“สิ่งที่นักวาดขาด คือ เขาต้องการพื้นที่ เขาต้องการได้รับเกียรติจากอาชีพของเขาถ้าบอกที่บ้านว่าเป็นนักวาดการ์ตูน อยากให้ที่บ้านภูมิใจ เราอยากส่งเสริมให้เป็นเรื่องนั้นและก็เรื่องของรายได้ บางคนวาดงานดี แต่สุดท้ายแล้วไปทำงานประจำ เพราะว่าเขาอยู่กับอาชีพนี้ไม่ได้”
จากประสบการณ์ตรงในการเป็นนักวาดการ์ตูนมา 10 ปี เคยมีผลงาน “พ็อกเก็ตบุ๊ก” หนังสือการ์ตูนที่ออกต่อเนื่องกันถึง 5 เล่ม ในตอนนั้นถือเป็นนักเขียนที่มีแฟนคลับมารอต่อแถวขอลายเซ็นที่มีแถวยาวมาก ๆ อีกคนหนึ่งด้วย “เหมียว-จิราภรณ์ โคตรมิตร” CEO Brand Thaillust (ไทยอิลัส) เล่าว่า เพราะความชอบและมีใจรักอยู่เป็นทุน ถึงแม้ว่าทางบ้านเองจะไม่ได้สนับสนุนในเส้นทางอาชีพสายนี้มาแต่แรก แต่ตัวเองก็วาดการ์ตูนโดยสมัยก่อนจะอาศัยการเขียนบล็อกเพราะยังไม่มีแพลตฟอร์มสื่อสารต่าง ๆ ให้เลือกใช้ได้อย่างทุกวันนี้ วาดการ์ตูนเพราะว่าใจรักวาดไปเรื่อย ๆ มีคอมเม้นต์กลับมาบ้างเพียง 1 ก็ดีใจมากแล้ว จนกระทั่งอยู่ ๆ เริ่มมีคอมเม้นต์เพิ่มขึ้นเป็น 100 กว่า! ในชั่วข้ามคืนก็ตกใจ ก่อนตามมาด้วยการเกิด Forward mail ที่ส่งต่อ ๆ กันมาเป็นรูป “การ์ตูน” ของตนเองที่วาดอยู่ ซึ่งรวมถึงยังได้รับ FW mail นั้นถูกส่งมาให้กับตัวเองด้วย! กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพราะทำให้ บก.สำนักพิมพ์ ก็ได้รับ FW mail ที่มีการ์ตูนของตนเองอยู่บ่อย ๆ เลยเกิดการตามหาตัวเจ้าของคนวาดในที่สุด
เหมียวบอกว่าพอได้เข้าไปอยู่ในวงการ ได้มีผลงานที่ออกพ็อกเก็ตบุ๊กของตัวเองแล้ว มีความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่ทว่าสิ่งที่เห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าการพัฒนาของวงการ นักวาดการ์ตูน ณ ตอนนั้นยังเป็นอาชีพที่ยังไม่ถูกยอมรับเท่าไร เวลาจะไปไหนงานอีเว้นต์ไหน ส่วนใหญ่เขาก็จะชวนนักวาดไปไม่เกิน10 คน เขาจะให้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในงาน และส่วนใหญ่แล้วมีชื่อเสียงมาก ๆ เท่านั้น ในขณะที่คนไม่มีชื่อเสียงอยากไปงาน แต่โอกาสที่จะถูกเลือกมีน้อย สุดท้ายแล้วก็คือ เหมือนถูกปฏิเสธ “เรารู้สึกว่าขนาดเราออกหนังสือขนาดนี้ เรายังไม่มีโอกาส เหมือนยังอยู่ใน level ที่ยังไม่ดังเท่าไหร่ แล้วถ้าน้อง ๆ อย่างที่กำลังเรียนอยู่ตอนนี้ แล้วเขาจะเอาโอกาสที่ไหน เลยจัดงานขึ้นมาเอง ชื่อ “งานรวมเส้น” เป็นงานรวมนักวาดการ์ตูนที่เรารู้จัก พอเราอยู่ในวงการ เชิญมาเป็นงาน Meeting เล็ก ๆ กันมั้ย เอางานต้นฉบับมาแสดงกันมั้ย แสวงหาพื้นที่ให้ทุกคนมาปล่อยของกัน อะไรประมาณนั้น” เพราะว่าทุกคนต้องการพื้นที่ ครั้งแรกตอนนั้นประมาณปี 2017 จากพื้นที่เล็ก ๆ ตรงซอยอารีย์ที่กะว่าสามารถรองรับคนได้สัก150 คน มีนักวาดมา 50 คน มีต้นฉบับมาจัดแสดง แต่ปรากฏคนมา 700!!! เพราะว่าแต่ละคนก็จะมีแฟนคลับของตัวเองที่ตามมาด้วย