เพราะต้องการปรับเปลี่ยนจากสวนยางธรรมดาให้กลายเป็นสวนยางที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น ด้วยการทำเป็น “ฟาร์มเห็ดแครง” และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แพลนท์เบสแปรรูปจากเห็ดแครง สู่ศูนย์การเรียนรู้ช่วยเหลือชุมชนและเกษตรกรชาวสวนยางให้มีอาชีพและสร้างรายได้เสริม พร้อมกับแปรรูปเห็ดแครงออกมาในรูปแบบของ “หมูปิ้งและหมูสะเต๊ะ” ตอบโจทย์เทรนด์แพลนท์เบสในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
นายปริยะ ศิริกุล Managing Director แบรนด์มัดใจ เห็ดแครง เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์เห็ดแครงนั้นเริ่มต้นจากการที่ตนนั้นเป็นลูกหลานเกษตรกรสวนยางพาราในจังหวัดสงขลา และได้เจอกับปัญหาราคายางที่ขึ้นลงตลอดเวลามาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กและในช่วงหลังก็ลดลงต่อเนื่อง และอีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องของเศษยางหรือขี้เลื่อยที่ไม่ได้ใช้นั้นไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกวิธี ทำให้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงของเหลือจากการเกษตรนั้นจะทำลายด้วยการเผา ซึ่งจะเป็นการทำลายมลภาวะและสิ่งแวดล้อม กลายเป็น 2 ปัญหาที่พบเจอได้บ่อย ต่อมารุ่นลูกหรือเจ้าของแบรนด์ที่ต้องมาดูแลสวนต่อจากพ่อแม่ตนมีความคิดว่าถ้าหากทำสวนแบบเดิม ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นตนจึงได้เห็นเห็ดแครงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในสวนของตนจากไม้ยางพาราที่ตายแล้ว เมื่อเห็นดังนั้นก็เกิดความคิดว่าถ้าหากปลูกเห็ดแครงให้ได้ตลอดทั้งปีก็อาจจะเป็นเรื่องดีและมีโอกาสดีๆ ตามมา เนื่องจากเห็ดแครงมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ตนตัดสินใจเริ่มทำฟาร์มเห็ดแครงมาตั้งแต่ปี 2012 และเริ่มมีคนสนใจเพิ่มขึ้นเพราะว่าในอดีตจะเก็บเห็ดตามฤดูกาล แต่พอทำฟาร์มเห็ดขึ้นมาก็มีให้เก็บตลอดทั้งปี จึงเป็นที่สนใจของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้พอเป็นพืชผลทางการเกษตรนั้นจะเกิดปัญหาในเรื่องของการเน่าเสียง่าย และสามารถนำไปขายได้เฉพาะในตลาดสดเท่านั้น ทางฟาร์มจึงริเริ่มแนวคิดการนำเห็ดแครงมาแปรรูป ซึ่งได้รับการอบรมบ่มเพาะความรู้ต่างๆ จาก สวทช. และ อตก. เรื่องการเพิ่มมูลค่าเห็ดแครงต่อมาในปี 2018 จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเห็ดแครงมากขึ้น และได้ทราบว่าเห็ดแครงมีโปรตีนสูง โดยปกติแล้วเห็ดทั่วไปจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 2-3% แต่เห็ดแครงมีโปรตีนสูงถึง 17% ซึ่งเกือบเท่าเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีน 20-25% รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารต้านเซลล์มะเร็งอีกด้วย หลังจากศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเห็ดแครงเพิ่มเติมแล้วนั้นก็เริ่มหาข้อมูลในการนำมาแปรรูปว่าจะแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง ในช่วงนั้นทางฟาร์มได้พบเจอเทรนด์อาหารแพลนท์เบสในต่างประเทศสำหรับผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ หรือ วีแกน ทำให้ทางฟาร์มเริ่มทำแบรนด์แปรรูปเห็ดแครงเป็นแพลนท์เบสมาตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้จุดเด่นและความพิเศษของแพลนท์เบสจากเห็ดแครงของทางแบรนด์คือ เป็นแพลนท์เบสไร้ถั่ว เพราะว่าหลายกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์และกินอาหารแพลนท์เบสนั้นมีอาหารแพ้ถั่วจำนวนมาก ทำให้ทางแบรนด์ทำเห็ดแครงแปรรูปแพลนท์เบสไร้ถั่วขึ้นมานั่นเอง โดยจะใช้ขนุนอ่อนมาทดแทนถั่วซึ่งจะให้เนื้อสัมผัสที่แตกต่าง เนื่องจากในปัจจุบันเริ่มมีแบรนด์แพลนท์เบสเพิ่มมากขึ้น วัตถุดิบหลักๆ ของการทำอาหารแพลนท์เบสก็คือ ถั่ว ซึ่งเมื่อใช้ถั่วจำนวนมากแต่ในประเทศไทยนั้นมีกำลังปลูกไม่พอ จึงต้องมีการนำเข้าถั่ว ซึ่งการนำเข้าถั่วนี้จะทำให้เกษตรกรไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร ทำให้ทางแบรนด์ตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ใช้ถั่วแต่จะใช้เห็ดแครงเป็นหลักและต่อมาคือขนุนอ่อน โดยเป็นพืชผลทางการเกษตรในประเทศ 100% นอกจากนี้ความพิเศษอีกหนึ่งอย่างคือไม่มีการแต่งสี แต่งกลิ่น หรือเนื้อสัมผัสที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ แต่จะเป็นเนื้อสัมผัส สี และกลิ่นที่เป็นธรรมชาติของตัววัตถุดิบทั้งหมด
ปรับปรุงฟาร์มขนาด 2 ไร่ เพาะเห็ดแครงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ไปในตัว เนื่องจากต้องการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจการเพาะเห็ดแครง และเมื่อเกษตรกรเพาะเห็ดแครงได้สำเร็จ ทางฟาร์มก็จะรับซื้อผลผลิตกลับมาเพื่อนำไปแปรรูป ซึ่งจะเป็นการให้โอกาสและหาทางออกให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาแบบเดียวกันกับทางฟาร์มได้มีรายได้เสริมอีกหนึ่งช่องทาง นอกจากนี้การทำฟาร์มเป็นศูนย์การเรียนรู้นั้นได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อทำการวิจัยและให้ข้อมูลต่างๆ
ตั้งใจจะตีตลาดต่างประเทศแต่กลับต้องมาเจอกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักแผนที่เตรียมเอาไว้ก่อน โดยมีการวางแผนทำเป็นแผ่นเห็ดแครงเบอร์เกอร์ส่งออกต่างประเทศ แต่เมื่อทำการตลาดต่างประเทศไม่ได้ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นตีตลาดในประเทศไทยแทน จากเดิมที่เป็นแผ่นเห็ดแครงเบอร์เกอร์ก็เปลี่ยนมาเป็น หมูปิ้ง และหมูสะเต๊ะ เพื่อเสิร์ฟลูกค้าภายในประเทศ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเพราะคนไทยกินหมูปิ้งและหมูสะเต๊ะเป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่เป็นแกงสำเร็จรูปซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าสายแคมป์ปิ้ง
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดนั้น ทางแบรนด์ได้มีการนำเห็ดส่วนเกินที่ไม่สามารถนำมาแปรรูปเป็นหมูสะเต๊ะหรือหมูปิ้งได้ไปทำเป็นสารสกัดกลูแคนขึ้นมาเพิ่มแทน และในปัจจุบันประเทศเปิดทางแบรนด์ก็เริ่มออกบูธเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ปกติแล้วเห็ดแครงจะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตร้อนชื้น แต่ที่ทางแบรนด์ทดลองนั้นจะให้ผลผลิตได้ดีเมื่ออยู่บนไม้ยางพารา ซึ่งวิธีการปลูกเห็ดแครงนั้น ทางแบรนด์จะแซมในร่องสวนต้นยางพาราภายในสวนยางพารานั่นเอง
ในส่วนของกลุ่มลูกค้านั้น ในประเทศไทยจะมีการซ้อนทับระหว่างแพลนท์เบสกับอาหารเจค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงติดภาพแพลนท์เบสเป็นอาหารเจ แต่ในความเป็นจริงอาหารเจต้องตัดผักฉุนทั้งหมด 5 ชนิดออก แต่แพลนท์เบสสามารถใส่ได้ รวมถึงตลาดอาหารเจในไทยยังมีขนาดใหญ่กว่าแพลนท์เบสอยู่ค่อนข้างมาก บวกกับการที่สินค้าของทางแบรนด์เป็นแพลนท์เบสไร้ถั่ว ลูกค้าบางกลุ่มก็จะไม่ให้ความสนใจมากนัก ทำให้ในภายหลังทางแบรนด์ได้มีการให้คำนิยามว่าหมูปิ้งและหมูสะเต๊ะไร้เนื้อสัตว์ เพื่อให้ลูกค้าได้สนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีทั้งกลุ่มคนที่เคยกินเจ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนดูแลสุขภาพ
กลยุทธ์และเทคนิคการทำการตลาดนั้นทางแบรนด์ให้ข้อมูลว่า แบรนด์ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าแพลนท์เบสของตนเองมีความแตกต่างจากร้านอื่นอย่างไร ซึ่งจะมีความแตกต่างในส่วนของวัตถุดิบที่เลือกใช้มาทำเป็นแพลนท์เบส และการช่วยเหลือชุมชนให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้เสริม รวมถึงสามารถช่วยลดขยะให้กับประเทศได้จริง
ทั้งนี้ในส่วนของกำลังการผลิตนั้นในตอนนี้ทางแบรนด์ได้ผลิตตามปริมาณออเดอร์ เนื่องจากไม่อยากให้เกิดปัญหาในเรื่องของขยะที่เกิดจากอาหารที่เหลือทิ้งหรือผลิตเกินความจำเป็น ซึ่งการผลิตตามออเดอร์นั้นก็จะกระจายโควต้าให้กับเครือข่ายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและโครงการหลวงที่ทางฟาร์มได้ให้ความรู้และสอนการปลูกเห็ดแครง โดยจะแบ่งโควตาให้เครือข่ายตามกำลังที่สามารถรับได้ อีกทั้งเกษตรกรและกลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ที่นอกจากจะกลับมาขายผลผลิตให้ทางฟาร์มแล้วนั้น ก็ได้มีการนำออกไปขายตามตลาดสดเพิ่มช่องทางการหารายได้เสริมอีกด้วย ปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์หรือกลุ่มเครือข่ายอยู่ประมาณ 15 ราย และเป็นเกษตรกรภายในพื้นที่
สำหรับการขายหมูปิ้งและหมูสะเต๊ะนั้นยอดขายรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 แสนบาทต่อเดือน และลูกค้าจะนิยมซื้อหมูปิ้งมากกว่าสินค้าประเภทอื่น ปัจจุบันทางแบรนด์มีหน้าร้านอยู่ที่ อตก. และมีขายออนไลน์ทางเพจเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ในช่วงหลังที่เปิดประเทศได้แล้วนั้นทางแบรนด์ได้มีการออกบูธแสดงสินค้ามากขึ้น ทำให้มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาติดต่อและสนใจผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นแปรรูปและยังไม่ได้แปรรูปจำนวนมาก ทั้งนี้หมูปิ้ง 1 ชุดมีทั้งหมด 6 ไม้ราคา 120 บาท หมูสะเต๊ะ 10 ไม้ราคา 120 บาท แผ่นเบอร์เกอร์ 1 แผ่น 90 บาท
อย่างไรก็ตามในอนาคตทางแบรนด์ได้มีการวางแผนต่อยอดธุรกิจให้ไปในทิศทางของการต่อยอดเรื่อง คาร์บอนเครดิต กล่าวคือ การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งการต่อยอดคาร์บอนเครดิตนั้นปกติแล้วขี้เลื่อยจะถูกทำลายด้วยการเผาและเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ทางแบรนด์จึงต้องการต่อยอดเรื่องนี้ให้กลายเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้ ในส่วนของตัวสินค้าก็ได้มีการวางแผนแตกไลน์ประเภทสินค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกำลังรอตลาดที่สามารถนำไปวางขายได้
ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook : MJ MudJai-Plant Based Food (สินค้า)
Facebook : บ้านเห็ดแครง (ฟาร์ม)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *