xs
xsm
sm
md
lg

“กินกับอี๋” เมนูอาหารพื้นบ้าน “อี๋” วัย 73 ปี เจ้าของรางวัลมิชลินไกด์ 2 ปีซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กินกับอี๋” ร้านอาหารเล็ก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ขายอาหารพื้นบ้านภาคใต้ การมากินอาหารที่ร้านนี้ ต้องบอกว่าระดับเชฟ ชื่อดัง คือ ลูกค้าจะต้องจองโต๊ะล่วงหน้าก่อนเท่านั้น ถึงจะได้กิน โดยร้านจะเปิดขายสัปดาห์ละ 3 วัน และที่ผ่านมา ลูกค้าจองคิวเต็มตลอดทุกสัปดาห์ การันตีโดย รางวัลบิบกูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ 2 ปีซ้อน

นางสาวทิพย์สุดา ขันชัยจตุวิทย์
จากเมนูพื้นบ้านภูเก็ต ถ่ายทอด“อี๋” วัย 73 ปี

วันนี้ พามารู้จักกับ ฝีมือการปรุงอาหารของ “อี๋ซิ้ม” “นางอังคณา แซ่ขู้” ในวัย 73 ปี ที่นำเมนูอาหารภาคใต้ภูเก็ต ที่ทำกินกันในครอบครัวมาทำขายให้กับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยว ได้ลิ้มลองรสชาติอาหารพื้นบ้านของภูเก็ต แบบดั้งเดิมโบราณเป็นอย่างไร ผ่านการบอกเล่า เจ้าของร้าน “ทับทิม” “นางสาวทิพย์สุดา ขันชัยจตุวิทย์” วัย 29 ปี การทำงานของคนสองวัย ที่ทำได้อย่างลงตัว ประสบการณ์การทำอาหารของอี๋ สั่งสมมากว่า 60 ปี บวกกับคนรุ่นใหม่ เก่งด้านเทคโนโลยี เป็นความลงตัวของสองวัย ในการสร้างกิจการเล็ก จนเติบโต สร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน

นางสาวทิพย์สุดา (ทับทิม) เล่าถึงที่มาของร้านกินกับอี๋ ว่า เกิดขึ้นมาจาก “ทับทิม” ต้องการจะหารายได้ช่วยครอบครัว อีกทางหนึ่ง หลังจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 “ทับทิม” ได้ลาออกจากงานมาช่วยดูแลกิจการโฮมสเตย์ที่บ้าน แต่ในช่วงหลังลูกค้าโฮมสเตย์มีไม่เยอะ ทำให้ได้ต้องเริ่มกลับมาคิดว่า แล้วจะทำอะไร และย้อนไปในวัยเด็ก จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ และ “อี๋ซิ้ม” ในวัย 73 ปี ไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว เขาก็จะทำหน้าที่คอยดูแลทำอาหารให้ทุกคนในบ้านกินมาตั้งแต่เด็ก เลี้ยงเราให้โตมาจนถึงทุกวันนี้ เวลาไปอยู่ที่ไหนทุกคนในบ้านก็จะนึกถึงฝีมือการทำอาหารของอี๋ และให้ที่บ้านช่วยส่งมาให้กินเสมอ

อี๋ซิ้ม “นางอังคณา แซ่ขู้”
ทั้งนี้ ตนเองเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราก็ลองเปิดร้านอาหารเล็กๆ รับลูกค้าไม่เกิน 30 คน ทำอาหารขายสัปดาห์ละ 3 วัน ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ และจะเปิดรับเฉพาะลูกค้าที่จองมาผ่านทางเพจเท่านั้น เพื่อจะได้วางแผนไปซื้อของสดได้ เพราะเน้นการทำเมนูที่สดใหม่ เหมือนกับการทำอาหารกินกันเองที่บ้าน ผลปรากฏว่า วันแรกที่เปิดร้านขายได้เฉพาะคนรู้จัก แค่ 900 บาท แต่พอเริ่มมีคนมากิน และเกิดการบอกต่อ วันนี้ มีรายได้เดือนละ 200,000-300,000 บาท ผ่านมาจนถึงวันนี้ ก้าวเข้าปีที่ 4 แล้ว

สำหรับเมนูอาหารของอี๋ จะเป็นอาหารที่ทำกินกันที่บ้าน เช่น หมูฮ้อง น้ำชุบหยำ ไก่แป๊ะซะ ปลาทอดเครื่อง ฯลฯ โดยเลือกเมนูที่ครอบครัวของเราชอบกิน มานำเสนอลูกค้า เป็นเมนูอาหารจีนแบบภูเก็ต ลูกค้าของเราเดิมมีนักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆ และได้รับการแนะนำจากคนรู้จักให้มากิน หรือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก่อนโควิดลูกค้าเยอะมาก แต่พอเจอสถานการณ์โควิด ช่วงที่ไม่ได้สั่งปิดร้านขายคนในพื้นที่ ซึ่งก็มีจองเข้ามากินกันอย่างต่อเนื่อง คิวที่เปิดให้จองก็เกือบเต็มทุกวัน


ปรับตัวช่วงโควิด ทำอาหารแช่แข็ง ส่งทั่วประเทศ

หลังจากที่รัฐบาลประกาศปิดร้านอาหาร ให้ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น ทำให้เราปรับตัวโดยหันมาขายแบบอาหารแช่แข็งฟรีซดราย ซึ่งผลตอบรับออกมาดีมากเช่นกัน มีลูกค้าจากหลายจังหวัดที่ต้องการจะชิมอาหารพื้นบ้านภูเก็ต ก็สั่งเข้ามาผ่านช่องทางโซเชียลฯ เป็นจำนวนมาก และในช่วงสถานการณ์โควิดที่ทำให้นักท่องเที่ยวภูเก็ตน้อยลงไป หรือ เศรษฐกิจของคนในพื้นที่ภูเก็ตไม่ดี คนจองมากินอาหารที่ร้านน้อยลงไป แต่ทางร้านก็ยังมีรายได้จากการจัดส่งอาหารแช่แข็ง ปัจจุบัน เป็นรายได้เกือบจะเท่ากับรายได้ที่ขายหน้าร้าน

“การสั่งซื้ออาหารแช่แข็ง นั้น เราจะเปิดรับออร์เดอร์เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน เท่านั้น เพราะในขั้นตอนการส่งอาหารแช่แข็งต้องใช้รถควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้คงความสดใหม่ไปจนถึงมือลูกค้า และประกอบกับเราจะได้วางแผนการทำได้ว่าจะทำตอนไหน และจัดส่งเวลาไหน เนื่องจากเป็นของสดอยากให้ลูกค้าได้กินอาหารที่สดใหม่ เหมือนกับมากินที่หน้าร้าน”

ส่วนค่าส่งทางร้านจะจ่ายให้ลูกค้าก่อน และจัดเก็บลูกค้าตามจริง ซึ่งเราจะส่งให้ลูกค้าดูเลยว่า ค่าจัดส่งเท่าไหร่ และลูกค้าโอนมาตามความเป็นจริง ส่วนที่มาของการมาทำอาหารแช่แข็ง เกิดขึ้นมาจาก เพื่อน และญาติไปเรียนต่อต่างประเทศ ต้องการจะกินอาหารที่เป็นฝีมือของ “อี๋” เราก็เลยจัดส่งไปให้เป็นแบบแช่แข็ง ซึ่งนำประสบการณ์จากการที่ส่งอาหารไปต่างประเทศ มาปรับใช้กับในส่วนของอาหารแช่แข็งที่เราทำขายในขณะนี้”


ที่มาของ มิชไลน์ไกด์ 2 ปีซ้อน

จุดขายของ “กินกับอี๋” ทำไมถึงได้มิชลีนไกด์ถึง 2 ปีติดกัน “ทับทิม” บอกว่า ถ้าดูจากที่มาของรางวัล บิบกูร์มองด์ มอบให้กับร้าน GOOD VALUE  ซึ่งหมายถึง ราคา คุณภาพ และ รสชาติ ที่เหมาะสม ซึ่ง กินกับอี๋ สามารถตอบโจทย์ทุกข้อ ตามที่กำหนด คือ ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับคุณภาพ และในส่วนของรสชาติ วัดได้จากคนที่มากิน และกลับมากินอีกและบอกต่อ จากร้านเล็ก วันนี้ มีคนจองคิวเต็มตลอดทุกสัปดาห์

“อี๋ จะให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนการทำ ซึ่งเราทำกินที่บ้านอย่างไร ก็จะจัดเสิร์ฟลูกค้าแบบนั้น เครื่องแกงต้องโขลกเอง วัตถุดิบต้องสดๆ ใหม่ โดยทุกขั้นตอนจะมี “อี๋” กับ “ทับทิม” ช่วยกันทำ แต่ทุกอย่างจะต้องผ่านการตรวจ และชิม จาก “อี๋” ก่อนเท่านั้น ถึงจะเสิร์ฟได้ โดยราคาอาหารของทางร้าน เริ่มต้นที่ 80 บาท สูงสุด 590 บาท


ในส่วนของแผนในอนาคต มีแผนที่จะขยายตลาดอาหารแช่แข็ง ให้ออกไปในวงกว้างมากขึ้น ถ้าสามารถที่จะขอ อย.ได้ เราก็คงจะนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในด้านการผลิต เพื่อให้ช่วยยืดอายุ และสะดวกต่อการขนส่ง หรือ การนำไปฝากขายใน ห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านสะดวกซื้อในอนาคต เป็นเป้าหมายหลักที่เราวางไว้ เพราะทุกวันนี้ คนที่เคยได้ซื้อ อาหารแช่แข็งของเราไป ก็กลับมาซื้ออีก หรือ บอกต่อคนอื่นๆ

“ทับทิม” เล่าถึง การตัดสินใจเปิดร้าน กินกับอี๋ ในครั้งนี้ ว่า ประสบความสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ คือ ต้องการจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ในช่วงกิจการของครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ไม่มีนักท่องเที่ยวมาพักที่โฮมสเตย์ แต่ผลตอบรับที่ได้ ดีเกินคาด เพราะรายได้จากร้านอาหารสามารถดูแลคนในครอบครัวได้ และส่วนหนึ่งยังนำไปช่วยใช้หนี้ของครอบครัวได้อีกด้วย จากที่เป็นลูกซึ่งพ่อกับแม่ ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่วันนี้ สามารถช่วยปลดหนี้ให้พ่อกับแม่ได้ จากกิจการร้านอาหารเล็ก ในภูเก็ต

ติดต่อ FB: กินกับอี๋










คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น