จนพื้นที่ตรงนั้นรองรับไม่ไหว มันก็เลยมีเสียงขึ้นมาว่า จัดอีก! พอปีที่ 2 ได้สถานที่เป็นสวนโมกข์ กรุงเทพฯ คนมาร่วมงานขยับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว! 1,400-1,500 คน แต่ว่าจัดงานแค่วันเดียวก็ทำให้มีเสียงอีก จัดอีก! จนครั้งที่ 3 คราวนี้มันเบิ้ลเลย วันสุดท้ายที่จัดคนมา 8,000!!! มันกำลังพีค และนักวาดก็คือคัดมาแบบทุกคนคุณภาพจริง ๆ “ตอนนั้นคือเอาสิ่งที่นักวาดต้องการจริง ๆ ดังนั้นนักวาดที่มาคือมันตรงมันเป็นเรื่องที่ตรงกับเขา สิ่งที่เขาอยากทำ สิ่งที่เขาต้องการ งานมันเลยตรงกับนักวาด นั่นคือเขาบอกว่า เป็นพื้นที่ของเขาเลย”
โดยในปี 2566 Thaillust ทำแคมเปญ Street Art Sharity เพื่อชวนนักศึกษาศิลปะทั่วประเทศ ออกมาใช้ความสามารถด้านงานศิลป์ มารณรงค์บริจาคโลหิต ร่วมกับโครงการเต็มใจ มูลนิธิดั่งพ่อสอน งาน “รวมเส้น” ครั้งที่ 6 ในปีนี้ เป็นงานรวมนักวาดหลากหลายสาขา ที่นำผลงานมาจัดแสดง น้อง ๆ นักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง จะได้นำผลงานศิลปะที่ตัวเองสร้างสรรค์ระหว่างเรียนมาแสดงนิทรรศการร่วมกันกับนักวาดมืออาชีพอีกด้วย
วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ถือเป็นวันดี ที่มีการบันทึกลงนามความร่วมมือ ระหว่าง Thaillust กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง และโครงการพัฒน์ (PLUS+) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพนักวาด เตรียมความพร้อมสู่การเป็นศิลปินที่มีคุณภาพ โดยความร่วมมือนี้จะเกิดการผลักดันองค์ความรู้ด้านศิลปะ การตลาด การประกอบธุรกิจ และเกิดการต่อยอดผลงานศิลปะสู่สังคมอย่างสร้างสรรค์
“Thaillust” (ไทยอิลัส) มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักวาด ส่งเสริมผลักดันให้มีโอกาสได้สร้างผลงานคุณภาพและเกิดงานศิลปะที่ช่วยพัฒนาประเทศ ทางคณาจารย์ที่วิทยาลัยเพาะช่างทั้ง 2 สาขา สาขาออกแบบนิเทศศิลป์และสาขาจิตรกรรม ก็มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพนักศึกษาแนวทางเดียวกันจึงได้เกิดความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมนักศึกษาในทุก ๆ ด้าน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการให้ความร่วมมือครั้งนี้ว่า “วิทยาลัยเพาะช่างมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ จึงได้สนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษา ผ่านการฝึกอบรมและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงและเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่ให้มหาวิทยาลัยดำเนินงานแบบบูรณาการ”
