xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมอาหารปลอดภัยจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อผู้ประกอบการไทย เพิ่มโอกาสการส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อพูดถึง “เทคโนโลยีนิวเคลียร์” และต่อด้วย “อาหารฉายรังสี” เชื่อว่าอาจยังมีหลาย ๆ คนรู้สึกใจคอไม่ค่อยดีนัก แต่หลังจากมาฟังข้อมูลตรงนี้ให้เคลียร์ ๆ ไม่แน่ว่าอาจคือ “โอกาส” ที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล!!

แหนมฉายรังสีที่ประสบความสำเร็จด้านการตลาดเป็นอย่างมาก
ความเข้าใจที่ยังมีอยู่ เมื่อได้ยินคำว่า “ฉายรังสี” ก็มักจะนึกไปถึงวิธีการรักษาโรคร้ายหรือนึกถึงเรื่องอันตรายจากการรั่วไหลปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะตั้งข้อสงสัยและกังวลกับการรับประทานอาหารฉายรังสี

“เวลาเราทานแล้วเราท้องเสีย อาหารที่มาจากการแปรรูปเพื่อถนอมอาหารตามภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเช่น ของหมักดองต่าง ๆ ปูนา ปูเค็ม ปูไข่ดอง หอยดอง ฯลฯ หรือของแห้งในลักษณะการตากแห้งแบบแดดเดียว และยังรวมไปถึงของสดอย่างเช่นอาหารทะเล บางทีก็อาจจะมีเชื้อที่ปะปนมาในวัตถุดิบและเชื้ออีกส่วนหนึ่งก็อาจจมาจากกระบวนการผลิตด้วย ในส่วนของ “การฉายรังสี” ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เป็นกระบวนการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายซึ่งระบุไว้ว่า สามารถฉายรังสีได้เพื่อวัตถุประสงค์6 วัตถุประสงค์ที่เป็นเรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน ยกตัวอย่างในส่วนของ “ปูเค็ม” กับ “ปูไข่ดอง” ก็จะเป็นในเรื่องของการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค และก็ปรสิตหรือพยาธิด้วย ในการฉายรังสีอาหารก็เพื่อให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์อยู่ภายใต้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้”

ดร.กนกพร บุญศิริชัย ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ต้องนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในส่วนของ “การฉายรังสี” เข้ามาช่วยจัดการอาหารเพื่อสร้างมาตรฐานการบริโภคปลอดภัยที่สากลให้การยอมรับ

ผลิตภัณฑ์ปูเค็มและปูไข่ดองแบรนด์ฉัยรัยที่ผ่านการฉายรังสี จนสามารถส่งออกไปออสเตรเลียได้แล้ว
อาหารฉายรังสี (Irradiated Food) คืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีการฉายรังสี ซึ่งวัตถุประสงค์ในการนำอาหารไปฉายรังสีมี 6 ข้อคือ 1. ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา ในพืชประเภท หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม มันฝรั่ง ขิง เมื่อเกิดการงอกระหว่างการเก็บจะทำให้สูญเสียน้ำหนัก ฝ่อ สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ กลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป การฉายรังสีด้วยปริมาณที่เหมาะสมและเก็บในที่เย็น จะช่วยชะลอการงอกได้ เช่น มันฝรั่ง ถ้าเกิดการงอกจะมีน้ำตาลรีดิวซ์ (reducing sugar) ทำให้เมื่อนำไปทำเป็นมันฝรั่งทอดจะไหม้เป็นจุดสีดำ หรือหอมหัวใหญ่ โดยปกติจะเก็บได้นาน3 เดือนจะเริ่มงอก แต่เมื่อผ่านการฉายรังสีจะสามารถยับยั้งการงอกได้นาน 5-6 เดือนผลิตผลที่จะนำมาฉายรังสีต้องมีคุณภาพดี บรรจุในภาชนะที่โปร่งแสงและมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 2 สัปดาห์ –1 เดือน 2. ชะลอการสุกของผักและผลไม้ เช่นการฉายรังสีกล้วยหอมทองสามารถชะลอการสุกออกไปได้ 3-5 วัน หรือการฉายรังสีเห็ดฟางและนำไปเก็บที่อุณหภูมิ 17 องศาเซลเซียส สามารถชะลอการบานของเห็ดได้นาน 4 วัน 3. ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง โดยทำได้ 2 วิธีคือ การฉายรังสีแมลงวันทองให้เป็นหมันเพื่อควบคุมปริมาณแมลงวันทอง หรือการฉายรังสีอาหารเพื่อทำลายแมลง ไข่ หนอน และดักแด้ ในผลไม้เช่น ลำไย มังคุด เงาะสับปะรด ลิ้นจี่และแก้วมังกรซึ่งการการควบคุมการแพร่พันธุ์แมลงด้วยการฉายรังสีนี้ทำให้ไทยสามารถส่งผลไม้เหล่านี้ไปจำหน่ายยังประเทศที่มีมาตรการควบคุมการนำเข้าผักและผลไม้ที่เข้มงวดได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้ นอกจากนี้ยังสามารถจำกัดแมลงในผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง เช่น ปลาแห้ง หอมผง เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสชนิดผง เป็นต้น4. ลดปริมาณปรสิต การฉายรังสีสามารถกำจัดพยาธิในเนื้อสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำได้ เช่น พยาธิตัวกลมและพยาธิตืดหมู รังสีสามารถทำลายพยาธิและเชื้อก่อโรคโดยไม่ทำให้อุณหภูมิของเนื้อสัตว์เปลี่ยนแปลง เนื้อสัตว์ยังคงเป็นเนื้อดิบเหมือนเดิม แต่ปลอดพยาธิและปลอดภัย

ปูไข่ดองผ่านการฉายรังสีแล้ว ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่สามารถส่งออกได้
5. ยืดอายุการเก็บรักษา รังสีสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้เพราะรังสีจะไปกำจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย
เป็นเหมือนการพาสเจอร์ไรเซชั่น เมื่อใช้ร่วมกับการเก็บรักษาอาหารในห้องเย็น จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเลได้นานขึ้น2-3 เท่าเมื่อเทียบกับการไม่ฉายรังสี 6. ลดปริมาณจุลินทรีย์และกำจัดจุลินทรีย์ก่อเกิดโรค ในผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ทำให้สีรสเปลี่ยนแปลงและยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ เช่น แหนมฉายรังสีจะสามารถกำจัดเชื้อซาลโมเนลล่าและพยาธิได้ หรือนำไข่ไปฉายรังสีเพื่อกำจัดเชื้อซาลโมแนลล่า

ผลิตภัณฑ์จากโครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสี
รังสี เป็นพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เซลล์เกิดการแตกตัวเป็นไอออนและอนุมูลอิสระ เมื่อฉายรังสีไปในอาหารแล้วเซลล์หรือส่วนประกอบของเซลล์จะถูกทำลายโดยตรงด้วยรังสี และเมื่อรังสีทะลุผ่านอาหารรังสีจะถ่ายเทพลังงานไปยังน้ำที่เป็นองค์ประกอบของอาหาร น้ำเกิดเป็นอนุมูลอิสระขึ้นมา แล้วไปทำปฏิกิริยากับเซลล์ของจุลินทรีย์ ทำให้จุลินทรีย์ตาย

รังสีที่นำมาใช้ฉายอาหารได้นั้นมี 3 ชนิดได้แก่ 1.รังสีแกมม่า จากเครื่องฉายรังสีที่มีโคบอลต์-60 หรือ ซีเซียม-137 รังสีแกมม่ามีความสามารถในการทะลุทะลวงผ่านอาหารได้ดี เหมาะกับอาหารขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากเป็นการปล่อยรังสีตลอดเวลาจึงเหมาะกับการฉายรังสีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก 2. รังสีเอกซ์ จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ 3.รังสีอิเล็กตรอน จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนทำงานด้วยระดับพลังงานต่ำกว่าหรือเท่ากับ
10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ ซึ่งรังสีเอกซ์นั้นมีความสามารถในการทะลุทะลวงต่ำ จึงไม่เหมาะกับอาหารที่มีความหนามาก แต่สามารถเปิดปิดเครื่องได้ตามต้องการจึงเหมาะกับการฉายรังสีอาหารปริมาณไม่มาก

ปริมาณรังสีที่ใช้ในการฉายรังสีในอาหารเรียกว่า “ปริมาณรังสีดูดกลืน” (Absorbed Dose) คือปริมาณพลังงานที่อาหารดูดกลืนไว้ต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์อาหารฉายรังสี มีหน่วยเป็นเกรย์ (Gray) ปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตสำหรับฉายรังสีอาหารตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้ 1. ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา 1 กิโลเกรย์ 2. ชะลอการสุก 2 กิโลเกรย์ 3. ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง 3 กิโลเกรย์ 4. ลดปริมาณปรสิต 4 กิโลเกรย์ 5. ยืดอายุการเก็บรักษา 7 กิโลเกรย์ 6. ลดปริมาณจุลินทรีย์และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค 10 กิโลเกรย์


FDA (Food and Drug Administration) WHO (World Health Organization) และ IAEA (International Atomic Energy
Agency) ได้สรุปผลการทดสอบความปลอดภัยของอาหารฉายรังสี ในปี2523 ว่า อาหารใด ๆ ก็ตาม ที่ผ่านการฉายรังสีในปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ไม่ก่อให้เกิดโทษอันตราย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาพิเศษทางโภชนาการและจุลชีววิทยา และไม่จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัยอีกต่อไป

การติดฉลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อแสดงสัญลักษณ์บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นอาหารฉายรังสี
ถ่ายทอดนวัตกรรม “อาหารฉายรังสี” โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เปิดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เรื่องเทคนิคการฉายรังสี ผ่านโครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสี ซึ่งเป็นการประกวดในลักษณะ Pitching ไอเดีย เปิดโอกาสให้ระดับปริญญาตรี และประชาชนทั่วไป ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อการนำเสนอผลงานจากไอเดียได้ และโครงการอาหารพื้นถิ่น ซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องของ “ผู้ประกอบการ” ที่มีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว เปิดโอกาสให้นำเสนอปัญหาและต้องการพัฒนาโดยใช้ “การฉายรังสี” เพื่อตอบโจทย์ของเขาอย่างไรได้บ้าง ซึ่งพบว่ามีผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจุบันสามารถทำการส่งออกได้สำเร็จแล้ว

เวทีเสวนา การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทศวรรษหน้า โอกาสครบรอบ 16 ปีสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การฉายรังสีเป็นหนึ่งในหลายเทคโนโลยีที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยและสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทย

สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2401-9889 ต่อ 6101-5

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น