เนื่องในวันสิทธิเด็กสากล วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กลุ่มการเลี้ยงดูทดแทน และองค์การยูนิเซฟ จัดการประชุมระดับชาติ เรื่อง "เด็กอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่" ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2564 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการทำให้เด็กทุกคน ในประเทศไทยมีสิทธิที่จะเติบโตในสภาพแวดล้อมครอบครัวที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่ เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งได้กำหนดนโยบายด้านการเลี้ยงดูทดแทนของประเทศไทย ผ่านจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการเลี้ยงดูทดแทน (Alternative Care Roadmap)ที่มีสาระสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว การป้องกันการพรากเด็กออกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็นและการลดการพึ่งพิงการดูแลเด็กในรูปแบบสถาบัน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลี้ยงดูเด็กโดยครอบครัวและชุมชน ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับ
การจัดบริการสวัสดิการสำหรับเด็กในสถานรองรับแก่ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติงานด้านเด็กและกลุ่มเปราะบาง การจัดทำกระบวนการสรรหาและขึ้นทะเบียนครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม การแสวงหาความร่วมมือการดำเนินงานกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) ตลอดจนการจัดบริการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การประชุมระดับชาติ เรื่อง "เด็กอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับและทุกภาคส่วนให้รับทราบต่อถึงสถานการณ์ด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย การทบทวนการดำเนินงานและเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนการเสนอมุมมองด้านการเลี้ยงดูทดแทนอย่างเปิดกว้าง
ทั้งนี้ ผลการประชุมจะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายและกระบวนการพัฒนาระบบการเลี้ยงดูทดแทนที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย โดยมุ่งหารือแนวทางการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายระดับชาติเพื่อสนับสนุนการการทำหน้าที่ของครอบครัว และป้องกันการแยกเด็กออกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น โดยจะมีการหารือกับผู้เข้าร่วมประชุมถึงการดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อให้การเลี้ยงดูทดแทนเป็นทางเลือกสำหรับเด็กที่ไม่สามารถอยู่กับพ่อแม่ได้เท่านั้น โดยระบบดังกล่าวต้องมีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นครอบครัวให้มากที่สุด รวมถึงการสร้างหลักประกันให้เด็กกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและบริการที่ส่งเสริมการทำหน้าที่ของครอบครัวได้
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการเลี้ยงดูทดแทน (Alternative Care Roadmap) โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงต่าง ๆ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวโดยกำเนิดของเด็ก เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยได้มีประชากรที่มีคุณภาพ พร้อมต่อการนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป