xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือไม่ !! คนไทยเพาะเห็ดเยอะขนาดไหน ดูจากผู้ผลิตหัวเชื้อเห็ด “ลัลณ์ลลิล” ขายปีละกว่า 1 ล้านขวด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟาร์มเพาะเห็ด เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เกษตรกรไทยนิยมทำกัน เพราะด้วยไม่ต้องใช้พื้นที่ และไม่ต้องดูแลรักษาเยอะมากเหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ ควบคุมต้นทุนการผลิตได้ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้มีผู้ผลิตก้อนเชื้อเห็ด ผู้ผลิตหัวเชื้อเห็ด เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับกับความต้องการของเกษตรกร ที่ต้องการลดขั้นตอนไม่ต้องผลิตก้อนเชื้อเห็ด หรือ เพาะหัวเชื้อเห็ดเอง โดยการสั่งซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง


เริ่มจากเพาะเห็ดฟาง เมื่อ 40 ปี
ก่อนจะมีเห็ดสายพันธุ์อื่นๆในไทย


วันนี้ พามารู้จักกับเกษตรกรที่มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับการทำเห็ดมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ตกทอดมาจนถึงรุ่นลูก ที่ผันตัวมาเป็นผู้เพาะหัวเชื้อเห็ดด้วยเทคโนโลยี ไบโอเทค ที่ใช้ชื่อว่า “ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค” ออกจำหน่าย สร้างรายได้เป็นจำนวนเงินหลักสิบล้านบาท ต่อปี ด้วยยอดขายหัวชื้อเห็ดกว่า 1 ล้านขวด ในราคาขวดละ 8.50 บาท ไปจนถึง 10 บาท ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียงหลักแสนบาท

นายอภิศักดิ์ แซ่หลี ทายาทรุ่นที่ 2 รับช่วงดูแลกิจการฟาร์มเห็ด ต่อจากคุณพ่อ เล่าถึงที่มา ของ ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค ว่า เริ่มมาจากคุณพ่อของ “คุณจินตนา” ภรรยา ได้ทำฟาร์มเพาะเห็ดฟาง ในปี 2526 โดยในยุคนั้น คุณพ่อสมพรเพาะเห็ดฟางเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีสายพันธุ์เห็ดอื่นๆ เยอะเหมือนในปัจจุบัน และวัตถุดิบที่ใช้เพาะเห็ด ก็มีเพียงฟางข้าวที่สามารถหาได้ทั่วไป เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว และมีฟางข้าวอยู่เป็นจำนวนมากหาได้ง่าย เกษตรกรจะใช้ช่วงเวลาที่ว่างจากการทำนาเพาะเห็ดฟางเอาไว้กินกันภายในครัวเรือน เหลือก็นำออกมาขาย


หลังจากนั้น พ่อสมพรเห็นว่า เห็ดฟางทำรายได้ดี ก็เลยหันมาทำเห็ดอย่างจริงจัง และต่อมาเกษตรกรหลายคนเริ่มหันมาทำฟาร์มเห็ดกันมากขึ้น พ่อสมพร ซึ่งประสบการณ์การทำเห็ดและได้ความรู้ในเรื่องของการทำหัวเชื้อเห็ดฟาง ที่เอาใช้เอง และต่อมามีคนมาขอซื้อหัวเชื้อเห็ดฟาง พ่อสมพรก็เลยทำหัวเชื้อเห็ดฟางขายควบคู่ไปด้วย ซึ่งต่อมาหัวเชื้อเห็ดฟางได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มีเกษตรกรในละแวกจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งฟาร์มเห็ดพ่อสมพร และจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ ฯลฯ ก็มาเป็นลูกค้าซื้อหัวเชื้อเห็ดฟางจากพ่อสมพร โดยรู้จักกันในชื่อว่า หัวเชื้อเห็ดฟางสมพร ต่อมา ผ่านมาหลายๆ ปี ความนิยมในเห็ดฟางเริ่มลดน้อยลงไป พ่อสมพรก็เลยหยุดทำในปีที่ 16 และหันมาทำเกษตรอย่างอื่นทดแทน


ลูกสาวเรียนจบ กลับมาทำฟาร์มเห็ดอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อ คุณจินตนา ลูกสาวเรียนจบก็กลับมาทำกิจการฟาร์มเพาะเห็ดที่บ้านอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ฟาร์มเห็ดจินตนา แต่ครั้งนี้ ไม่ได้ทำหัวเชื้อเห็ด แต่เป็นการทำก้อนเห็ด (ก้อนขี้เลื่อย) และไม่ได้ทำเฉพาะเห็ดฟาง มีการทำก้อนเห็ดสายพันธุ์อื่นๆ โดยคุณจินตนาได้ไปศึกษาอบรมการทำเห็ดจากที่เปิดอบรมจากหลายๆ ที่ และนำความรู้ที่ได้มาบวกกับความรู้ที่ได้จากพ่อสมพร และเริ่มเปิดฟาร์มเห็ดอีกครั้งในปี 2553 ด้วยการไปซื้อก้อนเห็ดและนำมาเปิดดอกเห็ดเอง ได้ดอกเห็ดเยอะขึ้น พ่อสมพรแนะนำให้ผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อจำหน่ายควบคู่ไปกับการเปิดดอกเห็ดสด

ต่อมาได้มีการศึกษาเรื่องเห็ดเมืองหนาว และศึกษาเรื่องโรงเรือน EVAP รองรับการเพาะเห็ดเมืองหนาว อย่างเห็ดออรินจิ พอในปี 2557 ก็ได้ลงทุนสร้างโรงเรือนเห็ดเมืองหนาวที่ไว้สำหรับเพาะเห็ดออริจิเท่านั้น และทำโรงเรือน EVAP เพื่อเพาะเห็ดนางฟ้า และตระกูลเห็ดนางรมอื่นๆ พอทำมาได้สักระยะหนึ่ง ฟาร์มเห็ดจินตนาก็ไปได้ด้วยดี ทั้งการลงทุน และผลตอบแทนกำไร จนกระทั่ง เมื่อมีเห็ดนำเข้าเห็ดออริจิจากประเทศจีนเข้ามามากขึ้นเรื่อย ทำให้ราคาเห็ดออริจิลดลงเรื่อยๆ ทำให้ฟาร์มเห็ดจินตนาประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และต้องหยุดและเลิกเพาะเห็ดเมืองหนาว


เห็ดจีนตีตลาดราคาตกขาดทุนปิดฟาร์ม
เริ่มนับหนึ่งใหม่ กับ การทำหัวเชื้อเห็ด

นายอภิศักดิ์ ทายาทรุ่นที 2 เล่าว่า หลังจากที่หยุดทำฟาร์มเห็ดจินตนาไป ก็มาเริ่มนับหนึ่งใหม่กันอีกครั้ง โดยได้กำลังใจจากพ่อสมพร บอกว่า เราทำเห็ดมาหลายอย่างแล้ว แต่มีอีกหนึ่งอย่างที่เรายังไม่ได้ทำเป็นอาชีพแบบจริงจัง คือ การทำหัวเชื้อเห็ดจำหน่าย และนี่คือ จุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในช่วงวิกฤตที่เรานำมาเป็นโอกาส โดยในปี 2559 เริ่มศึกษาความรู้เรื่องการทำหัวเชื้อเห็ด นำความรู้ที่อบรมจากที่ต่างๆ และประสบการณ์ที่ทำเห็ดมานานของพ่อสมพร มารวมกัน และเป็นผู้ผลิตหัวเชื้อเห็ดรายแรกๆ ทำหัวเชื้อเห็ดจำหน่ายกว่า 20 ชนิด ซึ่งการลงทุนในช่วงแรกไม่ได้ลงทุนอะไรมาก เป็นการลงทุนต่อยอดจากของที่เรามี และค่อยๆ ทำ พอเห็นว่าตลาดไปได้ก็ค่อยขยับขยายโดยใช้ทุนที่ได้จากกำไรที่ได้มาต่อยอดการลงทุนต่อ


สำหรับกิจการหัวเชื้อเห็ด ใช้ชื่อว่า “ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค” และตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยมีหัวเชื้อเห็ดให้ลูกค้าได้เลือกมากกว่า 20 ชนิด มีกำลังการผลิตต่อเดือนมากกว่า 100,000 ขวด โดยมียอดขายต่อปี มากกว่า 1,000,000 ขวด ในราคาขายขวดละ 8.50 บาท ถึง 10 บาท แล้วแต่ชนิดของเห็ด ซึ่งหัวเชื้อเห็ดที่ขายได้มากจะเป็นตระกูลเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้า ลูกค้ามาจากทั่วประเทศ และสาเหตุที่คนนิยมซื้อหัวเชื้อเห็ด ทั้งที่สามารถเพาะเชื้อเห็ดเองได้ หรือ ซื้อก้อนเชื้อเห็ด เพราะการซื้อหัวเชื้อเห็ด สะดวกสบายกว่า และเชื้อเห็ดหนึ่งขวดสามารถทำก้อนเห็ดได้มากถึง 40-50 ก้อน ถูกกว่า การซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาก หรือ ถ้าทำหัวเชื้อเห็ดเองมีรายละเอียดเยอะไม่คุ้ม เกษตรกรจึงนิยมซื้อเป็นหัวเชื้อเห็ดมากกว่า


เข้าร่วมโครงการ TOYOTA ธุรกิจชุมชนพัฒน์

นอกจากนี้ ลัลณ์ลลิด ไบโอเทค ยังเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับเลือก จากทาง บริษัทโตโยต้า ประเทศไทย จำกัด เข้าร่วมโครงการ TOYOTA ธุรกิจชุมชนพัฒน์ด้วย เป็นโครงการที่ทาง โตโยต้า จัดขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กให้มีการบริหารจัดการอุตสาหการที่เหมาะสม ถูกต้อง โดยจะนำระบบที่ทางโตโยต้าใช้บริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้กับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เหมาะสมและเติบโตอย่างยั่งยืน “อภิศักดิ์” กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ ครั้งนี้ ทำให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น จากเดิมทำแค่เป็นธุรกิจเล็กในชุมชน กลายเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในส่วนการผลิตที่สามารถควบคุมการผลิต และลดต้นทุนการผลิตได้ เป็นต้น


นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางในอนาคต ว่า ทางบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มไลน์การผลิต สืบเนื่องมาจากการที่เราผลิตหัวเชื้อเห็ดได้ นำหัวเชื้อเห็ดที่ได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่ออันนี้มาแปรรูป เป็นโปรตีนจากเนื้อเยื่อเห็ด เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการอาหารในกลุ่มที่ต้องการโปรตีนจากพืช ซึ่งเป็นเทรนด์การบริโภคอาหารยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปีหน้า ช่วงนี้อยู่ในช่วงการทดลองวิจัย

ท้ายสุด เจ้าของลัลณ์ลลิล ไบโอเทค พูดถึง ในส่วนของภาพรวมตลาดเห็ด ในมุมมองของตนเองว่า ยังมีช่องว่างให้กับเกษตรกร เพราะเห็ดมีหลายประเภท หลายสายพันธุ์ ในบางพื้นที่ความต้องการเห็ดในบางสายพันธุ์ก็ยังมีอยู่อีกมาก เช่น เห็ดแครง มีเฉพาะภาคใต้ คนในภาคอื่นๆ ยังอยากจะกินเห็ดแครง แต่ก็หาซื้อไม่ได้ เป็นต้น โดยส่วนตัวมองว่าเกษตรกรในภาคอื่นๆ สามารถนำเห็ดแครงไปเพาะเพื่อขายให้คนในพื้นที่ของตนเองได้อยู่

ติดต่อ โทร.08-1701-5665

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น