xs
xsm
sm
md
lg

NIA เดินหน้าเปิดหลักสูตร SME to IBE รุ่นที่ 2 ปั้น เอสเอ็มอีไทย สู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดหลักสูตรตอบโจทย์การพัฒนาเอสเอ็มอีไทยด้วยการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วยฐานคิดนวัตกรรม ภายใต้แนวความคิด "The Transformation" ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จะทำให้องค์กรเกิดการ “เปลี่ยนแปลง” ครั้งสำคัญ โดยมุ่งเน้นตั้งแต่การสร้าง การพัฒนา และการใช้นวัตกรรม เพื่อตอบสนองทิศทางธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตและเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นด้วยการเป็นองค์กรนวัตกรรม ทั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนในหลากหลายธุรกิจเข้าร่วมการอบรมกว่า 80 ราย โดยจะจัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2565

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ได้รับความเชื่อมั่นจากภาคเอกชนในการพัฒนาให้องค์กรชั้นนำยกระดับองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม โดยได้ริเริ่มสร้างเครื่องมือการวัดองค์กรนวัตกรรม แนวคิดองค์กรฐานนวัตกรรม หรือ Innovation-based enterprise และการสร้างผู้นำและผู้บริหารองค์กรผ่านการจัดการนวัตกรรมมาโดยตลอด หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ให้สามารถยกระดับความเป็นองค์กรนวัตกรรมได้ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการนำเอาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และแนวทางในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งได้ มาใช้ในสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดทางทรัพยากรที่มีน้อยกว่าองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง NIA

 โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวสู่การเป็น “Innovation Based Enterprise; IBE” ซึ่งหมายถึงการเป็นองค์กรธุรกิจที่มีฐานคิดนวัตกรรม และสามารถสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร นั่นคือการที่บุคลากรภายในองค์กรยอมรับและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงที่ใส่กระบวนการทางนวัตกรรมลงไปทั้งมิติ “การสร้าง” “การพัฒนา” และ “การใช้” ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสด้วยแนวคิดนวัตกรรม 

สำหรับในปีนี้ NIA Academy เพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตร SME to IBE ขึ้นอีกระดับเพื่อให้เอสเอ็มอีไทยก้าวทันสถานการณ์ที่ผันผวนในอนาคต รู้วิธีการ และสามารถวางแนวทางสู่การเปลี่ยนองค์กรให้เป็น IBE ได้ โดยโครงสร้างและเนื้อหาหลักสูตรนี้ ผ่านการกลั่นกรองและพิจารณาจากทีมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารจากหลากหลายหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมาตรฐานหลักสูตรสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้กับเอสเอ็มอีไทย 

โดยสาระสำคัญที่จะได้เรียนรู้กันประกอบด้วย 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) การสร้างผู้นำที่เป็นนวัตกร 2) การสร้างนวัตกรรมทำกำไร 3) การพัฒนาองค์กรด้วยวัฒนธรรมนวัตกรรม 4) การพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์ด้วยเครื่องมืออนาคต 5) การใช้นวัตกรรมเปลี่ยนโฉมธุรกิจ และ 6) การใช้จุดแข็งพันธมิตรร่วมสร้างการเติบโต ทั้งนี้ NIA คาดหวังว่าหลักสูตร SME to IBE จะเป็นตัวช่วยในการสร้างหลักคิดและสร้างแนวทางการเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีไทย โดยมีแผนจะขยายโอกาสในการเรียนรู้ออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นผ่านการใช้เครื่องมือและแพลทฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ เรียนรู้ เข้าใจ และนำไปใช้ในการสร้างศักยภาพของเอสเอ็มอีไทยด้วยการเป็นองค์กร IBE”

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA  กล่าวว่า “หลักสูตร SME to IBE เป็นหลักสูตรที่ NIA Academy พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบธุรกิจของประเทศ โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจแต่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจของตนเองด้วยวิธีคิดแบบองค์กรนวัตกรรม ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 โดยอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 เริ่มคลี่คลาย แต่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบมาจากปัญหาภายนอกด้านอื่นอีก เช่น ปัญหาภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน สินค้า วัตถุดิบ ต้นทุน ฯลฯ เรียกได้ว่ายังคงเป็นสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้ด้วยการพลิกวิกฤตและมองหาโอกาสจากฐานคิดนวัตกรรม เพื่อสร้างการเติบโตและต่อยอดต่อไปท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนี้”


“ผลสำเร็จจากการจัดอบรมรุ่นที่ 1 ที่ผ่านมา นอกจากเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางนวัตกรรมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ
เอสเอ็มอีไทยแล้ว ยังมีบริษัทที่มีศักยภาพ 8 บริษัท ที่สามารถเสนอแผนที่นำทางในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่การเป็นองค์กรฐานคิดนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีนี้ NIA ได้คัดเลือกบริษัทที่จะเข้าร่วมในหลักสูตรนี้ทั้งสิ้น จำนวน 82 ราย จาก 41 บริษัท แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยี (Technology) ธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) บริการ (Services) สินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) และอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ทั้งนี้ NIA คาดหวังว่ากระบวนการเรียนรู้จากหลักสูตรนี้จะสามารถสร้างองค์กรธุรกิจที่มีแนวคิดนวัตกรรมและนำองค์ความรู้และเครือข่ายที่ได้กลับไปประยุกต์ต่อยอดการพัฒนาธุรกิจของตนเองได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขยายผลการสร้างเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็ง” ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติม


กำลังโหลดความคิดเห็น