xs
xsm
sm
md
lg

"โซคอป" ปุ๋ยอินทรีย์ผสมเคมี รายแรกๆภาคใต้ โดนใจชาวสวนยางสวนผลไม้ สร้างยอดขายวันละกว่า 30 ตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นการผลิตปุ๋ยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ตอบโจทย์ชาวสวนผลไม้ภาคใต้มานาน เป็นทางเลือกของเกษตรกรที่รู้สึกว่า ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวทำให้ดินกระด้างและส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในอนาคต หรือ การใช้อินทรีย์อย่างเดียว ทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ต้องใช้เวลา ทางผู้ผลิตปุ๋ยสงขลาฟอสเฟต (1991) ดึงเอาข้อดีของปุ๋ยทั้งสองชนิดมาผสมกันโดนใจเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้และสวนยางภาคใต้มานานกว่า 10 ปี


คุณวิกร คณาพรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงขลาฟอสเฟต (1991) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยโซคอป เล่าว่า ปุ๋ยโซคอป เป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมี รายแรกๆของภาคใต้ จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2536 พี่ชายได้เทคโอเวอร์กิจการปุ๋ยมาจากเจ้าของเดิม ตอนนั้นตัวผมทำงานเกี่ยวกับเครื่องครัวอยู่สุไหงโกลก ก็กลับมาช่วยพี่ชายทำธุรกิจปุ๋ยที่สงขลา โดยปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์เคมี แบรนด์โซคอป 3 ตรา คือ ตราช้างรวงข้าว ตราแมงป่องดำ และตราผีเสื้อ 3 ตัว

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ 3 ปีแรก เป็นผู้ผลิตอย่างเดียวและให้เอเย่นต์ขายทั้งหมด พอเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกปี 2540 เอเย่นต์ขายของไม่ได้ เราได้รับผลกระทบเต็มๆ ทำให้เห็นถึงปัญหาว่าจะมาฝากความหวังการขายฝากรายได้ไว้กับเอเย่นต์ไม่ได้แล้ว จากนั้นในปี2542 จึงปรับเปลี่ยนการทำตลาดใหม่ โดยบริษัทหันมาทำตลาดเองทั้งหมดไม่ได้ขายผ่านเอเย่นต์


จนกระทั่ง ในปี 2550 ปุ๋ยโซคอป เป็นแบรนด์ต้นๆในการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์เคมีออกสู่ตลาด ซึ่งการทำตลาดในช่วงแรกของปุ๋ยอินทรีย์เคมี คือ เราจะเน้นให้เกษตรกรเข้าใจในคุณสมบัติและวิธีการใช้ โดยอธิบายถึงการเอาธาตุอาหารหลัก(N,P,K,) มาผสมคลุกเคล้ากันกับอินทรีย์วัตถุ (กากถั่วเหลือง+กากมันสำปะหลัง) ตามสัดส่วนตามสูตรแล้วนำมาปั้นให้เป็นเม็ดพืชจะได้ทั้งอาหารที่ปรุงไปเลี้ยงใบเลี้ยง ดอกเลี้ยงผล และอาหารบำรุงดินด้วย


สำหรับปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นรูปแบบปุ๋ยตัวใหม่ในตลาด เพราะคนไทยคุ้นเคยกับปุ๋ยเคมี หรือไม่ก็ปุ๋ยอินทรีย์ แต่พอมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมี ทำให้ในช่วงแรกเราก็ต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจให้เกษตรรับรู้ในคุณสมบัติอยู่ถึง 2 ปี ตลาดถึงจะอยู่ตัว ทุกวันนี้ ตลาดหลักอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ประมาณ 12 จังหวัด ได้แก่ เกษตรกรปลูกผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด และเงาะ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้า จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ในพื้นที่เหล่านี้ จะปลูกยางเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันจะหันมาปลูกผลไม้ตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการส่งผลไม้ออกไปประเทศจีน


อย่างไรก็ดี ธุรกิจปุ๋ยทางภาคใต้ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก แผนการตลาดของบริษัท ในตอนนี้ คือ ขยายตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่าง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ในพื้นที่ เบตง สะบ้าย้อย ลือเสาะ ที่เกษตรกรล้มยางมาปลูกทุเรียน มังคุด ลองก็อง กันเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการปุ๋ยสูงตามไปด้วย โดยปัจจุบันโรงงานมีกำลังผลิตประมาณ 30-40 ตันต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของตลาด


ทั้งนี้ การทำตลาดในตอนนี้มีอุปสรรคในเรื่องการตัดราคากันอย่างหนัก ในขณะที่เราเป็นบริษัทผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี ที่มีการผลิตตามมาตรฐานมีต้นทุนการผลิตที่สูง ด้วยราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอด จึงไม่สามารถที่จะลงไปเล่นกลยุทธ์ตัดราคาในตลาดได้ ปุ๋ยของเราจึงมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง แต่จุดแข็งของปุ๋ยโซคอป คือ คุณภาพมาตรฐานที่เกษตรกรมั่นใจได้ รวมถึงการบริการทั้งก่อนและหลังการขาย


คุณวิกร กล่าวถึง คุณสมบัติที่โดดเด่นของปุ๋ยอินทรีย์เคมี โซคอป คือ เกษตรกรสามารถใช้เพียง 1 รอบ พืชก็ได้ธาตุอาหารครบ ส่วนการที่เราต้องมีแบรนด์ถึง 3 แบรนด์ ก็เพื่อสามารถทำตลาดได้อย่างกว้างมากขึ้น และ ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า ในส่วนของช่องทางจำหน่ายนอกจากการขายตรงที่โรงงาน ยังขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น หน้าเพจเฟซบุ๊ก และเว็บไซด์ของบริษัท

ติดต่อ www.sokopgroup.com Facebook: ปุ๋ยโซคอป ตราช้างรวงข้าว, ตราผีเสื้อ 3 ตัว , ตราแมงป่องดำ
โทร. 074-292185-6 , 09-0221-6526


กำลังโหลดความคิดเห็น