(เมื่อเร็วๆ นี้) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) ร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อการค้าอย่างยั่งยืน โดยมี น.สพ.สนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นประธาน พร้อมทั้ง นายอัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม สวทช. และ นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า เป็นผู้ลงนาม
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ “แก้มลิง++” ของ อคส. จะเร่งเพิ่มจำนวนสาขาของคลังสินค้า อคส. ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนายกระดับให้สอดรับกับนโยบายของรัฐและกระทรวงพาณิชย์เรื่อง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ทั้งนี้ การได้ สวทช.เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะสามารถยกระดับผลผลิตต้นน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้กรอบร่วมมืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเครื่องคัดแยก ชนิด ประเภท ขนาด น้ำหนัก ของปลา, เครื่องมือลำเลียงปลาทูน่าหน้าท่าเทียบเรือ, โครงการสร้างโรงสี โรงอบ โรงแป้ง อัจฉริยะ, เครื่องคัดแยกเหง้ามันสำปะหลัง เป็นต้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้ร่วมกับโครงการในการต่อยอดและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ที่ทาง อคส.ต้องการ
นายอัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม กล่าวว่า ภาคการเกษตรเป็นรากฐานการผลิตที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ สวทช. ได้วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้เกษตรกรไทย ซึ่งปัจจุบันทาง DECC มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารผ่านงานวิจัย เช่น การพัฒนาโรงเรือนพฤษาสบาย, การพัฒนารถเข็นรักษ์โลก, การพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์ด้านเกษตรและอาหาร เช่น เครื่องปอกและหั่นมะม่วงอัตโนมัติ, เครื่องปิ้งหมูอัตโนมัติ, เครื่องลดอุณหภูมิและบรรจุวุ้นแปรรูป เป็นต้น
นอกจากนี้ ในพิธีลงนามยังได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มมูลค่า แปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ โดย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และประธานคณะทำงาน BCG Model ด้านเกษตรอาหาร เช่น การใช้เชื้อในการผลิตต้นเชื้ออาหารหมักสัตว์ กระบวนการผลิตนํ้าส้มสายชูหมักจากผลไม้ในขั้นตอนเดียวและสูตรจุลินทรีย์สำหรับการผลิตนํ้าส้มสายชูหมัก การผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาวเพื่อการประยุกต์ใช้ในอาหารและอาหารสัตว์ เป็นต้น
การลงนามในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการผนึกกำลังและใช้จุดแข็งของทั้งสององค์กร ทั้งความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยของ สวทช. หรือ ความเข้าใจความต้องการตลาดและแผนกลยุทธ์ ขององค์การคลังสินค้า ไม่เพียงแต่จะสามารถตอบโจทย์ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และนโยบายภาครัฐ แต่ยังตอบโจทย์ BCG Economy Model โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีรายได้สูง เพื่อพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึงและยั่งยืน