เปลี่ยนมนุษย์เงินเดือนสู่เจ้าของกิจการอย่างไม่ได้คาดหมายมาก่อน! Cat me Café ที่ไม่ใช่คาเฟ่แมว แต่เป็นร้านที่มีแนวคิดมาจากเจ้าของอยากจะทำเครื่องดื่มอร่อย ๆ แบบที่ตัวเองชอบมีขายในห้างฯ แต่ราคาแพง! เปลี่ยนให้เข้าถึงง่ายอร่อยและไม่แพง
“ร้านนี้เปิดมาได้ประมาณสัก 7 ปีกว่า ๆ แล้วค่ะ ก่อนหน้านี้อ้อทำอยู่จะเป็นคีออสเล็ก ๆ ขายพวกเมนูน้ำผลไม้ปั่น ที่เน้นใช้ผลไม้สดจริง ๆ ซึ่งเมื่อก่อนจะยังไม่ค่อยมีคนทำมากนักแล้วราคาเราก็ขายไม่แพงเริ่มที่ 25 บาทอย่างเงี้ยค่ะก็จะขายดีมาก ๆ ทำอยู่เกือบสิบปีนะซึ่งตอนแรกยังทำงานประจำและขายของในช่วงเย็นเลิกงานไปด้วย 2 ปีก็เลยตัดสินใจลาออกมาทำร้านแบบจริงจังดีกว่า เพราะเราเห็นแล้วว่ารายได้ตอนนั้นมันน่าจะไปรอดแน่นอน” อ้อ-สุชารัตน์ สำราญมากเจ้าของร้าน Cat me Café บอกกับผู้เขียนไปพลางมือก็ง่วนกับการทำเมนูให้กับลูกค้ารายอื่นควบคู่ไป เพราะที่นี่เจ้าของร้านจะเป็นทั้ง Maker ที่อยู่เบื้องหลังเมนูอร่อย ๆ หลากหลายในร้านขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เด็กเสิร์ฟเพียงคนเดียวด้วย! คาเฟ่ซึ่งชื่อขึ้นต้นที่แปลว่า “แมว”(Cat) จนทำให้มีลูกค้าหลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดว่าที่นี่เป็น คาเฟ่แมว หากแต่จริง ๆ แล้วคือเป็นเพียงชื่อที่อ้อบอกว่าอยากใช้สื่อให้คนเรียกหรือว่าจำได้ง่าย ๆ เท่านั้น ทว่าในร้านเองเจ้าของก็มี “น้องแมว” ที่เลี้ยงอยู่ด้วย1 ตัว เพราะว่าเป็นคนรักแมว หลังจากทำงานประจำอยู่ที่บริษัทค่ายรถยนต์ชื่อดังมาได้สักประมาณ 6 ปีแล้ว ความที่ตอนนั้นอยากจะมีรายได้เสริมเพิ่มเติมขึ้นมาเพราะว่าตัวเองมีแพลนจะซื้อรถยนต์ด้วย ก็เลยประเดิมเปิดร้านน้ำปั่นขนมปังปิ้งเพื่อลองดูก่อน
เริ่มต้นจากแนวคิดอยากทำเครื่องดื่มอร่อย ๆ แบบที่ตัวเองชอบกิน
“ของเราเป็นน้ำปั่นที่ใช้ “ผลไม้สด” จริง ๆ มาปั่น ก็เลยแบบจะขายดีเพราะว่าตอนนั้นคนหาผลไม้สดกินส่วนมากจะต้องไปห้างฯ ถ้าไปกินห้างฯ ก็ต้องมี 50 หรือ 70 ขึ้น แต่ว่าที่ร้านแบบสตาร์ทที่ 25 บาท เครื่องปั่น2 เครื่อง ปั่นไม่ทันเลย” ไม่ได้ไปเรียนสูตรมาจากไหนการทำเมนูน้ำผลไม้ปั่น อ้อบอกแต่อาศัยว่าตัวเองชอบกินรสชาติแบบนี้ตอนสมัยยังทำงานประจำอยู่ แต่ว่าราคาขายในห้างฯ มันก็จะค่อนข้างแพงหน่อย แล้วเวลามาซื้อจากข้างนอกลองกินดูซึ่งมันก็จะไม่เหมือนกันรสชาติที่ได้กับราคาที่ถูกกว่ากัน ดังนั้นก็เลยเริ่มต้นจากลองทำกินเองดูก่อนความอร่อยในแบบที่ตัวเองชอบ และพอมาทำขายดูบ้างปรากฏว่าลูกค้าได้ชิมแล้วก็ชอบด้วย ซึ่งสำหรับการทำตนเองก็จะเลือกใช้แต่วัตถุดิบดี ๆ ตอนนั้นก็จะมีเป็นพวกแอปเปิ้ลเขียวผลไม้สดเรียกว่าค่อนข้างจะมีครบหมด ทุกอย่างที่มีขายในตลาด หรือถ้าช่วงไหนเป็นผลไม้ตามฤดูกาลจะมีการทำเป็นเมนูแนะนำให้กับทางลูกค้าด้วย ทำให้พอเวลานึกถึงผลไม้สดลูกค้าก็มักจะมาสั่งเมนูของที่ร้านทานเพราะเขารู้สึกว่าไม่ทำให้ผิดหวัง “ก็พอมาทำเป็น “คาเฟ่” คือมันก็จะต้องมีหลากหลายขึ้น จะขายแต่ขนมปังปิ้ง น้ำปั่น มันไม่ได้แล้ว ก็จะต้องมีเมนูให้รู้สึกว่าครอบคลุมหลาย ๆ อย่างด้วย แต่ถ้าถามว่า ตัวไหนที่เรามั่นใจ ก็นี่แหละน้ำผลไม้เลยเพราะว่า ถ้าอยากกินผลไม้สดลูกค้าก็จะรู้ว่าต้องมาละเมนูนี้ของที่ร้าน Cat me Cafe”
สู่เมนูใหม่ “บิงซู” อันนี้ที่ต้องไปเรียนรู้สูตรมาก่อน
นอกจากเมนูน้ำผลไม้ปั่นหรือ “สมูทตี้” เนื้อเนียนละเอียดที่เป็นrecommend ของทางร้านแล้วยังตามมาด้วย เครื่องดื่มอีกหลากหลายเมนูเลยซึ่งเป็นผลงานการพัฒนา “สูตร” ขึ้นมาใหม่จนทำให้มีลูกค้าติดใจกลายเป็นลูกค้าประจำกันอย่างเช่น เมนู “ชา” ซึ่งได้นำ “มะพร้าวน้ำหอม” เข้ามาช่วยพัฒนารสชาติให้มีความแปลกใหม่และอร่อยมีให้เลือกได้ทั้งสูตรของชาเขียวและชาไทยด้วย เมนู “กาแฟ” ก็มีการริเริ่มเรื่องของสูตรที่ใช้ “มะพร้าว” อยู่ในเมนูกาแฟมีหลายสูตรเลยที่ร้านทำมาก่อนหน้าแล้ว ที่จะเริ่มมีความนิยมในเรื่องของกาแฟมะพร้าวเสียอีก อ้อบอกว่าความรู้สึกคือว่ามะพร้าวมันน่าจะทำให้เครื่องดื่มมีรสชาติที่อร่อยด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเมนู “โซดา” ต่าง ๆ ที่มีให้เลือกได้หลากหลายตามความชอบของลูกค้า“ถ้าเป็นเมนูเครื่องดื่มส่วนใหญ่เราก็จะพัฒนาขึ้นมา จากความชอบในแบบของเราเองด้วย รวมถึงที่ลูกค้าชอบ อย่าง กาแฟ ก็จะใช้การถามแล้วเราก็มาปรับ จะเอาที่ว่าลูกค้าเรากิน แล้วเขาชอบ ขายของพวกนี้แบบว่าถูกใจคนกินมากกว่า แต่ก็จะมีที่อ้อต้องไปเรียนก็คือน้ำแข็งไสหรือ “บิงซู” ที่ไปเรียนเพราะสมัยนั้นบิงซูมาใหม่ ๆ คือเราไม่รู้ว่าน้ำแข็งมันที่ใส่ มันมีส่วนผสมอะไรบ้าง ไปเรียนเพื่ออยากจะรู้สูตรมา แต่ว่าไม่ได้ทำแบบที่เรียนนะแค่ไปรู้ แล้วเราก็มาปรับ ทำในแบบที่เราคิดว่าอย่างไหนที่มันจะมีความอร่อยขึ้นกว่ากัน เพราะอ้อรู้สึกว่าสูตรเขาสอนให้ลดต้นทุนมากเกินจนทำให้การใส่เครื่องบางตัวมันน้อยไปซึ่งเราคิดว่าน่าจะทำให้ไม่ค่อยอร่อยก็เลยปรับใหม่”สำหรับเมนูน้ำแข็งไสนี้ที่ร้านก็ขายดีไม่แพ้กันโดยเฉพาะ “บิงซูทุเรียน” ที่อ้อบอกว่าจะจัดเต็มมากทั้งเรื่องเครื่องและตัวของเนื้อทุเรียนที่ใส่ให้กับลูกค้า จากราคาสำหรับไซส์ L (ใหญ่) คือ 359 บาท ถือว่าเป็นอีกเมนูที่สร้างการรอคอยสำหรับลูกค้าสายทุเรียนเลิฟเวอร์ที่ต่างไม่พลาดที่จะมาชิมเลย เป็นเมนูตามฤดูกาล ซึ่งในปีนี้อ้อบอกว่าก็ได้ปิดเทศกาลลงไปแล้วเพราะด้วยหาทุเรียนมาทำไม่ได้แล้วหมดเพราะปีนี้ราคาของวัตถุดิบก็แพงกว่าทุกทีด้วย
ขนมปังที่ร้านอร่อย! สูตรสำหรับ“โทสต์” ก็เลือกเฉพาะ
อีกเมนูของร้านที่ไม่พูดถึงนี่ไม่ได้เลย! ก็คือ “ขนมปัง” ซึ่งมีหลากหลายให้เลือกอร่อยมาก ๆ อ้อบอกด้วยขนมปังที่ร้านอร่อยเพราะว่าเป็นสูตรเฉพาะที่คนทำทำขายมานานมาก ๆ แล้ว ตั้งแต่รุ่นของอาม่าจะเป็นบ้านที่อบขนมปังขายโดยตรงเลย เขาจะมีความพิถีพิถันในเรื่องของการทำขนมและก็ที่สำคัญคือ ขนมปังของเจ้านี้จะไม่มีการใส่สารกันบูดใด ๆ เรียกว่าอร่อยด้วยมั่นใจด้วยในเรื่องของความปลอดภัย ในส่วนของขนมปังคืออ้อจะไม่ทำเองแต่จะสั่งจากเจ้านี้มาใช้ที่ร้านตั้งแต่แรกเลย ขนมปังสำหรับทำเมนูปังปิ้งก็แยกสูตรกันต่างหาก และสำหรับสูตรที่ใช้ทำเมนู “โทสต์” ก็จะแยกเฉพาะเลยเพราะต้องใช้ขนมปังที่มีเนื้อแน่นกว่า ทำให้เวลานำมาทำเมนูต่าง ๆ ของที่ร้านซึ่งลูกค้าก็มักจะชมว่าขนมปังอร่อย รวมทั้งยังมีเมนูขนมอื่น ๆ ที่แสนอร่อยไม่แพ้กันอย่างเช่น เค้ก วาฟเฟิล เครปเย็น ฯลฯ ที่มีจำหน่ายอยู่ในร้านแห่งนี้ซึ่งอ้อก็เป็นคนทำเองทั้งหมดด้วย
เจ้าของร้าน Cat me Café บอกว่า ส่วนมากลูกค้าจะบอกเมนูของที่ร้านราคาย่อมเยาดี เพราะในขณะที่วัตถุดิบจะใช้แบบเกรดของดี ๆ เลยจึงทำให้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงพอสมควร อย่างเมนูน้ำผลไม้ปั่นหรือ “สมูทตี้” จะเริ่มต้นที่ราคา50 บาท, 55 บาท/ผลไม้ 2 อย่าง, 60 บาท/ผลไม้3 อย่าง หรือถ้าเพิ่ม “โยเกิร์ต” ด้วยก็คิดเพิ่มอีก10 บาท เมนูโซดา เริ่มที่40 บาท เมนูชา(สูตรไม่มีมะพร้าว) เริ่มที่45 บาท เมนูน้ำแข็งไสหรือ “บิงซู” ซึ่งก็จะมีด้วยกัน2 ไซส์ คือ M กับ L ราคาเริ่มที่ 299-359 บาท ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบหลักของเมนูนั้น ๆ ด้วยอย่างเช่น บิงซูทุเรียน ก็อาจจะแพงหน่อยแต่ว่าเนื้อทุเรียนที่ใส่ให้กับลูกค้าต่อ1 เมนู ซึ่งรับรองว่าเต็มอิ่มจุใจแน่นอน! เป็นต้น เมื่อถามถึงเรื่องรายได้บ้างเพราะกว่า17 ปีมาแล้วที่ลาออกมาจากเป็นมนุษย์เงินเดือน เพื่อมาทำร้านซึ่งเป็นธุรกิจของตนเองแทน อ้อบอกว่าช่วงเปิดร้านนี้ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ 2 ปีแรกยอดขายต่อเดือนถือว่า ค่อนข้างดีมากเลยทีเดียว(หลักแสน!) แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วด้วยภาวะเศรษฐกิจประกอบกับที่มาเจอวิกฤตโควิดฯ ซึ่งช่วงนั้นก็เปลี่ยนเป็นขายผ่านเดลิเวอรี่แทนด้วย ทำให้ยอดขายที่ได้มีดร็อปลงไปบ้างเหมือนกันแต่ว่าก็ยังไม่เคยถึงขั้นที่ว่าขาดทุนจนเข้าเนื้อเลยสักที จนถึงทุกวันนี้ที่ร้านผ่านพ้นจากวิฤตดังกล่าวมาได้และตอนนี้ลูกค้าก็เริ่มกลับมานั่งทานในร้านเพิ่มขึ้น เดลิเวอรี่ก็ยังเปิดควบคู่กัน ถามว่ารายได้ก็พออยู่ได้(เกิน5หมื่นขึ้น/เดือน) อาศัยว่าที่นี่ค่าเช่าที่ไม่แพงมากนักเป็นที่ของวัดให้เช่าทำมาตั้งแต่สมัยที่แม่ทำร้านขายของชำมาก่อน แล้วตนเองก็ค่อยมาต่อช่วงแทนพอดี ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะมาไกลได้ถึงขนาดนี้ทุกวันนี้ก็ยังนึกแปลกใจตัวเองอยู่เลย
เป็นการสนทนาไประหว่างลูกค้าในร้านกับเจ้าของร้านซึ่งมือก็ง่วนอยู่กับการทำเมนูให้ลูกค้าไปด้วย แต่ว่าก็คุยกันได้อย่างออกอรรถรสเลยทีเดียว ในช่วงเวลาที่มีลูกค้าจอแจหน่อยก็คือบ่าย ๆ ไปแล้วถึงช่วงเย็น แต่ที่ร้านมีคนทำเพียงคนเดียวซึ่งอ้อบอกว่่าก็จะใช้วิธีการแจ้งคิวให้กับลูกค้าเพื่อได้ทราบกันก่อนถ้าเผื่อว่า ใครมีธุระต้องรีบไปหรือไม่รีบรอได้ ส่วนมากลูกค้าที่นี่ก็จะเข้าใจ สำหรับร้าน Cat me Café จะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลาประมาณ12.30 น.เป็นต้นไปจนถึงราว ๆ 21.30 น. ทุกวัน เจ้าของบอกว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยหยุดเพราะอยู่บ้านเฉย ๆ ก็เบื่อเลยมาเปิดร้านดีกว่า พิกัดที่ตั้งของร้านหลักคือ ซอยวัดกำแพง (บางแวก32) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร.099-748-8869 เพจร้าน: Cat me Café - Bang Weak 32
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *