เมื่อกำไรคือ “โอกาส” การเปลี่ยนความเชื่อว่าคนพิการสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่แพ้คนปกติทั่วไป มีงานอาชีพทำเลี้ยงดูตัวเองได้ไม่เป็นภาระและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะการได้รับโอกาสซึ่งทำให้เขาค้นพบศักยภาพแท้จริงที่มีอยู่
ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน กล่าวว่า การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับผู้อื่น คือ หัวใจสำคัญ เราต้องพยายามบอกคนพิการว่าเราต้องรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ เพราะว่าต้องให้เห็นว่าเราทำได้เหมือนคนอื่น จะได้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่น สามารถอยู่กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างคนทั่วไป เราต้องเชื่อว่าคนพิการทำได้ทุกอย่าง และต้องหาเรื่องท้าทายทำ อันนี้สำคัญ เพราะถ้าเราเชื่อว่าทำได้เราจะทุ่มเททำ และมองของที่มันยุ่งยากท้าทายขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ แต่ปลูกฝังความเชื่ออย่างเดียวมันไม่ได้ มันต้องให้ลงมือทำด้วย พอเราเชื่อว่าทำได้ ลงมือทำ เอ๊ะทำได้นี่! ทำอันนี้ก็ทำได้ จากตอนแรกเชื่อว่ามันจะทำได้จริงหรือ แต่พอฝึกมา ก็ทำได้ ทีนี้พอทำได้แล้วเราก็บอกคุณลองฝึกขายดู เพราะเขาอาจจะยังไม่มั่นใจที่จะไปขายเอง ก็ให้ขายอยู่กับเราก่อน ทำไปทำมาก็ทำได้ เพราะฉะนั้นหลายคนบอกถ้าอย่างนั้นผมไปขายข้างนอกประกอบอาชีพเอง
“ยิ้มสู้คาเฟ่” ร้านกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด
“ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ก็เปิดตั้งแต่ปี 2558 ตอนปลายปี ตอนนั้นก็ทดสอบเปิดร้านเล็กๆ เป็นเหมือนกับเป็นตู้อยู่อีกตึกหนึ่งค่ะ แต่พออีกปีถัดไปก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ค่ะ ประมาณปีกว่า และจนมาถึงในปัจจุบัน” ซึ่งหมายถึงร้านยิ้มสู้คาเฟ่ สาขาอรุณอัมรินทร์ 39 อันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิฯ ด้วย นางมณี นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เล่าให้ฟังอีกว่า การคัดเลือกพนักงานของร้านโดยหลักของที่นี่จะเป็น คนพิการทางหู แต่ว่าจริงๆ แล้วคนพิการประเภทอื่นก็ได้ ที่สามารถทำงานได้คล่อง หรือถ้าคนแขนพิการ(ขาด) เหลือแค่ข้อมือก็ได้ ซึ่งมีตัวอย่างที่สาขาแม่ริมก็สามารถชงได้ คือไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเฉพาะทางหู แต่พอดีทางหูสมัครเข้ามากันเยอะ ซึ่งก็จะต้องดูว่าเขามีจิตใจในการให้บริการที่ดีแค่ไหน บางคนบอกว่าเขาไม่สามารถยิ้มได้ คนหูหนวกบางคนเขาบอกว่าเขาพิการทางใบหน้า ก็ไม่เป็นไร ถ้าคุณยิ้มด้วยตาหรืออาการแบบที่แสดงออกทางกาย มันก็สามารถทำให้คนรับรู้ได้ อย่างเช่น กระตือรือร้นที่จะบริการเขาก็รับรู้ได้
ผ่านหลักสูตรการอบรม ก่อนลงพื้นที่ขายจริง
ก่อนที่จะลงพื้นที่ขายจริง บาริสต้าของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ต้องผ่านหลักสูตรการอบรมอย่างเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ ใช้เวลาในการฝึกกว่า1 เดือนเป็นต้นไป ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะมีล่ามของคนหูหนวกเข้ามาช่วยสอนด้วย จนสามารถสอบผ่านทั้งข้อเขียนและภาคปฏิบัติดีแล้ว แต่ว่าในช่วงการลงร้านหรือประจำเคาน์เตอร์ในพื้นที่ขายใหม่ๆ ก็ยังจะต้องมีการสุ่ม เพื่อทดสอบความแม่นยำในเรื่องของกาแฟอยู่เรื่อยๆ ด้วย และทุกเช้าสิ่งที่บาริสต้าของร้านจะต้องทำเสมอ ก่อนพร้อมเปิดให้บริการแก่ลูกค้าก็คือ การเทสต์รสชาติของกาแฟแก้วแรกก่อนเสิร์ฟทั้งแบบร้อนและเย็น เพื่อให้แน่ใจว่ารสชาติที่ได้เป็นไปตามสูตรของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ที่ให้ไว้ครบถ้วนดีแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้นกาแฟของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ทุกสาขาจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
ใช้วัตถุดิบ “กาแฟอินทรีย์” จำหน่ายราคาคนทั่วไปเข้าถึงได้
ความตั้งใจอีกอย่างของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ด้วยก็คือว่า อยากจะให้คนดื่มกาแฟได้มีสุขภาพที่ดี การเลือกใช้วัตถุดิบเป็น “กาแฟออร์แกนิค” หรือการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ที่มีความปลอดภัยจากสารเคมี จึงถือว่าค่อนข้างมีความสำคัญ โดยก่อนหน้านี้เลือกซื้อวัตถุดิบมาจากแหล่งปลูกที่ อ.จอมทอง และถือเป็นแหล่งให้ความรู้เริ่มต้นเกี่ยวกับการทำกาแฟที่ได้ไปเรียนรู้สูตรต่างๆ ในการทำมาด้วย จนกระทั่งตอนหลังพอได้ทราบว่ามีแหล่งกาแฟออร์แกนิคซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการฯ ที่ อ.เชียงดาว และเพื่อช่วยสนับสนุนอาชีพคนพิการที่ปลูกกาแฟด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบจากเชียงดาวแทน ซึ่งมีคุณภาพทางด้านรสชาติที่ดีไม่แตกต่างกันเลย โดยเมื่อนำมาแปรรูปสู่เมนูของร้านยิ้มสู้คาเฟ่จะมีราคาเริ่มต้นที่กำหนดไว้ คือ 45 บาท ต่อ 1 แก้ว ซึ่งถือว่าไม่แพงเลยหากเทียบกับร้านอื่นๆ เป็นกาแฟออร์แกนิคซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่สูงกว่านี้มาก นอกจากนี้ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ยังเน้นใช้แต่กาแฟ “อาราบิก้า” เป็นหลักในสูตรการชง ทั้งไม่ว่าเมนูร้อนและเย็น จะไม่มีการผสมกาแฟโรบัสต้าเลย ถึงแม้ว่าทำให้มีต้นทุนสูงกว่าก็ตาม
มอบโอกาส สร้างอาชีพ
ปัจจุบันร้านยิ้มสู้คาเฟ่มีทั้งหมด 5 สาขา แห่งแรก คือ อรุณอัมรินทร์(ซอย39), พระจอมเกล้าฯ พระนครเหนือ, ซิงเสียนเยอะเป้า และต่างจังหวัดคือ จ.เชียงใหม่ จะมีอยู่ที่ อ.แม่ริม และ อ.เชียงดาว ซึ่งมีบรรยากาศที่แตกต่างกัน โดยทางเหนือจะบรรยากาศแบบอบอุ่น ลูกค้ามาดื่มกาแฟก็สามารถซื้อผักปลอดสารพิษที่ปลูกในโรงเรือนเพื่อนำกลับบ้านได้ และมีก๋วยเตี๋ยวเรือยิ้มสู้ด้วย ที่เชียงดาวก็จะเป็นบรรยากาศแบบopen air จะเห็นดอยนางวิวสวย เนื้อที่กว้าง30 ไร่ ทั้งนี้ แต่ละที่จะมีซิกเนเจอร์แตกต่างกัน อย่างซิงเสียนเยอะเป้าก็จะเป็นกาแฟที่มีส่วนผสมของ “มะพร้าว” เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน หรือถ้าสาขาอื่นๆ ในกรุงเทพฯ จะมี “กาแฟส้ม” ซึ่งลูกค้าก็ชอบมาก
สำหรับการจ้างงานคนพิการของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ทั้ง 5 สาขา ก็มีคนพิการจำนวน 15 คน และกลุ่มผู้เปราะบางอีกประมาณ 10 คน ก็คือเช่น ผู้สูงอายุและไม่มีงานทำ หรือยากจน ก็จะดึงเข้ามาช่วยงานทั้งหมดมีประมาณ 25 คน โดยจะได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่มีบริษัทต่างๆ เป็นผู้สนับสนุนการจ้างงาน ตามที่กฎหมายกำหนดให้เกิดการจ้างงานแก่ผู้พิการสำหรับการประกอบธุรกิจแต่ละประเภท และบางส่วนทางมูลนิธิฯ เองก็ได้ช่วยสมทบเพิ่ม พร้อมทั้งมีสวัสดิการอื่นๆ ให้อีก เช่น สามารถดื่มเครื่องดื่มในร้านได้ฟรี และมีอาหารเลี้ยงในช่วงการทำงานที่ร้านอีกด้วย ซึ่งก็พบว่าทุกคนดูมีความสุขและตั้งใจทำงานกันดีมาก
เพราะเขารู้สึกว่าสามารถทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้จริง
มาอุดหนุน = ช่วยสนับสนุน
การให้บริการของร้านยิ้มสู้คาเฟ่นอกจากจะมี เครื่องดื่มที่เป็นกาแฟ ชา และอิตาเลียนโซดา ต่างๆ แล้ว ก็ยังมีพวกขนมปัง ช่วงเช้าก็สามารถรับประทานขนมปัง เบเกอรี คุกกี้ ที่คนพิการผลิตเองจากครัวเบเกอรี่ของร้าน ช่วงกลางวันก็มีก๋วยเตี๋ยวเรือยิ้มสู้ ที่ปราศจากผงชูรสด้วย ที่รับรองว่าดีต่อสุขภาพแน่นอน และยังมีอาหารตามสั่งด้วยหลากหลายเมนู หรือ “ข้าวหน้าไก่” ของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ที่สามารถแข่งกับมิชลินสตาร์ได้เลย ของร้านเองก็อร่อยไม่แพ้ต้องมาลองชิมดู และก็นอกจากนี้ยังมี “สินค้า” ของคนพิการที่นำมาจัดแสดงเพื่อการจำหน่ายอยู่ภายในร้านด้วย ลูกค้าที่มาดื่มกาแฟหรือทานอาหารแล้วสามารถช้อปสินค้าต่างๆ ดังกล่าวเพื่อนำไปกลับไปด้วยได้ เป็นการช่วยสนับสนุนอาชีพของคนพิการได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ การมาใช้บริการของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ซึ่งก็ได้มีการออกแบบเพื่อ รองรับผู้มาใช้บริการได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องการเดินต้องใช้วีลแชร์ก็มีทางลาดเพื่อให้บริการด้วย ในการเข้าร้านหรือว่าจะเข้าห้องน้ำก็มีความสะดวกในการใช้พื้นที่ทางลาดให้ รวมทั้งยังสามารถเข้าชมภาพวาดด้วยปากที่หอศิลป์ยิ้มสู้ รวบรวมผลงานภาพวาดจากศิลปินซึ่งเป็นผู้พิการเพื่อจัดแสดงเอาไว้มากมาย ก็มีลิฟท์สำหรับอำนวยความสะดวกเพื่อขึ้นไปชมผลงานได้อีกด้วย หรือคนหูหนวกที่เข้ามาใช้บริการก็มี ตู้คีออส(สีฟ้า) เป็นล่ามภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อช่วยให้คนหูหนวกคุยกับคนหูดีได้ ซึ่งที่นี่ยังเป็นศูนย์บริการล่ามภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่เปิดให้บริการ24 ชั่วโมง เป็นแห่งเดียวในเอเชียด้วย
สำหรับเป้าหมายต่อไป “ตอนนี้เรากำลังฝึกคนหูหนวกในการทำขนมปัง แล้วเราก็อยากทำอาหารที่เป็นอาหารเซ็ต เป็นอาหารสำหรับการจัดเบรกการประชุม ซึ่งเราได้เกริ่นกับอาจารย์ที่คณะของ ม.พระจอมเกล้า พระนครเหนือ ก็ได้รับการตอบรับมาว่าดีๆ
อยากจะสนับสนุนด้วย เราก็อยากที่จะทำส่งที่อื่นๆ ด้วย จะได้มีรายได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่มีกำไรเลย แต่ที่เราทำเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนพิการ ได้มีอาชีพใหม่ๆ ถ้าเขาได้ฝึกเอาไปจากที่นี่ อย่างน้อยเขาออกไปเขาก็ยังมีอาชีพติดตัว
ไปทำที่ร้านอื่นได้ หรือว่าไปเปิดทำเองได้ด้วย ก็มีคนหูหนวกหลายคนก็ไปเปิด หรือออทิสติกหลายคนก็ไปเปิดร้านเอง
เราก็ดีใจที่เขาประสบความสำเร็จค่ะ” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวในที่สุด
ชื่อ “ยิ้มสู้” ทั้งนี้เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเมตตาคนตาบอดและทรงพระราชนิพนธ์เพลงยิ้มสู้เพื่อให้กำลังใจกับคนตาบอด ได้ต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ด้วยการยิ้มสู้ ทำให้คนตาบอดมีกำลังใจยิ้มสู้กับปัญหาต่างๆ จนประสบความสำเร็จในชีวิตกันเป็นจำนวนมากรวมทั้งตัวผมด้วย เพลงยิ้มสู้ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ.2495 ช่วงระยะเวลานั้นสังคมไทยไม่เชื่อว่าคนตาบอด เรียนหนังสือได้ ประกอบอาชีพได้ ทำได้แต่ขอทาน มีแต่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม
ความตอนหนึ่งในบทนำของหนังสือ “ยิ้มสู้” โดยศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ได้อธิบายถึงที่มาชื่อ “ยิ้มสู้” เอาไว้และต่อมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ธุรกิจของร้านกาแฟ ที่มีความตั้งใจทำเป็นศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อมอบ “โอกาส” ให้สำหรับคนพิการมีงานมีอาชีพทำเลี้ยงตัวเองได้ต่อไป เป็นธุรกิจที่ไม่หวังกำไร แต่ให้โอกาส จากการได้รับโอกาสมาเช่นเดียวกัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *