รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “ผลการศึกษาโครงการทบทวนกลไกและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐในระบบนวัตกรรม” ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลจากโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ศักยภาพของมาตรการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของภาครัฐในประเทศไทย พร้อมกันนี้ รองผู้อำนวยการ สกสว. ได้บรรยายในหัวข้อ “ระบบนวัตกรรมไทยภายใต้ พ.ร.บ. พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อช่วยฉายภาพระบบนวัตกรรมของประเทศไทย รวมถึงกลไกและแผนการยกระดับระบบนิเวศการทำงาน ที่จะช่วยผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมระบบนวัตกรรมของประเทศไทย โดย สกสว. ถือเป็นหน่วยงานด้านระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ที่มีพันธกิจสำคัญ ในการผลักดันส่งเสริมเรื่องนี้
ในส่วนของเวทีสัมมนาวันนี้ ได้รับเกียรติจากคณะนักวิจัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภาคภูมิ ทิพคุณ อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.จินตวัฒน์ ไชยชนะวงศ์ ดร.มหรรณพ ฟักขาว จาก สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ดร.นาวิน วิริยะเอี่ยมพิกุล และ ดร.ขวัญชัย เขมนิจกุล นำเสนอข้อมูลกรอบการศึกษาวิจัย กรณีศึกษาการพัฒนานวัตกรรมไทยและมาตรการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI ในต่างประเทศ และข้อเสนอเพื่อยกระดับมาตการส่งเสริม RDI ในประเทศไทย
โอกาสนี้ รศ.ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ หัวหน้าโครงการวิจัย ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้ได้ศึกษาทบทวนมาตรการส่งเสริมสนับสนุนระบบนวัตกรรมของภาครัฐ จำนวน 30 มาตรการ ที่มีการใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 – 2562 โดยใช้การวิเคราะห์เอกสาร การสำรวจข้อมูลโดยการแจกแบบสอบถามไปยังบริษัทผลิตนวัตกรรม ที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และที่มีรายชื่อในเว็บไซต์ของสภาอุตสาหกรรม พร้อมสัมภาษณ์เชิงลึก 92 บริษัท และหน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการอีก 30 หน่วยงาน ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยบริษัทประมาณ 70 % ไม่รู้จักมาตรการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐในระบบนวัตกรรม แต่ในส่วนของผู้ประกอบการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการแล้ว อัตราการได้รับประโยชน์จะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยบริษัทที่มีแนวโน้มที่จะรับรู้และใช้ประโยชน์จากมาตรการสนับสนุน RDI ของรัฐคือ บริษัทที่มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา มียุทธศาสตร์ด้าน RDI และขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค (High – Tech)
ผลการศึกษายังพบอีกว่าการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการส่งเสริม RDI ช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกระบวนการของบริษัท จึงถือได้ว่ามาตรการที่ศึกษามีประสิทธิผลระดับหนึ่ง เพราะยิ่งบริษัทมีการใช้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้มากเท่าใด ก็จะเพิ่มความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกลาง (Intermediaries) ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อฟากเอกชนและภาควิจัย ยังถือเป็นข้อต่อสำคัญ ที่ควรต้องมีและส่งเสริมศักภาพ โดยตัวอย่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีและได้รับการตอบรับจากภาคเอกชน อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ (SteP) เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ดำเนินงานอย่างมืออาชีพ โดยคณะผู้วิจัยมองว่า หน่วยงานเหล่านี้ สามารถแก้ปัญหาคอขวดและช่องว่างในระบบนวัตกรรมได้ เนื่องจากช่วย ลดช่องว่างระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ แก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล ข่าวสาร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในประเทศได้มากขึ้น
ทั้งนี้คณะนักวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะ ต่อแนวทางการมาตรการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของภาครัฐ โดยมีรายละเอียดคือ 1.ปัญหาเชิงโครงสร้าง สกสว.ควรหาแนวทางเพื่อให้หน่วยงานภายใต้ระบบ ววน. ให้ทำงานสอดประสานกัน นอกจากนี้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบ่มเพาะและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ อย่างการมีหน่วยงาน โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ของ สวทช. หรือหน่วยงานกลาง (Intermediaries) อย่าง อุทยานวิทยาศาสตร์ หรือ Food Innopolis ควรได้รับการส่งเสริมหรือขยายผลมากขึ้น 2. มาตรการในเชิงอุปสงค์ยังมีค่อนข้างน้อย ควรเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการสินค้านวัตกรรม หรือสินค้าที่สามารถเติมนวัตกรรม จากหน่วยงาน ภาครัฐ กับนักวิจัยหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงความต้องการ ผลักดันมาตรฐานสินค้าที่เหมาะสม และมาตรการให้เกิดการสั่งซื้อ หรือนำไปใช้ของหน่วยงานภาครัฐ
และ 3. ปัญหาด้านงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณแบบต่อเนื่องมากขึ้น ที่มากกว่า 1 ปี ทั้งในส่วนขอองผู้ดำเนินมาตรการ และโครงการวิจัยเพื่อผลงานที่มีผลกระทบสูง 4. ปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงของผู้ประกอบการ ควรสร้างการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น เช่น มีสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อตอบคำถามผู้ประกอบการ ในด้านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำมาไว้ที่จุดเดียว (single window) เพื่อความสะดวกและลดความซ้ำซ้อน