xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “ArpanetGirl” เสื้อผ้าเด็กสไตล์คุณหนู เสื้อผ้าลูกของสะสมแม่ สร้างยอดขายเฉียด 100 ล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“Arpanetgirl” แบรนด์ไอดอลเสื้อผ้าเด็ก ขวัญใจแฟชั่นนิสต้าตัวจิ๋ว สามารถปลุกกระแสแบรนด์เสื้อผ้าเด็กออนไลน์ของไทย สู่แบรนด์ Top of Mind ของทุกคนในครอบครัว เตรียมแตกไลน์สินค้าในกลุ่มเด็กผู้ชายและครอบครัวเพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างยอดขายเฉียด 100 ล้านบาท



จุดเริ่มต้นของการเกิดแบรนด์ ArpanetGirl

นางสาวจิรฉัตร พรมสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พาเน็ตเกิร์ล จำกัด (ArpanetGirl) เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจมาทำแบรนด์ ArpanetGirl เนื่องจากตัวเองมีลูก ซึ่งในตอนนั้นตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานประจำ ในบริษัทแห่งหนึ่ง ทั้งที่ลูกมีอายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ซึ่งตอนนั้นที่ออกมาก็ตัดสินใจได้ว่า ที่ลาออกจากงานมาไม่ได้ต้องการ ออกมาเพื่อที่จะเลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังต้องการที่จะมีธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ ในระหว่างเลี้ยงดูลูก พร้อมทั้งสามารถเลี้ยงดูครอบครัวไปได้ และมีความตั้งใจว่าต้องการให้ธุรกิจนี้กลายมาเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งในตอนนั้นก็ตัดสินใจไว้กับตัวเองแล้วว่า ถ้าหากว่าลาออกมาแล้ว ตัวเองก็ไม่ต้องการที่จะกลับเข้าไปสู่ระบบการทำงานแบบเดิมๆ อย่างที่ผ่านมา


“ซึ่งตอนนั้นเราก็เล็งเห็นว่า เราแต่งตัวให้ลูกอยู่แล้ว ซื้อเสื้อผ้าให้ลูกอยู่แล้ว แล้วก็เราก็ชอบถ่ายรูปอยู่แล้วด้วย ก็เลยรู้สึกว่า ตอนแรกที่เราถ่ายรูปไป เพื่อนก็ชื่นชอบกันมาก เราก็เลยกลับมาคิดได้ว่า ธุรกิจเสื้อผ้าเด็กมันเป็นอะไรที่ใกล้ตัวเรามาก เราเลี้ยงลูกเอง พี่เลี้ยงในตอนนั้นก็ยังไม่มี เราก็เลยรู้สึกว่า มันน่าที่จะเหมาะกันกับไลฟ์สไตล์ของเราเองในช่วงเวลานั้น ในจังหวะที่เราจะต้องทำหน้าที่ของแม่ด้วย เราก็เลยเลยคิดว่าเราจะทำเป็นธุรกิจนี้แหละที่คงจะเหมาะสมที่สุด”

โดยเริ่มต้นเปิดธุรกิจก็จะเป็นธุรกิจในรูปแบบ ซื้อมา-ขายไป เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นด้วยตนเองทั้งหมดชนิดที่ว่า ‘เริ่มจากศูนย์’ โดยจุดที่พลิกผันจากพนักงานในเงินเดือนหลักหมื่นสู่ผู้บริหารธุรกิจหลักร้อยล้าน เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกเอง ในตอนนั้นตัวเองก็แบกเป้เด็กพร้อมทั้งอุ้มลูกไว้ข้างหน้า พาลูกไปซื้อของที่ตลาดขายส่งต่างๆ เพื่อไปหาเสื้อผ้าในแบบที่ชอบ เสื้อผ้าแบบไหนที่สามารถนำมาขายออนไลน์ได้ ทำการตลาดต่อได้อีก


หรือเสื้อผ้าที่สามารถนำมาเล่าเรื่องราว ในความเป็นเราที่สื่อสารออกไป ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ทำวนอยู่อย่างนั้นนานพอสมควร เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่วนลูป คือพาลูกไป ดูของ กลับมาถ่ายรูปลูก โพสต์ขาย ตอบข้อความลูกค้า และจบที่ส่งของ ทำทุกอย่างเองทุกขั้นตอน และตอนนั้นก็ยังต้องเรียนรู้ตลาด เรียนรู้สินค้า อันไหนชอบ อันไหนไม่ชอบ อนไหนดี อันไหนไม่ดี เราทำ เราพรีเซ้นจนเหมือนกับว่า ของชิ้นนั้นมันกลายเป็นของ ของเราเอง

“จนทุกวันนี้ยังมีลูกค้าบางคนเข้ามาถามกันอยู่เลย ว่าชุดนี้ของแบรนด์สวย แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ เราแค่ ซื้อมา-ขายไป แต่การนำเสนอของเราเองลูกค้าชื่นชอบ ทำให้ถูกใจลูกค้า ซึ่งการขายออนไลน์ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีไลฟ์สดขายของ แต่จะต้องเป็นการขายแบบบรรยายในแต่ละโพสต์ ให้ลูกค้าเข้าใจ พอหลังจากที่เราทำมา ขายมา เราทำแบบนี้จนเจ้าของแบรนด์นำภาพของเราไปใช้งานเยอะ ซึ่งเราผู้ที่ทำในส่วนนี้ แต่ไม่ได้อะไรเลย จึงเกิดเป็นสงครามราคาเกิดขึ้น ก็สามารถทำราคาได้ถูกกว่า เราก็เลยรู้สึกว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยน ที่เราจะต้องสร้างแบรนด์ ทำอะไรที่เป็นของตัวเองจริง เราสามารถเอาอะไรไปใช้ก็ได้เพราะว่ามันเป็นแบรนด์ของเราเอง ตรงนั้นจึงเป้นจุดที่เริ่มติดต่อโรงงาน และเริ่มทำแบรนด์นี้ขึ้นมา”






แรงบันดาลใจในงานของการดีไซน์

ส่วนในเรื่องของการดีไซน์ และแรงบันดาลใจของการออกแบบชุด คือต้องการการจดจำของลูกค้า ต้องการให้ลูกค้ามีภาพจำต่อแบรนด์ เห็นชุดก็สามารถรู้ได้ทันทีเลยว่าชุดนี้เป็นแบรนด์ของ ArpanetGirl แล้วอะไร ที่จะสามารถจำได้ และเด็กๆ ชื่นชอบและต้องการที่จะใส่ด้วย จึงเป็นไอเดียที่ว่า เราต้องเอาอะไรที่เด็กชอบและใกล้ตัว จึงนำคาแรคเตอร์ นิทาน ตุ๊กตา สัตว์ อาหาร ดอกไม้ ต่างๆ เข้ามาเป็นเรื่องราวในชุด ซึ่งแต่ละชุดก่อนจะออกสู่ตลาดก็ต้องสร้างสตอรี่ เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมกับสินค้าและลูกค้า ให้มีความต้องการซื้อมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นการสร้างคาแรกเตอร์ที่จะใส่ลงในชุดแต่ละชุด ให้เด็กๆ รู้สึกมีความสุข และรู้สึกสนุกไปด้วยทุกครั้งที่สวมชุด โดยที่ชุดเด็กเหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่เป็นของสะสมของ กลุ่มแม่ๆ กลุ่มลูกค้า กลุ่มนี้ก็จะรู้สึกสนุกกับการซื้อของไปอีกด้วย อย่างผลตอบรับของลูกค้าก็จะเป็นการเปรียบเทียบว่าการซื้อชุดคือการ “สะสมงานศิลป์บนลายผ้า” เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ ArpanetGirl ยังได้ร่วมการทำงานกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ กับลายชุด และเรื่องราวในคอลเล็กชั่นที่ร่วม Co-branding กับหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย


กลยุทธ์การตลาดที่ทำให้ ArpanetGirl สร้างยอดขายได้หลักล้าน

สำหรับยอดขายตอนนี้อย่างต่ำๆ ก็จะอยู่ที่ 5-6 ล้านบาท ต่อเดือน หรือบางเดือนที่ได้มากกว่าปกติก็จะพุ่งขึ้นไปถึง 8-10 ล้านบาท ส่วนรายได้ต่อปี อย่างน้อยก็จะมีประมาณ 60-70 ล้านบาท หลังจากนี้แนวโน้มก็จะเติบโตขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

“ซึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้สามารถมาถึงได้ขนาดนี้คือการปรับเปลี่ยน ซึ่งหลายคนก็เคยคิดว่า ArpanetGirl จะต้องเป็นลูกสาว หรือเป็นชุดเดรสเท่านั้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา หรือแม้แต่กระทั่งโควิดเองก็เช่นกันที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ได้มองภาพว่า นอกจากชุดเดรสเด็ก ก็สามารถทำเสื้อผ้าออกไปได้อีกหลายแบบ เราทำเป็นชุด 2 ชิ้นก็ได้ เราเอาลายเส้นเก่าๆ ที่ลูกค้าประทับใช้ หยิบมาเล่าเรื่องใหม่ รวมไปถึงเสื้อยืด กางเกง ชุดนอน เป็นต้น”


อีกทั้งก่อนหน้านี้ ArpanetGirl ยังเคยเข้าไปทดลองตลาดในห้างสรรพสินค้า ในช่วงที่เข้าไปขายในห้างฯ ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ห้างแตก คือลูกค้าแย่งกันเข้าไปซื้อสินค้าให้ห้าง เกิดการต่อแถวซื้อยาวออกไปถึงนอกห้างฯ แต่ก็ถึงจุดที่ต้องกลับเข้ามาในออนไลน์เช่นเดิม เนื่องจากการขายในห้างฯ ก็มีข้อต่างๆ ที่รู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์ทางด้านการขาย ซึ่งก็อยู่ในช่องทางการขายนี้เพียง 2 ปีเท่านั้น 2017-2018 ก่อนที่จะมารุกตลาดออนไลน์เต็มที่ในช่วงก่อน โควิด-19 จะเข้าระบาดมาไม่นาน


เคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ ArpanetGirl ครองใจลูกค้านาน 7 ปี

จากแนวคิดแบบ ‘Outside-In’ ที่เน้นเจาะลึกถึงความต้องการผู้บริโภคเป้าหมายมาเป็นกลยุทธ์ในการดีไซน์เสื้อผ้า ผ่านการสังเกตพฤติกรรมลูกค้าและตลาด นอกจากนี้ ยังผนวกกลยุทธ์การบริหารธุรกิจและจัดการตลาดใน 5 คีย์สำคัญ ที่สามารถปลุกกระแสแบรนด์เสื้อผ้าเด็กออนไลน์ของไทย สู่การเป็นแบรนด์ Top of Mind ของทุกคนในครอบครัว ประกอบด้วย

- เน้นคุณภาพเหนือราคา (Quality OVER Price) ทางแบรนด์ได้ให้ความสำคัญกับการคัดสรรคุณภาพผ้า และเน้นการตัดเย็บเกรดพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้ 


-สร้างสตอรี่ในทุกคอลเลคชัน (Story Telling) เน้นสร้างการจดจำของแฟชั่นนิสต้าตัวน้อย สะท้อนได้จากการแสดงความคิดของเหล่าคุณแม่ที่สื่อสารมายังเพจเฟซบุ๊กในลักษณะลูกๆ สามารถจดจำคอลเลคชันต่างๆ ที่ซื้อไปได้

-จัดโปรฯ ดึงดูดเหล่าคุณแม่ (Promotion) เน้นกระตุ้นการจับจ่ายของคุณแม่ ผ่านการจัดโปรโมชันจำนวนมาก อาทิ โปรฯ สะสมแต้มเพื่อแลกของพรีเมียม 


-เดินเกมธุรกิจด้วย Customer Centric เน้นการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รับฟังความต้องการของผู้บริโภคและนำไปรังสรรเป็นคอลเลคชันชุดใหม่ๆ สู่การเป็น ‘เทรนด์ เซตเตอร์’ (Trend Setter) ที่สามารถปรับงานดีไซน์ได้ตรงความต้องการของลูกค้าแบบเรียลไทม์ ผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊กในลักษณะ Two-Way Communication

-ปรับตัวรับสถานการณ์ (Flexibility) ไม่หยุดนิ่งพร้อมปรับตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทางแบรนด์อาร์พาเน็ตเกิร์ล ได้ดีไซน์คอลเลคชันหลากรูปแบบทั้ง แมสก์ผ้าลวดลายน่ารัก หรือคอลเลคชันชุดล็อกดาวน์ (Lock Down) และสเตย์โฮม (Stay Home)


แผนในการขยายธุรกิจของ ArpanetGirl

ก้าวต่อไปของแบรนด์ ArpanetGirl ในปี 2565 เตรียมขยายตลาดเสื้อผ้าในกลุ่มเด็กผู้ชายและครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เช่น เสื้อผ้าเด็กผู้ชาย ชุดนอนครอบครัว ชุดชั้นใน (Underwear) ชุดว่ายน้ำ คาดิแกน รวมถึงเสื้อผ้าสำหรับการแต่งตัวของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยตั้งเป้าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ที่หนึ่งในใจของผู้บริโภค

ส่วนแผนในการทำตลาดต่างประเทศ ในตอนนี้ก็ถือว่ายังมีการติดต่อเข้ามา แต่ยังกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป




ช่องทางการติดตาม Arpanetgirl
เฟซบุ๊ก : ArpanetGirl
เว็บไซต์ : https://www.arpanetgirl.com
สอบถามข้อมูลได้ที่ไลน์ไอดี @arpanetgirl
หรือหมายเลขโทรศัพท์ 089-779-7199



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น