นางสาวกนกภรณ์ มิตสุโมโต้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒน์(PLUS+) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ ได้กล่าวว่า ทางโครงการพัฒน์ผลักดัน สนับสนุนผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง การทำความร่วมมือครั้งนี้ ผู้ประกอบการได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงนักศึกษา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์จริง พัฒนาศักยภาพก่อนที่น้อง ๆ จบไปทำงาน
อาจารย์อธิวัฒน์ เกียรติพีรติกุล หัวหน้าสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ความร่วมมือครั้งนี้ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทำให้นักศึกษามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับบริษัท ที่ทำงานด้านนี้โดยตรง เกิดการต่อยอดผลงานระหว่างเรียน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีของนักศึกษา
ผศ.ดร.สมพร แต้มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตรกรรม การทำความร่วมมือระหว่างสาขากับผู้ประกอบการ นักศึกษาจะมีที่ฝึกงานระหว่างเรียน ได้เจอสถานการณ์จริง ฝึกการแก้ไขปัญหา ทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง
CEO Brand Thaillust (ไทยอิลัส) ยังบอกด้วย ซึ่งพอตนเองได้มาเรียนกับโครงการพัฒน์เรื่องของการตลาด เลยทำให้รู้ว่าเราควรจะใส่เรื่องของMarketing ให้กับนักวาดด้วย“นักวาดที่เรา Select มาเขาจะได้เรียนการตลาดแบบ “มินิคอร์ส” ที่จะใส่เรื่องนี้ให้เขาไป อย่างน้อยให้เขามี mindset เรื่องของการตลาด การขาย รู้ว่างานนี้ขายยังไง ขายแบบไหน อะไรประมาณนี้ อันนี้คือสิ่งที่อยากจะทำและก็มันอาจจะเป็นฝันเล็ก ๆ ที่เราอยากพัฒนาวงการ” อีกอย่างหนึ่งคือตอนนี้หลายคนไม่มีเอกลักษณ์ “ลายเส้น” ของตัวเอง สิ่งที่เขาต้องทำคือลายเส้นและเอกลักษณ์ให้เจอก่อน อย่างของตนเองต้อง Select เลยว่าจะเอาตัวไหน“อย่างคาแรคเตอร์ของตัวเองคือ การ์ตูน “ไอ้แป้น” นี่คือที่เราเลือกแล้ว เราต้องพัฒนาต่อ พัฒนายังไง ในการพัฒนาก็คือใช้องค์ความรู้จากการตลาดมาปรับเข้า ประยุกต์กับการ์ตูนได้ยังไง ในอนาคตซึ่งเราอาจจะเป็นคนที่ขาย licensing คาแรคเตอร์ของการ์ตูนของตัวเอง แต่การที่จะขายได้จะต้องไป collabs แบรนด์ต่าง ๆ ในระหว่างทาง ต้องไปทำ Product ต้อง Merchandise ต้องทำ Digital ต้องทำ Publishing นั่นคือเป็น Way ที่นักวาดคนหนึ่งจะไป” ก็คืองานนี้แทบจะเป็นมืออาชีพแล้วตั้งแต่ที่เรียนอยู่ เหมือนเราเห็น “ช้างเผือก” ตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย ถ้าในอนาคตเขาจะเป็นศิลปินนี่คือเราเจอเขาตั้งแต่วันแรก
“งานรวมเส้น” ครั้งที่ 6 จะเริ่มดำเนินการระหว่าง กรกฎาคม - พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ขอเชิญนักวาดที่ต้องการพัฒนาตนเองและพื้นที่แสดงผลงานศิลปะสร้างสรรค์ นำผลงานมาแสดงร่วมกัน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่https://www.facebook.com/RuamZen
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *