สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับ GPSC ผสานงานวิจัยด้านนวัตกรรมพลังงาน และเทคโนโลยี IoT พัฒนา "การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ภายใต้โครงการ "ผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” หวังยกระดับและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ตามโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน นำร่องด้วยโครงการ GPSC Smart Farming โดยพัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะใน 2 ชุมชนคือ บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และ บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ขับเคลื่อนเกษตรวิถีใหม่ด้วยนวัตกรรม พร้อมเตรียมขยายผลสู่ชุมชนเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การลงนาม (MOU) บันทึกข้อตกลงด้านการดำเนินงาน “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน”ระหว่าง สวทช. และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่จะมาร่วมสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยของ สวทช.ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อน โดยมีโครงการ GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ) เป็นโครงการนำร่อง 2 ชุมชน ในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน และมีเป้าหมายการดำเนินงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี (ต.ค.64 - ต.ค.67)
สวทช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรามีบทบาทหลักในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยบูรณาการองค์ความรู้ครอบคลุม 4 สาขาเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ สาขาพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเทคโนโลยีโลหะและวัสดุ สาขาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์ และสาขานาโนเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจแบบองค์รวม ซึ่งมีมติอย่างเป็นทางการจาก ครม. กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจุบัน สวทช. มีบทบาทในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG ที่พัฒนาบนพื้นฐานของความเข้มแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดโอกาสการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันสามารถรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้อย่างสมดุล ซึ่งความร่วมมือกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่จะนำนวัตกรรมไปถึงมือผู้ใช้ ช่วยชุมชน โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน” ดร.ณรงค์กล่าว
“โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” ระหว่าง บริษัทโกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และ สวทช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในกลุ่มเทคโนโลยีด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การแพทย์และสาธารณสุข ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนเป้าหมายของโครงการฯ ทั่วประเทศ ซึ่งดร.ณรงค์ชี้ว่า สวทช. พร้อมที่จะนำเอาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์วิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 30 ปี บูรณาการให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และขยายผลไปสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
“ความร่วมมือครั้งนี้ เราก็จะนำเทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ รวมถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. มาผนึกกำลังให้โครงการ GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ) ที่ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมของ สวทช. อาทิ IoT ในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ, นวัตกรรมฟิล์มคลุมโรงเรือน MultiTech และ MultiTech-Ultra, ถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวนเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร, เมล็ดพันธุ์ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน, ปุ๋ยนาโนคีเลต, แอพพลิเคชั่นวัดความสุกของทุเรียน รวมถึงเครื่องย่อยสลายขยะอินทรีย์นาโน สำหรับผลิตสารคาร์บอน และสารปรับปรุงดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนชุมชนและประเทศอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพและยั่งยืนด้วย วทน.” ดร.ณรงค์ กล่าว
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. กล่าวว่า กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการนำผลงานวิจัย นวัตกรรม และนาโนเทคโนโลยีของ สวทช. ไปประยุกต์ใช้ในงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และที่ขาดแคลนด้านสาธารณูโภค รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพภายในชุมชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาและต่อยอดการผลิตเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งสวทช. มีโครงการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ขณะที่ GPSC พร้อมเข้าไปสนับสนุนขยายผลงานวิจัย ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในชุมชนที่ GPSC เข้าไปสนับสนุน รวมทั้งจัดหาทรัพยากรด้านต่างๆ ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในชุมชนเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป หลังจากที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้กับชุมชนนำร่อง 2 แห่งแรกนี้
สำหรับการพัฒนาโครงการนำร่อง GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ) ได้มีการนำแพลตฟอร์มนวัตกรรมนาโนเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาใน 2 ชุมชน โดยชุมชนนำร่องแรกได้แก่ พื้นที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ที่ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ 1.1 การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มุ่งเน้นการจัดอบรมให้ความรู้และประโยชน์ของการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดจนพันธุ์พืชที่เหมาะสมการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล (Training & Workshop) และ 1.2 ระบบเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือน โดยพัฒนาระบบอัจฉริยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ติดตั้งระบบและทดสอบการใช้งาน ประกอบด้วย การติดตั้งพลังงานหมุนเวียน (RE) การปลูกพืชด้วยแสง LED ระบบการให้น้ำอัจฉริยะ และระบบเซนเซอร์สำหรับการติดตามสภาพแวดล้อม
ในส่วนของชุมชนนำร่องที่ 2 ได้แก่ พื้นที่บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จังหวัดระยอง ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 2.1 ‘Magik Growth’ นวัตกรรมถุงห่อทุเรียนแทนการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และช่วยทำให้เปลือกบาง-เนื้อหนาขึ้น เป็นการช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยจากงานวิจัยพบว่าทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growth จะมีเปลือกบางลง 30% ทำให้น้ำหนักรวมของผลทุเรียนเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่เนื้อจะแน่นขึ้นและมีสีเหลืองขึ้น และ 2.2 Application ตรวจวัดความสุกของทุเรียน พัฒนาจากการตรวจวัดด้วยคลื่นเสียง แสดงผลใน Application บนมือถือ เพื่อแสดงระดับความสุกของทุเรียนแต่ละลูก ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้นเนื่องจากทุเรียนมีความสุกพอดี
“Smart Farming จะสอดรับกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดโควิด 19 ซึ่งมีแรงงานที่มีความรู้กลับไปอยู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก เพื่อไปพัฒนาการเกษตรโดยนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาต่อยอดสู่ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต โดยการยกระดับปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ 1.ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 2.เพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า 3.ลดความเสี่ยงในเรื่องการระบาดของศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ และ 4. ถ่ายทอดองค์ความรู้โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาโดยใช้พลังงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และมาตรฐานที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืนในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดย GPSC สนับสนุนการจัดหาทรัพยากรทั้งอุปกรณ์ บุคลากร และสวทช. พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งาน” นายวรวัฒน์กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC ย้ำว่า GPSC มุ่งมั่นดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าการที่ธุรกิจจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น ชุมชนและสังคมจะต้องเติบโตไปพร้อมกัน ประกอบกับให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมไทย ดังนั้นโครงการ GPSC Smart Farming ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมพลังงานเพื่อชุมชนและระบบ IoT มาประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตร ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน บูรณาการในรูปแบบพลังงานหมุนเวียน ล้วนแล้วแต่เป็นพลังงานสะอาดที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำเกษตรกรรม และช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อีกทั้งยังส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับชุมชน จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ของ GPSC เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลก และแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ของไทยที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน