เปลี่ยนร้านตามสั่งที่แสนจะธรรมดา เพิ่มยอดลูกค้าแบบก้าวกระโดดได้ ด้วยวิธีการจัดการ “ร้านพาพริ้วตามสั่ง” มธ.ท่าพระจันทร์ จาก 4 เดือนขาดทุนยับเยิน! แต่พอปรับใหม่ยอดขายพุ่งกระฉูดหลักหมื่น/วันทันที!! เปลี่ยนแล้วกลับดี
จากนักวิทยาศาสตร์ทำงานในห้องแล็บมานานกว่า 20 ปี และเป็นคนที่ไม่ได้เก่งเรื่องการทำอาหารทำกับข้าวไม่เป็นด้วยซ้ำ “ไอลดา เทพภิบาล” หรือกระติก บอกกับเราว่า แต่ด้วยความที่รู้สึกอิ่มตัวแล้วกับงานที่ทำอยู่ กอปรกับอยากจะออกมาเลี้ยงดูแลลูก
ๆ เองด้วย กระทั่งพอ 2 ปีผ่านไปและลูกสาวทั้ง 2 คนเริ่มเข้าโรงเรียนแล้วแม่จะทำอะไรต่อดี? “ก็หวังว่าลูกจะเรียนอยู่แถวนี้พอดีตรงนี้(ตึก60 ปี) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีประมูลก็เลยประมูลได้ร้านมาเพื่อที่จะรอลูกสาวเวลาเขาเลิกเรียนกลับมาจะได้อยู่กับเรา ระหว่างทางเราก็ทำงานของเราไปก็เลยเปิดร้าน พาพริ้วตามสั่ง กับพาเพลินสเต็กก็เป็นชื่อลูกทั้งสองคน เปิดทีเดียว 2 ร้าน ทุกคนก็พูดว่าทำกับข้าวไม่เป็นเลยแต่ทำไมถึงเลือกเปิดร้านทีเดียว2 ร้าน!!! จริง ๆ คิดว่ามันไม่ยาก คือถ้าเราหาคนได้หาพ่อครัวได้ หาผู้ช่วยได้ เราซื้อกับข้าวเป็นเราช้อปปิ้งเก่ง ทุกอย่างก็น่าจะไปได้”
4 เดือนแรกขาดทุนยับเยิน! แต่ใจยังสั่งว่าให้ไปต่อไป..
แต่แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยสักนิดนึง กระติกเล่าอีกว่าช่วงการเปิดร้านเดือนครึ่งแรก ไม่สามารถเปิดขายได้เลย เพราะตนเองไม่มีแม่ครัวหาใครมาช่วยไม่ได้เลยในช่วงนั้น แต่หลังจากมีแม่ครัวแล้วเขาก็แบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ มาบ้างไม่มาบ้าง แล้วก็หายไปเลย“ก็คือขาดทุน 4 เดือนครึ่งแรกเลยค่ะ ทั้งค่าเช่าที่ต้องจ่ายไปทุกเดือน ๆ ก็คือการลงทุนทั้งหมดเลยรวมถึงซื้อของมาทิ้งค่ะ ซื้อของมาใส่ตู้เย็นทิ้งในแต่ละวันอย่างเงี้ยค่ะ หมดไปเยอะมาก!” ทว่าเจ้าตัวก็ยืนยันยังไม่ถอดใจเพราะคิดว่า มันยังไม่ได้พยายามจนถึงที่สุด ต้องให้มันถึงที่สุดก่อนแล้วจึงจะบอกว่าทำไม่ได้“โชคดีมากที่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีขนาดนี้นะคะ คือได้พ่อครัวดีมากค่ะก็เลย พี่เขามาช่วยแล้วพี่เขาคือเคยทำร้านอาหารมา มีร้านอาหารของตัวเองเลย และก็เป็นพ่อครัวร้านดัง ๆ มาเลย สิ่งที่พี่เขาได้มาเขาก็มาสอนเราทั้งหมดเลย”
ปรับใหม่!!! เปลี่ยนวิธีการจัดการ
ด้าน “เชฟนุ-ธนพงศ์ ไชยผล” ก็เล่าให้เราฟังด้วย “4เดือนผ่านไปแล้วก็ได้ 2 พัน 3 พัน ก็มาดูแล้วครัวเล็กครัวในมหาวิทยาลัยมันเล็ก เราก็เลยมาดูวิธีการว่า เราจะทำอย่างไรให้มันขายของได้เร็วขึ้น หน้าร้านมันเร็วขึ้น เตามีอยู่ 3 เตาทำอย่างไร ถ้าเรามีลูกน้องอีกคนหนึ่งยืนคู่แล้วเราเปิดได้ 2 เตา ทำเองได้ 2 เตาเลย และอีกเตาหนึ่งให้ลูกน้องทอดไข่หรือว่าทำอะไรที่ไม่ฉุน เพราะไอ้ที่อยู่กับเรามันมีฮู้ดดูดควันดูดอะไร มันจะช่วยได้ ก็เลยดูต่อในเรื่องของ “เมนู” ในร้านบรรทัดฐานโดยทั่วไปของร้านอาหารตามสั่ง ก็จะมี กะเพรา ข้าวผัด พวกนี้ซึ่งเป็นเมนูเดิม ๆ ก็เลยคิดว่าถ้าเราจะแข่งขันให้คนกิน ก็ต้องดูพื้นฐานของคนกินด้วย ที่นี่เป็นเด็กมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เด็กมัธยม จริง ๆ แล้วเด็กมัธยมฯ ตั้งแต่ ม.4-ม.5 ขึ้นไปถึงปริญญาโท อาหารพื้นฐานถ้าเรานำอาหารแบบคล้าย ๆ ในห้างฯ มาขายหรือว่าในโรงแรมมาขายปนผสมผสานไปกับ ในราคาที่ 50 บาทหรือ 60 บาท แทนที่คุณจะขาย 20 หรือ 30 หรือ 50 เราขายตั้งแต่ 50 ขึ้นไป 60 ขึ้นไป บางคนไปซื้ออาหารจานละ 40 ยืนเป็นแถวเลย 10 คนได้ 400 แต่ถ้าเราขาย 50 หรือ 60 ขาย 3 คนเราก็ได้เท่าเขา”
แต่ทีนี้ว่าทางร้านเองก็ต้องมาประยุกต์ อย่างหมู หมูสามชั้น แค่หมูสามชั้นอย่างเดียวมันทำอะไรได้บ้าง เราสามารถนำมาทำเมนูได้หลากหลาย เช่นง่าย ๆ เลยเอาหมูสามชั้นมาทำเป็นหมูหวาน หมูฮ้อง(เมนูจากทางใต้คล้าย ๆ หมูซีอิ๊ว) ก็อาจจะทำขึ้นหม้อเอาไว้รอได้ หรือเอามาต้ม(แต่ไม่ใช่ทำหมูกรอบเพราะใช้เวลานาน) ต้มเสร็จเอามาคลุกแป้งปรุงรสชาติ ทำเป็นหมูกรอบขึ้นมาด่วน ซึ่งหมูกรอบตัวนี้ยังสามารถนำไปทำเป็นเมนู หมูทอดน้ำปลา ทำเป็นหมูซีอิ๊วญี่ปุ่น(เราทำน้ำญี่ปุ่นเตรียมเอาไว้ราด) หรือทำหมูผัดพริกเผา หมูผัดพริกเกลือ เฉพาะหมูสามชั้นอย่างเดียวเป็นสิบ ๆ รายการแล้ว “แล้วเด็กเนี่ยชอบกินมาก แบบอาหารจานด่วน โดยที่ว่าเด็กมหาวิทยาลัยส่วนมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯ หรือจะเป็นที่ไหนหรือธรรมศาสตร์ ก็ตาม ชอบกินหมูกรอบ อะไรก็หมูกรอบ แล้วเด็กที่นี่น้าครับลุงครับ "ไม่มัน” นะครับ จบ! ที่นี่ผัดน้ำเราผัดน้ำเลย”
สูตรเมนูอาหารต้องเป๊ะ! อร่อย Level เดียวกับที่เชฟทำให้
เชฟนุ ยังบอกด้วย ที่ร้านเวลาทำอาหารจะไม่ใช้ผงชูรสเลย เพราะเชื่อได้เลยว่าในซอสปรุงรสในน้ำมันหอยต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีเป็นส่วนผสมมาในนั้นอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องใส่เพิ่มเข้าไปอีก แล้วอีกอย่างคือว่าร้านจะมาปรับแต่งเองเพิ่มในเรื่องของ “ซอสกลาง” หรือสมัยก่อนจะเรียก ซอสเอ็กซ์โอ(XO) แต่ว่าไม่ได้ใช้ XO ก็ไปซื้อวัตถุดิบส่วนผสมต่าง ๆ เพื่อมาทำเป็น “ซอสกลาง” สำหรับใช้เองในร้าน ซึ่งจะมีสัดส่วนในการผสม(เป็นสูตรเฉพาะของแต่ละร้าน) ประกอบด้วย น้ำมันหอย(กระป๋องใหญ่) : ซอสฝาเขียว1 ขวด : ซอสแม็กกี้: ผงปรุงรส: น้ำตาลทราย ผสมให้เข้ากัน เพื่อใช้สำหรับให้รสชาติของเมนูอาหารนั้น ๆ เป็นมาตรฐานเดียวกัน “สมมุติว่ากุ๊กไม่อยู่ ลูกน้องกุ๊กหรือเจ้าของร้านก็ตักมา 1 กระบวยลงไปผัด โดยที่ไม่ต้องปรุงอะไรเลย ใครทำก็อร่อย เหมือนกันครับ แม้แต่คนที่จะเข้ามากินเดินเข้ามาทำเองก็อร่อยเหมือนกับเมื่อวานที่กิน เหมือนกันหมด” แต่ปัญหาของมันอีกอย่างคือ การใช้ไฟ กุ๊กแต่ละคนต้องเก่งเรื่องการใช้ไฟด้วย
เพิ่มความหลากหลายให้เลือกได้ ทั้งแบบจานด่วน! และตามสั่ง
ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่นักศึกษาก่อนจะขึ้นเรียน 11.00 น. จะมาแล้วหรือบางคนอาจจะโทรศัพท์มาสั่งไว้ก่อน แต่ถ้า 20 จานมายืนรออยู่ที่หน้าร้านแล้ว ไม่มีทางทัน! แน่นอนร้านก็จะต้องคิดแล้วว่า ทำอย่างไรให้ร้านอย่างเราขึ้นมาหน้าร้าน มาถึงปุ๊บไม่เอาแล้วแบบตามสั่ง เอาอันนี้แทน เอาอันนี้เลย นั่นก็คือจะต้องมีเมนู “จานด่วน” ให้เลือกได้ทันที ต้องทำเตรียมเอาไว้ด้วย อย่างเช่น บางวันมีแกงเขียวหวาน ข้าวหน้าไก่ราชวงศ์ ก็ทำเป็นหม้อไว้“ เจ้าของร้านก็ต้องบอก อย่ารอนะผัดไทยนานมาก อาหารที่นานาที่สุดคือผัดไทยครับ กว่าจะสุก แต่วิธีการผัดไทยให้เร็วเราผัดเส้นไว้ก่อน เหมือนกับที่ขายริมถนนทั่วไปเขาจะผัดเส้นไว้เป็นกระป๋องเลย เราไม่ถึงขนาดนั้นเราทำไว้สัก 4-5 ที่ พอสุกปั๊บเราก็ลงคลุกเลย ขอให้มันความร้อนถึงกุ้งเกิ้งสุกก็ใช้ได้”
ปัจจุบันที่ร้านมีเมนูต่าง ๆ ให้เลือกมากกว่า 100 รายการขึ้นไป และยังมีที่เขียนขึ้นป้ายแนะนำแต่ละวันอีกจะสลับหมุนเวียนกันไป“ยกตัวอย่าง อย่างแหนมที่มีอยู่ในตู้เย็น พรุ่งนี้เห็นแหนมเยอะปุ๊บร้านอาหารทำเลยขึ้นป้ายเลย แนะนำเลยข้าวยำแหนม ยำแหนมข้าวทอดซึ่งข้าวทอดก็ทำง่าย ๆ เปลี่ยนพอพรุ่งนี้ปั๊บเราดู โอ้โห!ตับเราเยอะเลย เราลบแหนมออกซะพรุ่งนี้ขายตับกระเทียม ตับผัดกะเพรา ฯลฯ มันต้องดันของออกจากตู้เย็นด้วย นี่เป็นเรื่องของร้านค้าต้องทำนะ” ส่วนเรื่องราคาเชฟนุบอกว่าอาหารที่ร้านขายอยู่ จะดูพิเศษกว่า เต็มจานกว่า และก็เครื่องปรุงมันก็เยอะกว่าด้วย อย่างเวลาน้อง ๆ นักศึกษาเดินมาที่ร้านแล้วเห็น “หมูทงคัตสึ” แทนที่จะกินหมูทงคัตสึราดซอสไปเลย ก็ไม่เอาแต่จะขอให้ที่ร้านทำเป็นเมนูต่าง ๆ ให้ใหม่แทน เช่น ทำเป็นหมูทงคัตสึผัดกะเพรา เลยเป็นที่มาว่าทำให้ราคามันจึงสูงขึ้น พยายามปรับหรือประยุกต์เอาอันนั้นเข้ามา เอาอันนี้เข้ามา ทำให้พอร์ชันของมันใหญ่ขึ้น แล้วก็ต้องอยู่ที่ “เจ้าของร้าน” ด้วยว่า คนขายหน้าร้านด้วย เอาอันนี้อีกไหม เอาอันนี้อีกไหม พี่เอาไปทำอันนี้ให้ได้นะ จบเลยเด็ก ๆ เขาก็จะเอาไปทำให้ได้เหรอ“พี่เอาไปทำผัดพริกเกลือให้ไหม หนูอยากกินหมูนี่ด้วย งั้นเอาครึ่งเดียวเดี๋ยวพี่ไปผัดให้ ทำเป็น “ข้าว 2 ใจ” ขึ้นมา บางทีก็อยากกินกะเพรา แต่อีกใจก็อยากกินผัดพริกเกลือ ก็เรียกข้าว 2 ใจในจานเดียว มันถึงราคามันไม่ใช่ 40 หรือ 50 บาท บางทีมันอาจจะเป็น 60 ก็ได้”
เทคนิคควบคุม “ต้นทุน” ให้อยู่หมัด! ด้วยวิธีการชั่งหรือตวงก่อนทุกเมนู
