xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ใครอยากไปญี่ปุ่นยกมือขึ้น! รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ ผู้ให้ชีวิตใหม่เด็กไทยยุวเกษตรฯเติบโตสู่ “ผู้ประกอบการ” ใหม่!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเกษตรญี่ปุ่นพัฒนานำเรา 20 ปีแต่ว่า ก็มีทั้งใช้เทคโนโลยีและการทำเกษตรแบบสามัญที่เน้นเรื่อง “ดิน” เป็นหลัก และขาดแคลนแรงงานอย่างมากการไปฝึกงาน (จิชูเซ) เกษตรที่ญี่ปุ่น จึงเป็นทางลัดที่เด็ก ๆ จะได้ทั้งความรู้และเงินทุนกลับบ้าน

ใครอยากไปญี่ปุ่นยกมือขึ้น!
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรประเทศญี่ปุ่น ที่ปรึกษาโครงการไทนิชิยูโก กล่าวว่า ตนเองนั้นมาจากเด็กด้อยโอกาสเป็นลูกชาวไร่ที่เติบโตมากับไร่มันสำปะหลังก่อนที่จะประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เพราะได้รับ “โอกาส” จากพี่ชายที่เสียสละให้เรียนต่อและครูบาอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตรฯชลบุรีช่วยผลักดัน จนทำให้ได้ไปเรียนต่อสำเร็จ “ด็อกเตอร์” สาขาเกษตรศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่น กลับมาทำประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยการเข้ารับราชการ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ และริเริ่มโครงการส่งนิสิตเกษตรเพื่อไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นได้สำเร็จภายในปีแรก อาศัยแนวคิดมาจากญี่ปุ่นเคยใช้หลังการแพ้สงครามฯ เพื่อแก้ปัญหาความอดอยากที่เกิดขึ้นโดยการส่งเยาวชนของเขาไปเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรจากยุโรปและอเมริกา ใช้เวลา2 ปี กลับมาพัฒนาชาติอย่างได้ผลภายในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นวิธีการเดียวกันสามารถนำมาใช้กับประเทศไทย ต่อมาได้เปิดบริษัทเพื่อดำเนินการส่งยุวเกษตรฯ ไปฝึกงาน(จิชูเซ) ที่ญี่ปุ่นด้วย เป้าหมายคือ การสร้าง “ผู้ประกอบการ” ขึ้นมาแทนการเป็นเกษตรกรเพราะสามารถทำแล้วร่ำรวยกว่าต่อไป

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ ในวัยหลังเกษียณที่มารับหน้าที่ ที่ปรึกษาของโครงการไทนิชิยูโก อย่างเต็มตัว
“วิธีการที่จะพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย ทางลัดที่สุดแล้วก็คือการพัฒนาคน เอาเขาไปเปิดโลกทัศน์ข้างนอก ให้เขาเห็นการเกษตรที่มันต่างจากบ้านเรา ดี-เสียไม่พูดถึงนะครับ แต่มันเป็นการเกษตรที่แตกต่างแน่นอน แล้วก็เอาข้อดี ๆ ของเขาเอากลับมาบ้านเรา แล้วมาพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย

เกษตรคืออาชีพที่แท้จริงของบ้านเรา และไม่ว่าเราจะโกหกตัวเองยังไงก็ตาม บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรมครับ แต่เราขาดการเหลียวแลสาขาเกษตรมาก คนไทยดูถูกอาชีพเกษตร พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเรียนเกษตร คนไม่อยากเป็นเกษตรกร แล้วถามว่าประเทศไทยมันจะไปยังไง? เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ของเราคือมองไปที่ลูกหลานเกษตรกร ซึ่งมีความปรารถนาอยากจะเป็น
“ผู้ประกอบการ” เราไม่เรียกเกษตรกรแล้วครับเราเรียกผู้ประกอบการ เพราะเป็นเกษตรกรมันยากจน! ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์คิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศนี้ก็คือ การสร้างผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ ขึ้นมาสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมให้กับประเทศชาติ”


ลักษณะสถานที่การไปฝึกงานด้านการเกษตรที่ญี่ปุ่น
ที่ปรึกษาโครงการไทนิชิยูโกบอกว่า มีหลายประเทศที่เราสามารถส่งเด็กไปฝึกงานได้ แต่ถามว่าการเกษตรที่ไหนเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุด อาจารย์บอกเลยว่ามี2 ประเทศ คือ 1.ไต้หวัน 2.ญี่ปุ่น สองประเทศนี้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้มาก อิสราเอลก็เป็นทะเลทรายเอามาใช้ก็ใช้กับโรงเรือนได้ ข้างนอกใช้ไม่ได้สหรัฐอเมริกา ยุโรป ทำทีละ5-6 พันไร่ ใช้คน3-4 คนใช้เครื่องบิน บินช่วยในการจัดการแปลงผลิต ซึ่งบ้านเราทำไม่ได้! บ้านเราเป็นเกษตรแปลงเล็ก เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้วิธีการ “เกษตรแปลงเล็ก” ของญี่ปุ่นของไต้หวัน เรียนรู้แล้วเอากลับมาพัฒนาได้ ซึ่งจากการที่ญี่ปุ่นเองประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานเกษตร แต่ว่ากฎหมายก็ไม่อนุญาตให้แรงงานไร้ฝีมือเข้าประเทศ แรงงานไร้ฝีมือ คือ แรงงานที่มีคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี (ถ้าต่ำกว่าปริญญาตรีญี่ปุ่นไม่ออกวีซ่าทำงานให้) โดยญี่ปุ่นมีการตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาแทนเรียกว่า กฎหมายฝึกงานทางเทคนิค(หรือจิชูเซ ที่แปลว่า การฝึกงาน) ซึ่งโครงการนี้ถูกต้องตามกฎหมายของไทยถูกต้องตามกฎหมายญี่ปุ่น พอรับสมัครแล้วเด็กต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อน 3-6 เดือน จากนั้นจึงเดินทางเพื่อไปทำงาน(ฝึกงาน) อยู่ที่ญี่ปุ่น 3 ปี

ได้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการเกษตรจากญี่ปุ่น
“เด็กไปอยู่ญี่ปุ่น 3 ปีได้อะไร? อาจารย์บอกว่าสิ่งที่เขาจะได้คือ ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ความรู้ในการบริหารจัดการเกษตรของเขาว่า ญี่ปุ่นเขาทำเกษตรยังไง อาจารย์ให้การบ้านเด็ก ๆ ทุกคนก่อนไปว่า อยากให้เขาไปหาคำตอบว่าทำไมเกษตรกรญี่ปุ่นรวย! ทำไมเกษตรกรไทยจน ไปหาคำตอบมา ถ้าเขาได้คำตอบนี้กลับมา เปลี่ยนแล้วครับ! ถ้าเรารู้ว่าเหตุผลใดทำให้เราจน เราจะไม่จนครับ ข้อที่ 2 เด็กจะได้ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตต่างประเทศ ความขยัน ความอดทน ระเบียบ วินัย รักษาเวลา รักษาคำพูด กล้าแสดงออก ทุกอย่างเด็กจะได้จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างประเทศ พูดง่าย ๆ ก็คือวิชาเอาตัวรอด ข้อที่ 3 คือภาษาญี่ปุ่น เด็กไปอยู่ 3 ปี ก่อนไปเราก็สอนอยู่แล้ว 3 เดือน 6 เดือน พอพูดได้แล้วครับ พอไปอยู่อีก 3 ปีถ้าเด็กขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ กล้าแสดงออก กล้าพูด จะได้ภาษาญี่ปุ่นกลับมา ข้อที่ 4 ได้เครือข่าย ได้พ่อได้แม่ได้พี่ได้เพื่อน ที่เป็นชาวญี่ปุ่นทำเกษตรซึ่งอยู่ในสาขาวิชาชีพเดียวกัน ข้อที่ 5 จะได้เงินกลับมา เราตั้งเป้าเด็ก(เป็นแค่เป้า) บางคนทำได้บางคนก็ทำไม่ได้ เราตั้งเป้าลูก ๆ เราทุกคนให้ถือ “เงินล้าน”! กลับบ้านทุกคน และข้อที่ 6 เติมมาคือ เด็กสามารถลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เมืองไทยได้ อย่างเช่นสุโขทัยธรรมาธิราช เพราะฉะนั้นเด็กจะได้6 อย่าง”




รศ.ดร.สมชาย บอกด้วยว่า สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มักสอนเด็ก ๆ ให้คิดก่อนจะไปญี่ปุ่นคือ “ความฝัน” ที่เขาตั้งเป้าหมายเอาไว้ การไปญี่ปุ่น3 ปีไม่ใช่ที่สุดของความฝันของเขา เป็นแค่การไปเอาจุดเริ่มต้นมาทำที่เมืองไทย ไปเพื่อไปเอาเงินทุนก้อนหนึ่ง ไปเอาความรู้มา ไปเอาประสบการณ์มา แล้วเอามาวางบนแผ่นดินไทย แล้วสร้างบนแผ่นดินไทยในสิ่งที่เขามีฝัน

การปลูกพืชญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญเรื่องดินเป็นอย่างมาก




“วันนี้เด็ก ๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมายเลยครับกลับมา อาจารย์ถามหลาย ๆ คนว่าเด็กจบ ปวส. อายุ21 ปีถึงอายุ 24-25 ถ้าเขาอยู่เมืองไทยแล้วเขาได้อะไรบ้าง ประเทศชาติได้อะไรบ้าง ครอบครัวเขาได้อะไรบ้าง คำตอบคือแทบจะไม่ได้อะไรเลยครับ อย่างมากก็แค่ทำงานไปเดือนชนเดือน ๆ ไป ถ้าเด็กจบ ปวส. มาเขามีฝันอยากเป็นเจ้าของฟาร์ม คิดว่าเขาจะทำได้หรือครับ อายุ25-30 อายุ40-50 ยังแทบจะไม่รอดเลย ยังขอเงินพ่อแม่อยู่เลย แต่ของเราเด็กไป 3 ปีอายุยี่สิบกว่า ๆ กลับมา 25-26 เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองครับ มาทำฟาร์มหลายคนเป็นเจ้าของฟาร์มโคเนื้อ เจ้าของฟาร์มสุกร เป็นเจ้าของสวน หลายคนมาเลี้ยงแพะ เด็กพวกนี้ก็กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ๆ ที่อยู่ในระดับรากหญ้า แล้วเขาก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ของเขา ในวันที่เขากลับมาแล้วมาลงทุนทำธุรกิจในเมืองไทย”



สอบถามเพิ่มเติมโทร. 061-534-4315



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น