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ อากาศยิ่งแปรปรวน จะมีความเย็นนิด ๆ เพราะฉะนั้นหลักในการเลือกสายพันธุ์ มันก็ต้องตอบโจทย์ทั้งในแง่ของเกษตรกร ทั้งในแง่ของผู้ค้า-ผู้ขายเมล่อน และก็ในแง่ของผู้บริโภคด้วย การเป็นผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ชั้นนำของโลกในเรื่องของเมล่อน ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่บริษัทเดียว แต่นำเข้ามาจาก 2-3 บริษัทในญี่ปุ่น และก็นำเข้ามาจาก 2-3 บริษัทในยุโรปด้วย“ด้วยความที่ว่าภาวะอากาศแปรปรวนตลอด เราก็เลยต้องมีการทดสอบสายพันธุ์อยู่ทุกระยะ ทุกปีการเพาะปลูก ทุกระดับฝีมือของเกษตรกร เพื่อที่จะคัดสรรสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ตั้งแต่เกษตรกร ความต้องการของเกษตรกร ความต้องการของผู้ค้าผู้ขาย และก็แม้กระทั่งผู้บริโภค รวมกระทั่งว่าเราคิดค้นนวัตกรรมในเรื่องของความทนทานต่อโรค เราเฉพาะเจาะจงสำหรับในประเทศเอเชีย ซึ่งค่อนข้างเป็นงานที่ยาก ซึ่งที่นี่ก็ช่วยเราพัฒนาสายพันธุ์มาโดยตลอด เป็นการพัฒนาร่วมกันไม่ใช่ว่าสายพันธุ์ญี่ปุ่นทุกสายพันธุ์ เพื่อที่จะสามารถใช้ได้ในเมืองไทยปลูกและให้ผลผลิตที่ดีได้จริง ๆ”
“วาสนาเมล่อนฟาร์ม” เป็นสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งผลิตเมล่อนและแคนตาลูปคุณภาพภายใต้มาตรฐาน อย. GAP และ Thai GAP รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย มีจำหน่ายผลสด ผลิตภัณฑ์เมล่อนแปรรูป ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เมล่อนปั่นสด บรรยากาศธรรมชาติ และภายใต้แบรนด์ FARM FRESH มีการจำหน่ายผลเมล่อนสด ที่ห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำ อาทิ Gourmet market, Golden place, Lemon farm และBig C เป็นต้น สอบถามเพิ่มเติมโทร.062-598-9158 หรือ 091-419-9898 (ดร.ช้าง) ขอบคุณ: ชมรมเกษตรดิจิทัลและเอสเอ็มอีไทย ฟอร์ด(ประเทศไทย) พาหนะสุดแกร่งในการลงพื้นที่ตะลุยแปลงผลิตในครั้งนี้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *