xs
xsm
sm
md
lg

“คลัสเตอร์โกโก้” การรวมตัวครั้งแรกของ ผปก. พืชเศรษฐกิจโกโก้จากทั่วประเทศในงาน “Thailand Coffee Fest 2021”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คลัสเตอร์โกโก้” ร่วมออกงาน “Thailand Coffee Fest 2021” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ เมืองทองธานี ครั้งแรกกับการรวมตัวของผู้ประกอบการพืชเศรษฐกิจโกโก้จากทั่วประเทศ ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผสานศักยภาพ ได้เปิดช่องทางการตลาด ในงานระดับประเทศ ฮือฮาสีสันในงาน ครั้งแรกกับการแข่งขัน “โกโก้บาริสต้า” พร้อมสร้างการรับรู้พืชเศรษฐกิจที่น่าจับตา ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หนุนเสริมเศรษฐกิจของประเทศต่อไป


นายวชิระ แก้วกอ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้แทนในการมอบรางวัลผู้ชนะเลิศ การประกวด Grand Cacao Championship 2021 เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการสนับสนุน และพัฒนาคลัสเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นถึงความสำคัญของการสร้างและการพัฒนาคลัสเตอร์ของผู้ประกอบการ SME ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยมีการสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และสามารถจัดจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ สอดรับกับนโยบายการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจสู่อนาคตในการสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป


ในช่วงที่ผ่านมา สสว. ได้รวบรวมเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วรวมตัวกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ โดยมีเครือข่ายที่รวมเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ หลากหลาย สำหรับ งาน Thailand Coffee Fest 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบว่าเป็นงานเกี่ยวกับกาแฟและร้านคาเฟ่ ซึ่งถือเป็นตลาดหนึ่งของโกโก้ เนื่องจากร้านกาแฟส่วนใหญ่จะมีการใช้โกโก้เป็นวัตถุดิบด้วย ดังนั้นกลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่จึงได้ต่อยอดทางการตลาดเข้ามาร่วมในงานนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ด้านความเข้มแข็งและยั่งยืนของกลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ ในการสืบสานและต่อยอดภายหลังจากที่ได้รับการพัฒนาแล้ว สืบเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา สสว.เห็นว่า โกโก้ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังใหม่มากสำหรับบ้านเรา เพราะเมื่อพูดถึงโก้โก้เรามักจะนึกถึงช็อกโกแลต แต่แท้จริงแล้วโกโก้เป็นมากกว่านั้น และน่าให้ความสนับสนุน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลายน้ำ หรือ ผู้ซื้อ ที่ต้องมีการส่งเสริมการตลาด


ทั้งนี้จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผลักดันโครงการส่งเสริมคลัสเตอร์นี้ขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือ ในการพัฒนาอบรมเชิงลึก ช่องทางการตลาด จนเกิดการประสานงานกับกลุ่มผู้ประกอบการด้านกาแฟ ผู้จัดงานในครั้งนี้ เพื่อนำโกโก้เข้าร่วมงานด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของกลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ในการออกงาน ทำให้เกิดการสร้างการรับรู้ที่ดีต่อผู้ประกอบการคลัสเตอร์ ทำให้มีการพัฒนา มีการเชื่อมโยง แม็ตชิ่งกับผู้ประกอบการอื่นๆ ทั้งในกลุ่มโก้โก้เอง และผู้ประกอบการกาแฟ ซึ่งต่างฝ่ายต่างดีใจ ที่ได้มาพบกัน ทำให้ได้เห็นแนวทางที่จะส่งเสริมกันและกัน


สำหรับการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ มีเสียงตอบรับที่ดีมาก ถือว่าเป็นงานที่ช่วยยกระดับคลัสเตอร์โกโก้ให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น และเมื่อกลุ่มนี้เติบโตมากขึ้น เราพร้อมจะช่วยต่อยอดโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปี 2565 นี้ สสว.จะมีโครงการพัฒนา BDS (Business Development Service) เป็นโปรเจ็กต์สำคัญที่จะเชื่อมต่อ ผลักดันผู้ประกอบการในการสร้างมาตรฐาน รวมไปถึงการได้เครื่องหมาย อ.ย. เพื่อเริ่มทำการตลาดในประเทศก่อน แล้วจึงส่งออกในต่างประเทศ ที่ต้องมีมาตรฐานในระดับโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายในการที่ยกระดับกลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ในวันข้างหน้า


โดยสิ่งที่สำคัญในครั้งนี้คือ การตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) ของคลัสเตอร์โกโก้ให้ชัดเจน โดยเราเห็นว่าควรมุ่งทำเป็นโฮมเมดที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อสามารถแข่งขันได้ ซึ่งในงานครั้งนี้เราได้เห็นว่าผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้ มีการออกแบบโลโก้ มีการสร้างแบรนด์ดิ้ง (Branding) ที่มีอัตลักษณ์ ซึ่งเราไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้ว่าโกโก้มีคุณประโยชน์อย่างไร มักเข้าใจผิด และกังวลว่า ดื่มโกโก้แล้วจะทำให้อ้วน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องสื่อสารออกไป เพื่อให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง


“คลัสเตอร์โกโก้จึงเป็นกลุ่มใหม่ที่ สสว.สนใจและได้ให้การสนับสนุน สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่ผ่านมาเรามี คอฟฟี่ เมเกอร์ (Coffee maker) มาแล้ว แต่เราจะไม่เคยมี โกโก้ เมเกอร์ (Coco maker) บาริสต้าด้านกาแฟ เราก็เห็นทั่วไป แต่บาริสต้าโก้ยังไม่เคยมี และเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในงานนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นสิ่งที่เราจะให้ความสนับสนุนต่อยอดต่อไป” นายวชิระกล่าว


ด้านนายประเสริฐ ไกนอก หนึ่งในผู้ประกอบการขนาดในกลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ จากวิสาหกิจชุมชนจาก ต.นางั่ว จ.เพชรบูรณ์ เผยว่า “รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันของกลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ ออกงานระดับประเทศ ทำให้ได้พบปะแลกเปลี่ยนมุมมอง และสนับสนุนส่งเสริมกันในการพัฒนาธุรกิจ รวมไปถึงได้รู้จักกับผู้ประกอบการร้านกาแฟ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะขยายช่องทางการตลาด ที่สำคัญการรวมตัวกันแบบนี้จะทำให้เกิดพลัง และมีอำนาจในการต่อรองทางการตลาดที่ดีได้ในอนาคต”


ขณะที่นางสาวทิพากร บวรเนาวนักษ์ หรือกะทิ ผู้ชนะเลิศการประกวดแข่งขันชงโกโก้ครั้งแรกของไทย (Grand Cacao Championship 2021) เล่าว่า “เดิมเคยทำงานประจำที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเจอพิษโควิด-19 เลยกลับภูมิลำเนา และมองหาช่องทางการประกอบอาชีพ และมีเพื่อนชวนทำธุรกิจโกโก้ และได้ลองดู ทำให้ได้ศึกษาเรื่องสายพันธ์ การดูแลรักษา ได้มีการพัฒนาตนเองต่อยอดความรู้เรื่อยมา จนธุรกิจไปได้ดี การได้ร่วมแข่งขันโกโก้บาริสต้าครั้งนี้ ซึ่งวัตถุดิบโกโก้ที่ใช้มาจากภาคเหนือ เป็นเมล็ดโกโก้จาก ต.นางั่ว จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนสำคัญของคุณประเสริฐ ไกนอก นักอนุรักษ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้รวมกลุ่มกันในต.นางั่วเป็นวิสาหกิจชุมชนโกโก้นางั่ว ให้ความรู้และส่งเสริมตั้งแต่การปลูกโกโก้จนไปถึงการแปรรูป เป็นโกโก้คุณภาพที่ใช้ในการประกวด จนได้รับรางวัลครั้งนี้ รางวัลนี้ถือเป็นหนึ่งกำลังใจ ที่จะพัฒนาธุรกิจตนเองให้เติบโต มั่นคง ยั่งยืนต่อไป”


จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของผู้สนใจทำธุรกิจพืชเศรษฐกิจที่เคยอยู่นอกสายตาคนไทย จนวันหนึ่งที่ สสว. และพันธมิตร ได้เชื่อมประสานสร้างเป็น “คลัสเตอร์โกโก้” ที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค พร้อมส่งเสริมสนับสนุนทำให้เกิดการผสานศักยภาพ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “คลัสเตอร์โกโก้” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคลัสเตอร์ที่ต้องจับตา ในการร่วมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หนุนเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไปในอนาคต

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *



กำลังโหลดความคิดเห็น