เชฟนุบอกว่า เทคนิคสำคัญในการควบคุม “ต้นทุน” ได้ดีอย่างหนึ่งสำหรับในยุคนี้ ก็คือการชั่งน้ำหนัก “ต้องชั่งน้ำหนักของ ตาชั่งขาดไม่ได้ อย่างสมมุติจานนี้ใช้หมูขีดครึ่งเราใส่เลย เข้าฟรีซไว้ สปาเก็ตตี้มาปั๊บก็ต้องตวงเลยใช้เท่าไรต่อ 1 จาน ไม่มีการที่ว่าของขาดของเกินเพราะมันชั่งน้ำหนักหมด เราหยิบมาจากตู้แล้วจะดูด้วยว่าวันนี้ปั๊บดูรู้เลย สปาเก็ตตี้เหลือ2 ถุงต้มเลยนะตอนเย็นก็จะต้มสปาเก็ตตี้ขึ้นมา ต้มมักกะโรนีขึ้นมา ทำหมูขึ้นมาอย่างเงี้ยนะครับ เช้าขึ้นมาเจ้าของร้านจะรู้แล้วว่าพรุ่งนี้ซื้อหมูแค่โลครึ่ง พรุ่งนี้ซื้อหมูแค่ 5 โล อะไรเงี้ย ซื้อไก่เท่านี้ ๆ อะไรเงี้ย แต่โดยสภาพของร้านอาหารทั่วไปแล้วกับร้านอาหารใ มหาวิทยาลัย มันแตกต่างตรงที่ว่าในมหาวิทยาลัยเด็กชอบเปลี่ยน พฤติกรรมการกิน เบื่อ เดินมาปั๊บเพราะฉะนั้นหน้าร้านถึงต้องมีอะไรเปลี่ยนไปอยู่เรื่อย ๆ มันก็เหมือนกับวัตถุดิบจะต้องเปลี่ยนไป อาหารก็ต้องเปลี่ยนไป และก็เวียนกลับมาเหมือนเดิม เคยมีเขียวหวานเมื่อเดือนที่แล้วขายดีมากหยุดซะ ทำมัสมั่นขึ้นมาแทน ให้มัสมั่นเข้ามาแทนปั๊บเขียวหวานจะหายไป เด็กมาถามเขียวหวานไม่มีแล้วเหรอ อ๊ะ ๆ เดี๋ยวเดือนหน้าจะขายต่อ มัสมั่นขึ้นมาแทนก่อน เวียนกันอยู่อย่างนี้”
แล้วอีกอย่างคือเราต้องประยุกต์ คนที่เป็นกุ๊กต้องสอนด้วย ต้องสอนคนข้าง ๆ สอนหน้าเขียง สอนคนขึ้นของ สอนแม้กระทั่งเจ้าของร้านต้องบอกเจ้าของจะต้องทำเป็น คนที่เป็นกุ๊กที่ถูกต้อง เจ้าของต้องรู้สมมุติถ้ากุ๊กเป็นอะไรไป หรือว่ากุ๊กหายไปโดยที่ไม่บอก กุ๊กไม่พอใจหรือกุ๊กลาออก นี่เป็นเรื่องธรรมชาติของกุ๊กเลย ไม่พอใจก็เดินออก เพราะฉะนั้นเจ้าของร้านใครที่เป็นเจ้าของร้านจงใช้คำนี้เลย “บอกพี่หน่อยว่าน้องทำยังไง” ขอยืนดูหน่อยว่ามันทำยังไง เจ้าของร้านก็ต้องจำให้แม่น เมนูนี้ขายดีต้องจดไว้หมดใส่อะไร ถ้ากุ๊กคนนี้ออกไปฉันจำได้ กุ๊กคนเก่าทำเอาไว้ลูกค้าติดแบบนี้ เจ้าของจะต้องมีลิสต์ทุกอย่างเอาไว้ เพราะฉะนั้นเจ้าของร้านที่ดีกับกุ๊กที่ดี ต้องแมทช์กัน
เพิ่มยอดขายก้าวกระโดดทันที จากหลักพันสู่วันละหมื่นได้!!!
“ตอนนี้เห็นเจ้าของร้านบอกว่าหลักหมื่น จากที่เคย 2 พัน 3 พัน เดี๋ยวนี้หลักหมื่นหรือ 8 พัน 9 พัน ประมาณนั้นขึ้นไปต่อวัน นอกจากวันที่นักเรียนไม่ได้ลงเรียน หรือออนไลน์อย่างเงี้ยก็จะน้อยหน่อย แต่ก็ดีกว่าเก่า” เชฟนุยังบอกด้วยแต่โดยรวมแล้ว หน้าร้านสำคัญ มันเป็นศาสตร์ (ความเชื่อ) เรื่องของฮวงจุ้ยหรืออะไรต่าง ๆ ที่จะทำให้ดึงดูดลูกค้าเข้ามาที่ร้านได้ ต้องนำมาใช้ร่วมกันซึ่งส่วนตัวแล้วมีความเชื่อเกี่ยวกับด้านนี้ด้วย ป้ายต้องเด่นชัด ราคาต้องเด่นชัด ไม่ต้องมาทะเลาะกันซึ่งทุกอย่างต้องเป๊ะ เรื่องราคาเรื่องตัวเลข เรื่องอาหาร เรื่องหน้าร้านดูชัดเจน โดยเฉพาะร้านที่อยู่ริมสุดจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านได้เยอะ ๆ ต้องใช้ไฟ(แสงสว่าง) หรือต้องใช้อะไรบ้างในการทำให้ร้านโดดเด่นขึ้นมา ทำให้คนมองเห็นและเข้ามาหาได้ แต่ดูรวม ๆ แล้วเชฟนุบอกว่าตอนนี้ที่ร้านคนกินกลายเป็น “ขาประจำ” กันส่วนใหญ่ไปแล้ว
รายได้สอบผ่าน! อาหารก็ทำเป็นแล้วไปต่อ
“ถ้ารวมนับจากขาดทุนไป 4 เดือนแล้วพี่นุมาลงให้เข้าเดือนที่ 3 รวม ๆ แล้วก็ประมาณประมาณ 6-7 เดือน อายุของร้านที่เปิดกิจการมาถึงตอนนี้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดเลยคือว่า รายได้หนึ่ง! และก็คิดว่าตัวเองพัฒนาขึ้นเยอะ คิดว่าน่าจะทำร้านตามสั่งได้แล้วค่ะ แต่ก็ยังไม่ที่สุดค่ะ พี่นุบอกว่าเมนคอร์สหน้าร้านสำคัญกว่า ควรจะไปฝึกขึ้นตรงนั้นให้ได้อีก ทุกอย่างคือการเรียนรู้ยังมั่นใจว่าเรียนได้ค่ะ” เจ้าของร้าน “พาพริ้วตามสั่ง” บอกว่าจากชั่วโมงขายซึ่งจะมีแค่ “ช่วงเช้า”1 ชั่วโมงและก็ “กลางวัน” อีก1 ชั่วโมง ถ้าทางร้านสามารถทำยอดการขาย (จำนวนจาน) ออกไปให้เยอะที่สุดได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนดังกล่าว มันคือรายได้ ดังนั้นก็ควรจะมีอาหารหน้าร้าน(เมนูจานด่วน) เพื่อรอดักหรือว่าเป็นช้อยส์ที่เลือกได้ในเวลาเร่งรีบให้กับลูกค้าได้ทันด้วย จึงเกิดเป็นเมนูหน้าร้านขึ้นมาที่ตอนนี้น้อง ๆ ทานเลยก็จะเป็น ข้าวคลุกกะปิ ก๋วยจั๊บ แกงเขียวหวาน(ลูกชิ้นปลากรายใส่ยอดมะพร้าว)
ซึ่งขายดีมาก ๆ และร้านเองก็เน้นขายความแพงด้วยคือ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นแกงเขียวหวานไก่ คนกินก็น่าจะเบื่อแล้วเพราะว่ามีขายทุกร้าน ก็ยังยึดความคิดเดิมว่า อาหารที่ออกมาควรจะแปลกและแตกต่างจากเดิมที่มีอยู่
ลูกค้าภายนอกก็สนใจ เตรียมขยายสู่ “ร้านที่3”
กระติกเล่าให้ฟังด้วย ที่นี่จะมีลูกค้าซึ่งเป็นชาวต่างชาติแวะเข้ามาทานอาหารไทยกันอยู่บ่อย ๆ อย่างที่ร้านเองก็จะมีลูกค้าประจำซึ่งพอมาครั้งหนึ่งแล้ว เขาก็จะมาอีกและกินเป็นมื้อเช้า มื้อเที่ยง และก็มื้อเย็นด้วยก็มี เมนูที่มักเลือกทานก็จะเป็น ผัดไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองยอมรับว่าใหม่ ๆ ช่วง2 สัปดาห์แรกของการเริ่มทำอาหารเองตอนนั้นยังทำรสชาติ ได้ไม่ค่อยดีนัก ไม่รู้ว่าลูกค้าจะทรงจำรสชาติแบบนั้นไปผิด ๆ ว่าอาหารไทยเป็นแบบนี้หรือไม่ แต่ตอนนี้ผัดเก่งขึ้นมากแล้วก็อยากจะให้ลูกค้ามาลองชิมใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ชาวต่างชาติที่มาทานอาหารจะน่ารักมาก เมนูที่ตอนนี้จะเลือกสั่งกันอย่างเช่น ผัดซีอิ๊ว หรือว่าแกงก็อน่างเช่นเมนู
ต้มข่าไก่ เป็นต้น
สำหรับการพัฒนาของร้านขั้นต่อไป เจ้าของบอกว่าพอเริ่มทำครัวอย่างจริงจังตอนนี้ก็มี การรับทำข้าวกล่องซึ่งลูกค้าเองก็เริ่มติดแล้ว และก็ยังมีเปิดเดลิเวอรี่เพื่อให้บริการส่งอาหารด้วย“ตอนนี้ออนไลน์ก็เปิดแล้ว พอร้านเริ่มอยู่ตัวแล้วเราทำข้าวกล่อง ลูกค้าเริ่มติดแล้ว ก็อยากจะทำออนไลน์อย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย ส่วนในอนาคตอันนี้ลุงนุก็บอกว่า อยากเก็บร้านไว้ให้หลาน คือทำจนหลานโตเลยน่ะค่ะ และก็ควรจะขยายให้มากกว่านี้เพราะว่า การที่เรารอเด็กปิดเทอมแล้วเราไม่มีรายได้เลย มันไม่ดีไม่เหมาะอย่างเงี้ยคะ ก็ควรจะมีร้านที่เราเปิดได้ทั้งปีอีกสักร้านหนึ่ง เพื่อที่จะพยุงร้านหรือค่าใช้จ่ายเอาไว้ก็มองไปถึงขั้นนั้น ควรจะมีร้านที่3” รวมถึงการเปิดตัวเองให้มากขึ้น ออกบูธ ขายออนไลน์ รับทำข้าวกล่องอย่างจริงจังในช่วงการปิดเทอม เพื่อให้มีรายได้เข้ามาในแต่ละเดือนทุกเดือน
เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ในมุมของการปรับเปลี่ยนใหม่สำหรับร้านค้าโดยเฉพาะ “ร้านตามสั่ง” ทั่วไปซึ่งหลายคนอาจจะกำลังประสบปัญหาอยู่ตอนนี้ ทั้งเรื่องของต้นทุนค่าวัตถุดิบที่แพงขึ้นรวมถึงยอดขายก็อาจจะดร็อป ๆ ซา ๆ ลงไปในช่วงนี้ พอได้ฟังเทคนิคต่าง ๆ ที่เชฟมืออาชีพแนะนำให้แล้วสำหรับตัวอย่างของร้าน “พาพริ้วตามสั่ง” ใครเห็นแล้วอยากจะลองนำไปปรับหรือประยุกต์ใช้บ้างก็น่าจะดีไม่น้อยเลย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.086-622-9015
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *